เปิดโผบิ๊กชิงอธิบดี “กรมราง” คุมเบ็ดเสร็จ “รถไฟ-รถไฟฟ้า-ไฮสปีด”

เพื่อให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ของประเทศ ที่ต้องการผลักดันการขนส่งทางรางให้มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่ง เพื่อลดต้นทุนในการเดินทางและการขนส่งสินค้า ขณะเดียวกันก็เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จากปัจจุบันการขนส่งทางรางยังไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลให้มีมาตรฐานเดียวกัน ล่าสุด พ.ร.บ.ปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา เท่ากับกรมการขนส่งทางราง ถือกำเนิดอย่างเป็นทางการ ภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม

ภารกิจหลักคือการเป็นหน่วยงานกลางคุมมาตรฐานระบบรางทั่วประเทศ ทั้งรถไฟและรถไฟฟ้า ทั้งกำกับดูแล การพัฒนาเส้นทาง ความปลอดภัยการก่อสร้าง การเดินรถ การประกอบกิจการ อัตราค่าโดยสาร ออกใบอนุญาตขับขี่ แม้ในทางปฏิบัติยังต้องรอการออก พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ซึ่งจะประกาศบังคับใช้ปลายปีนี้

เตรียมตั้งอธิบดีคนแรก

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หลังจากราชกิจจานุเบกษาออกประกาศ พ.ร.บ.ปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม ฉบับที่ 18 มีผลให้มีการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกระทรวงคมนาคม ขั้นตอนหลังจากนี้จะแต่งตั้งอธิบดี เพื่อควบคุมกำกับดูแลหน่วยงานดังกล่าว เบื้องต้นมี 2 แนวทางที่จะพิจารณา 1.ให้ รมว.คมนาคม มีคำสั่งให้ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม คือ ระดับผู้บริหารระดับสูง (ซี 10) เป็นอธิบดีรักษาการไปพลางก่อน 2.เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งบุคคลที่เหมาะสมเป็นอธิบดี

ขณะนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะใช้แนวทางใด อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม นอกจากนี้ ต้องยกระดับสำนักงานพัฒนาระบบราง หน่วยงานภายในของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ขึ้นเป็น กรมการขนส่งทางราง พร้อมกับจัดอัตราบุคลากรภายในองค์กรใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะต้องรอกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการภายในประกาศใช้ก่อน

ขณะที่ นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า เมื่อ พ.ร.บ.ดังกล่าวประกาศใช้แล้ว ถือว่ากรมการขนส่งทางรางเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว ประมาณ 60-70% ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการแต่งตั้งอธิบดีคุณสมบัติของอธิบดี คือ จะต้องเป็นข้าราชการผู้บริหารระดับ 10 (ซี 10) เพราะกรมรางมีศักดิ์เทียบเท่ากรมต่าง ๆ ในกระทรวง เช่น กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท เป็นต้น

“ตำแหน่งอธิบดี ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งจะเทียบเท่ากับตำแหน่งอธิบดีกรม ผู้ตรวจราชการกระทรวง และรองปลัดกระทรวง โดย รมว.คมนาคมจะเป็นผู้คัดเลือกบุคคลที่เหมาะสม เสนอที่ประชุม ครม.อนุมัติ”

รอกฎหมาย 3 ฉบับคลอด

อย่างไรก็ตาม ตามขั้นตอนจะต้องรอกฎหมายอีก 3 ฉบับประกาศใช้ก่อน จึงจะดำเนินการได้ ประกอบด้วย กฎกระทรวงว่าด้วยการแบ่งส่วนราชการกรมการขนส่งทางราง, กฎกระทรวงว่าด้วยการแบ่งส่วนราชการ สนข. และกฎกระทรวงว่าด้วยกลุ่มภารกิจ ในส่วนของร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ขณะนี้คืบหน้าไปมาก คาดว่าจะสามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้เร็ว ๆ นี้

“เมื่อกฎกระทรวงประกาศใช้ครบแล้ว กระทรวงจะจัดประชุมเพื่อจัดวางอัตรากำลังพลของกรมราง อัตรากำลังพลที่ต้องการอยู่ที่ 203 คน แบ่งเป็น ข้าราชการ 176 คน พนักงานราชการ 27 คน คาดว่าจะรับโอนบุคลากร 44 คนแรกจาก สนข.ก่อน แยกเป็นข้าราชการ 41 คน พนักงานราชการ 3 คน ส่วนอีก 159 คน อาจจะเพิ่มเติมภายหลังครั้งเดียว หรือทยอยออกประกาศเป็นลอต ๆ ตามดุลพินิจรัฐมนตรีที่จะตัดสินใจ”

เกลี่ยคนทางหลวงมาช่วย

นายสราวุธกล่าวว่า คาดว่าหน่วยงานที่จะถูกเกลี่ยบุคลากรมาที่กรมการขนส่งทางรางก่อน คือ กรมทางหลวง (ทล.) เนื่องจากมีอัตรากำลังบุคลากรภายในมากที่สุด แต่หากยังไม่สามารถจัดหาได้ครบ อธิบดีกรมรางจะต้องทำเรื่องเสนอไปที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อจัดหากำลังพลต่อไป คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะจัดหากำลังพลได้ครบทั้ง 203 คน

หน้าที่ของกรมการขนส่งทางราง หลัก ๆ จะเป็นเรกูเลเตอร์ หรือเป็นผู้กำกับดูแลระบบรางทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ รถไฟฟ้า แต่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สิน ที่ดินในแนวรถไฟ แต่จะกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนการพัฒนาด้านการขนส่งทางราง การกำกับดูแลมาตรฐาน และระเบียบด้านความปลอดภัยรวมทั้งการบำรุงทาง การประกอบกิจการ วางแผนโครงข่าย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางราง ให้มีโครงข่ายที่สมบูรณ์ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ เชื่อมต่อกับการขนส่งระบบอื่นและประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงศึกษาและพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมขึ้นในระดับประเทศและภูมิภาค ให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยในการเดินทาง

นอกจากนี้ สนข.เตรียมร่างกฎหมายลูกที่เป็นประกาศกรม เพื่อรองรับการดำเนินการด้านต่าง ๆ ไว้แล้ว เช่น การประกาศการใช้ทางหรือการเก็บค่าธรรมเนียม เป็นต้น เพื่อให้สอดรับกับร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกาเพื่อตรวจร่าง คาดว่าปลายปีนี้จะออกประกาศได้

บทบาทเหมือนขนส่ง 

“พ.ร.บ.การขนส่งทางรางเมื่อบังคับใช้แล้ว จะให้อำนาจกรมการขนส่งทางรางสามารถกำกับดูแลระบบรางทั้งประเทศ ทั้งรถไฟและรถไฟฟ้าได้อย่างเต็มที่ เช่น กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยการเดินรถ คุมอัตราค่าโดยสาร บทลงโทษ กรณีบริการล่าช้า ออกใบอนุญาตขับขี่คนขับรถไฟฟ้า และอาจจะรวมถึงการออกใบอนุญาตเส้นทางการเดินรถไฟด้วย ลักษณะเดียวกันกับ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก ที่ให้กรมการขนส่งทางบกสามารถกำกับดูแลจดทะเบียนประเภทรถยนต์ จัดเส้นทางเดินรถ หรือสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยที่กำกับดูแลสายการบินต่าง ๆ” นายสราวุธกล่าว

เปิดโผแคนดิเดตอธิบดีใหม่

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ในส่วนของบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการขนส่งทางราง คาดว่าจะมีข้าราชการระดับรองอธิบดีจากกรมต่าง ๆ สนใจมาทำหน้าที่มากกว่าระดับอธิบดี เนื่องจากยังเป็นกรมใหม่ ต้องริเริ่มบุกเบิกภารกิจใหม่หลากหลายด้าน จึงเป็นงานค่อนข้างหนัก และไม่ง่ายที่จะเข้ามาบริหารจัดการ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาผู้ที่คาดว่าจะเป็นแคนดิเดตนั่งเก้าอี้อธิบดีกรมน้องใหม่ อาทิ นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง, นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม ด้านโครงสร้างพื้นฐาน, นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคม ด้านขนส่ง, นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการ สนข., นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการ สนข., นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก รวมทั้งนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)

สุดท้ายหวยจะออกที่บิ๊กกระทรวงหูกวางคนไหน ต้องจับตามองแบบไม่กะพริบ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!