จี้ประมูลเดินรถ”น้ำเงิน-ส้ม-ม่วง”ห้ามสะดุด

คมนาคมหวั่นเดินรถสะดุดซ้ำรอยสายสีน้ำเงินต่อขยาย สั่ง รฟม.ทบทวนประมูลหาเอกชนลงทุนรายเดียว ให้เดินรถต่อเนื่อง จับตา “น้ำเงิน-ส้ม-ม่วง” 2 ยักษ์ BEM-BTS แบ่งเค้ก แผนลงทุนรถไฟฟ้าสายใหม่หลุดเป้าอื้อ

นายฤทธิกา สุภารัตน์ รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เพื่อไม่ให้เกิดกรณีเดียวกับเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินต่อขยายบางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแคที่ไม่สามารถเปิดบริการได้ทันทีหลังสร้างแล้วเสร็จในปลายปี 2560 เนื่องจากสัญญาเดินรถล่าช้า

ล่าสุดกระทรวงคมนาคมให้ รฟม.ทบทวนการคัดเลือกเอกชนเดินรถสายสีส้มตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์) ระยะทาง 12.9 กม. เพื่อให้การเดินรถเป็นรายเดียวกับสายสีส้มตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) กำลังเริ่มงานก่อสร้าง จะแล้วเสร็จและเปิดบริการปี 2566 โดยนำงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและจัดหาขบวนรถเปิดประมูลให้เอกชนที่สนใจเดินรถรายเดียว ระยะยาว 30 ปี ให้การบริการต่อเนื่อง คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 33,259.12 ล้านบาท

“คมนาคมให้ รฟม.ทำข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบ PPP ของสายสีส้มศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ จะใช้เวลาศึกษา 8-9 เดือน ทำให้การเสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติล่าช้าออกไปเป็นเดือน เม.ย. 2561 จากเดิมจะเสนอเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ส่วนการเปิดบริการจะล่าช้าจากแผนไปอีกเป็นปี 2567”

ขณะที่สายสีน้ำเงินต่อขยายช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง 8 กม. ลงทุน 21,197 ล้านบาท อยู่ระหว่างปรับปรุงรายละเอียดโครงการเสนอให้ ครม.อนุมัติ คาดว่าการเดินรถจะเป็นรูปแบบเดียวกับสายสีน้ำเงิน คือ PPP Net Cost เอกชนลงทุนและรับสัมปทานเดินรถ 30 ปี เพราะเป็นระยะทางที่สั้นและเป็นส่วนต่อขยายจากโครงข่ายเดิม หากเปิดประมูลใหม่ จะไม่คุ้มค่าการลงทุน มีกำหนดเปิดบริการปี 2566

สายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ครม.อนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา คาดว่าเปิดประมูลเดือน ธ.ค. 2560 เซ็นสัญญาเดือน พ.ย. 2561 เริ่มก่อสร้างเดือน ธ.ค. 2561 เปิดบริการปี 2566 ซึ่งการเดินรถที่ใช้เงินลงทุน 15,800 ล้านบาท มีแนวโน้มเป็นรูปแบบ PPP Gross Cost เอกชนลงทุนงานระบบ จัดหาขบวนรถ และเดินรถให้ โดยรับค่าตอบแทนเป็นรายปี

เหมือนสายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่)ที่จ้าง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เดินรถให้ 30 ปี เพื่อให้การเดินรถต่อเนื่อง

“รฟม.ก่อตั้งมาได้ 25 ปี สร้างรถไฟฟ้า 6 สายทาง 13 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ล่าสุดเพิ่งเปิดเดินรถเชื่อม 1 สถานีจากเตาปูน-บางซื่อให้การเดินทางสายสีม่วงกับสีน้ำเงินสะดวกขึ้น ผู้โดยสารใช้บริการสายสีม่วงเพิ่มขึ้น วันธรรมดาเฉลี่ยอยู่ที่ 50,000 เที่ยวคน/วัน จากเดิม 30,000 เที่ยวคน/วัน และวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เฉลี่ยอยู่ที่ 29,000 เที่ยวคน/วัน จากเดิม 22,000 เที่ยวคน/วัน”

นายฤทธิกากล่าวว่า ส่วนรถไฟฟ้าอยู่ระหว่างก่อสร้าง มี 4 เส้นทาง ได้แก่ สายสีน้ำเงินต่อขยาย 27 กม. สายสีเขียวต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ 13 กม. สายสีเขียวต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต 18.7 กม. และสายสีส้มศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี 21.2 กม. มี 2 สายกำลังเตรียมการก่อสร้าง ได้แก่ สายสีชมพูแคราย-มีนบุรี 34.5 กม. และสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง 30.5 กม.

จะแล้วเสร็จและเปิดบริการทั้ง 2 โครงการในปี 2564 ล่าช้าจากเดิมจะเปิดปี 2563 เนื่องจากการประสานงานรื้อย้ายสาธารณูปโภค การเจรจาขอเข้าพื้นที่หน่วยงานราชการอย่าง กรมทางหลวง (ทล.) และ กทม. ล่าช้า ทำให้ รฟม.ต้องเลื่อนส่งมอบพื้นที่จากเดิมเดือน มิ.ย.เป็น ธ.ค.นี้

ส่วนข้อเสนอเอกชนขยายสายสีชมพูไปเมืองทองธานี 2.8 กม. และสายสีเหลืองขยายไปตามถนนรัชดาภิเษก 2.6 กม. สิ้นสุดแยกรัชโยธิน เชื่อมสายสีเขียว บริษัทที่ปรึกษาขอใช้เวลา 4 เดือน