ว.ส.ท.ระดมสมองรัฐ-เอกชน แก้ฝุ่นพิษ PM2.5 ดึงกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านยันรัฐบาลใหม่บูรณาการรับมือ

วิกฤตปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่คนไทยต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน สร้างความเสียหายต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของประเทศ ล่าสุด “วสท.-วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” ลุกขึ้นมาเป็นเจ้าภาพเชิญตัวแทนภาครัฐ มหาวิทยาลัย และสมาคมองค์กรที่เกี่ยวข้องระดมสมองเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ในการรับมือปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว

สารพัดปัญหาสะสม-ก่อตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูล วสท.พบว่า ช่วงระหว่าง 1 ต.ค. 2561-27 มี.ค. 2562 ในพื้นที่ภาคเหนือ มีพื้นที่ไฟป่า 77,683 ไร่ บวกเข้ากับมีการเผาตอซังเกษตร การเผาในที่โล่ง และฝุ่นควันจากประเทศเพื่อนบ้าน จนรัฐบาลมีคำสั่งเร่งคลี่คลายปัญหาอย่างเร่งด่วนเพื่อลดฝุ่นควันและจุดความร้อน hot spot

ขณะเดียวกันประเทศไทยมีการปลูกข้าวโพด 7 ล้านไร่ เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้วิธีการเผาเพื่อเตรียมเพาะปลูกรอบใหม่ ส่งผลให้ค่า PM 2.5 บริเวณจังหวัดเชียงใหม่พุ่งสูงถึง 170 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร จากค่ามาตรฐานที่กำหนดเพดานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงที่ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

สำหรับในกรุงเทพฯ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการจราจรติดขัด เนื่องจากมีการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด และการสร้างรถไฟฟ้า สถิติประเทศไทยมียอดจดทะเบียนรถยนต์สะสม 20 ล้านคัน ในจำนวนนี้ 10.3 ล้านคัน จดทะเบียนในกรุงเทพฯ และเป็นเครื่องยนต์ดีเซล 2.6 ล้านคัน

รัฐบาลใหม่มีงานให้ทำเพียบ

“สนธิ คชวัฒน์” ตัวแทนชมรมนักวิชาการส่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งควรกำหนดเป็นนโยบายมลพิษทางอากาศ และจะต้องมีมาตรการรองรับอย่างเข้มแข็ง

ในด้านผังเมืองและพื้นที่สีเขียว ต้องควบคุมการขยายตัวของอาคารสูงตามแนวรถไฟฟ้าและถนนที่ตัดขึ้นใหม่ให้มีระยะห่างช่องทางลมพัดผ่าน, การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองทั้งแนวเส้นทางจราจรและสวนสาธารณะให้ได้อย่างน้อย 9 ตารางเมตร/คน เป้าหมายคือ 15 ตารางเมตร/คน, ริมเส้นทางจราจรที่เปิดใหม่ให้นำสายไฟและสายอื่น ๆ ลงใต้ดินและปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว

สำหรับการบริหารจัดการต้องจัดทำ Action Plans รองรับ เพื่อตอบโต้กรณีฉุกเฉินทางมลพิษทางอากาศในช่วง winter smog ให้ชัดเจน, มีศูนย์บัญชาการตอบโต้ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น commander และหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมสนับสนุน, ให้ภาคประชาชนและนักวิชาการเข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนการดำเนินการทั้งทางตรงและทางอ้อม

เป้าหมายทุกมาตรการนำไปสู่การลดค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชม.ที่กำหนดไว้ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เหลือ 35 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรภายใน 3 ปี

นอกจากนี้ประเทศไทยต้องอาศัยกลไกในการเป็นประธานอาเซียน นำเรื่องการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนเป็นวาระสำคัญในการพิจารณาของอาเซียน ตลอดจนรัฐบาลไทยต้องจัดให้การแก้ไขปัญหาหมอกควันเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดการปัญหานี้ให้ได้

แนะเกษตรกรไถกลบแทน

“ศ.ดร.ธเรศ ศรีสถิตย์” ตัวแทนสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถึงเวลาที่เกษตรกรไทยต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ โดยใช้วิธีไถกลบแทนการเผาทำลาย หรือแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น นำซังข้าวมาผลิตเป็นถ่านอัดแท่ง นำมาแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ และนำเปลือกข้าวโพดมาหมักใช้เป็นอาหารสัตว์ เป็นต้น

รวมถึงรัฐบาลต้องทำความเข้าใจและเข้าถึงประชาชนรากหญ้าที่เผาทุกพื้นที่ ถ้าไม่เผาจะร่วมมือกับรัฐอย่างไร รัฐจะช่วยเหลืออย่างไร ซึ่งต้องอาศัยกลไกของอำเภอ ตำบล และหมู่บ้านในระดับกำนันและผู้ใหญ่บ้านในการดูแลพื้นที่ตนเอง รวมทั้งใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

เสนอไทยอัพเกรดใช้ยูโร 5

“รศ.วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์” กรรมการสาขาวิศวกรรมยานยนต์ ว.ส.ท. กล่าวว่า ปัจจุบันรถยนต์ในประเทศไทย ใช้มาตรฐานไอเสียยูโร 1-2-3-4 หากใช้เทคโนโลยีที่ดีขึ้นเป็นยูโร 5 ก็จะช่วยลดปริมาณฝุ่นควันจากท่อไอเสีย

นอกจากนี้มีโมเดลต้นแบบที่น่าสนใจจากประเทศจีน ซึ่งสั่งการให้รถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่จดทะเบียนหลังเดือนกรกฎาคม 2564 ต้องเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ยูโร 6 และติดตั้งอุปกรณ์ดักฝุ่น DPF-Diesel particu-late Filters เป้าหมายภายในปี 2573 สามารถลดปริมาณ PM 2.5 และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในบรรยากาศลงได้ถึง 82% และ 86% ตามลำดับ

ที่สำคัญ ลดภาวะ “การตายก่อนวัย” ของประชาชนเนื่องจากมลพิษทางอากาศลงได้ถึง 29,000 คนต่อปี

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลชงไว้รอรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารจัดการ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสังคมไทยอยู่รอดปลอดภัยจากปัญหา PM 2.5