“ประยุทธ์” ยกทีมศก.ถกผู้นำจีน เซ็น MOU-หนุนไทยฮับการบิน

“บิ๊กตู่-ทีมสมคิด” นำคณะพบ “สี จิ้นผิง-หลี่ เค่อเฉียง” หารือเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมใหม่ ขนขบวนรถไฟไทย-จีน 2 แสนล้านถกทวิภาคี “สมคิด” ลงนาม MOU สนามบินเจิ้งโจวพันธมิตรเมืองการบินอู่ตะเภา-อีอีซี ดันไทยศูนย์กลางโลจิสติกส์ คมนาคม การบิน เปิดประตูรับการค้าอาเซียน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในระหว่างวันที่ 25-29 เม.ย. 62 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. พร้อมด้วยคณะรองนายกรัฐมนตรีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์, นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนางชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง และเมืองเจิ้งโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเข้าร่วมประชุมกับผู้นำ 38 ประเทศ ในเวที Belt and Road Forum for International Cooperation-BRF (หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง) ครั้งที่ 2

“บิ๊กตู่” พบสี จิ้นผิง-หลี่ เค่อเฉียง

ในการนี้นายกรัฐมนตรีและคณะ เข้าร่วมประชุมผู้นำระดับสูงกลุ่มประเทศความร่วมมือเส้นทางสายไหมใหม่ และพบหารือแบบทวิภาคีกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีและทวิภาคีกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน และนายหาน เจิ้ง รองนายกรัฐมนตรี จะเปิดทำเนียบรัฐบาลเตี้ยวหยูไถ เลี้ยงอาหารกลางวันแก่ทีมรัฐบาลไทยด้วย

ขณะที่ พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการหารือว่า สำหรับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายต่างมองว่า ไทยและจีนยังมีศักยภาพในการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจได้อีกมาก เพื่อบรรลุเป้าหมายการค้าทวิภาคีที่ตั้งไว้ที่ 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันที่ 25 เม.ย.ได้ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOC) ระหว่างรัฐบาลไทย-ลาว-จีน ว่าด้วยการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย-เวียงจันทน์ ในระหว่างการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

“บันทึกความร่วมมือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการเชื่อมต่อโครงการความร่วมมือด้านรถไฟความเร็วสูง สร้างด้านขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร ระหว่าง 3 ประเทศ คือ ไทย-จีน-ลาว ซึ่งการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟหนองคาย-เวียงจันทน์ จะใช้มาตรฐานทางเทคนิครถไฟของจีน”

โดยจะสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่ด้านท้ายน้ำของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 หนองคาย-เวียงจันทน์ รองรับทางรถไฟทั้ง 1.435 เมตร และ 1 เมตร มีสถานีรถไฟระหว่างประเทศ 2 สถานี คือ ฝั่งไทย 1 สถานี และฝั่งลาว 1 สถานี ทั้งนี้ จะเริ่มก่อสร้างเมื่อรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กม. เงินลงทุน 211,747 ล้านบาท ใกล้แล้วเสร็จ ซึ่งรถไฟไทย-จีน เฟส 2 ให้จีนเป็นที่ปรึกษาโครงการ ฝ่ายไทยจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างเองทั้งหมดเหมือนช่วงที่ 1 กทม.-นครราชสีมา วงเงิน 179,412 ล้านบาท คาดว่าจะเสร็จทั้ง 2 ช่วงในปี 2566

ต่อรองราคาซื้อรถไฟจีน

นายอาคมยังกล่าวถึงความคืบหน้าการเจรจารถไฟไทย-จีน สัญญาที่ 2.3 งานวางรางและติดตั้งระบบการเดินรถ ที่วงเงินยังเกินจากกรอบที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ 38,558 ล้านบาท ยังเจรจากับฝ่ายจีนไม่สำเร็จในหลายประเด็น ทำให้ไม่สามารถเซ็นสัญญาได้ภายในเดือน เม.ย.นี้

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้วงเงินสัญญาที่ 2.3 เกินจากกรอบ ครม.อนุมัติ 38,558 ล้านบาท เป็น 51,000 ล้านบาท หรือเกินมาประมาณ 12,442 ล้านบาท เนื่องจากได้โยกค่างานเครื่องจักรบำรุงทาง วงเงิน 7,000 ล้านบาท จากเดิมรวมไว้ในงานโยธามาไว้ในสัญญานี้ ขณะเดียวกัน ได้เปลี่ยนขบวนรถที่จะซื้อจากจีนเป็นรุ่นที่ทันสมัยมากขึ้นจากรุ่นเหอเสีย ราคาขบวนละ 700-800 ล้านบาท เป็นรถรุ่นฟู่ซิ่งเฮ่า ซึ่งราคาอยู่ที่ขบวนละ 1,200 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีงานบางส่วนที่ให้จีนทำเพิ่มคิดเป็นวงเงิน 3,000-4,000 ล้านบาท เช่น บางพื้นที่ออกเป็นรางเป็นหินโรยทาง จะทำเป็นคอนกรีตให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เป็นต้น

“จากวงเงินที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด ฝ่ายไทยคาดว่าจะขอขยายกรอบวงเงินจาก ครม.ประมาณ 50,000 ล้านบาท แต่ฝ่ายจีนเสนอมาอยู่ที่ 51,000 ล้านบาท เกินอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท ที่กำลังต่อรองกันอยู่ คาดว่านายกรัฐมนตรีของไทยจะหารือร่วมกับผู้นำของจีนในการประชุมที่กรุงปักกิ่ง เพื่อต่อรองราคาส่วนที่เกินมานี้”

MOU อีอีซี-เหอหนาน

ทั้งนี้ ในทีมนายสมคิดจะเดินทางต่อไปยังเมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) 2 ฉบับ ประกอบด้วย ฉบับที่ 1 ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี กับรัฐบาลมณฑลเหอหนาน

สำหรับสาระสำคัญกรอบความร่วมมือ MOU กับรัฐบาลมณฑลเหอหนาน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการพัฒนาศูนย์การบินคู่ขนานและส่งเสริมการค้า และการลงทุนระหว่างเหอหนานกับอีอีซี โดยมีขอบเขตความร่วมมือในด้านการส่งเสริมโครงการศูนย์การบิน

คู่ขนานสำหรับประเทศจีนตอนกลางและอาเซียน การกระชับความร่วมมือในการวางแผนพัฒนาพื้นที่สนามบิน และส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน อาทิ การขนส่งทางอากาศ การซ่อมบำรุงอากาศยาน การอบรมบุคลากร และการค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยี

นอกจากนี้ ยังตกลงที่จะส่งเสริมการก่อตั้งศูนย์การบินมณฑลเหอหนาน ณ เขตเศรษฐกิจอากาศยานเจิ้งโจว เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งชาติเจิ้งโจว และการพัฒนาเทคโนโลยี (หรือสถานที่อื่นที่เหมาะสม) และศูนย์การบินประเทศไทย ท่าอากาศยานอู่ตะเภา (หรือสถานที่อื่นที่เหมาะสม) ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก รวมทั้งจะส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจลงทุนในพื้นที่แต่ละฝ่าย เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างกัน และจะอำนวยความสะดวกต่อกันในกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การจัดประชุมนิทรรศการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้นในเหอหนาน หรือในพื้นที่อีอีซี

อู่ตะเภา-เจิ้งโจวจับมือดึงลงทุน

ส่วน MOU ฉบับที่ 2 ว่าด้วยความร่วมมือกับคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว (Zhengzhou Airport Economy Zone : ZAEZ) กับเมืองการบินอู่ตะเภา เป็นกรอบความร่วมมือกับคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และการพัฒนาโครงการร่วมกันเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างอีอีซี และเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว

โดยขอบเขตความร่วมมือการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนามหานครการบินในด้านต่าง ๆ อาทิ การเป็นศูนย์การบินและการวางแผนด้านความเชื่อมโยง ยุทธศาสตร์การชักชวนการลงทุน ความร่วมมือระหว่างสถาบันที่เกี่ยวข้องกับมหานครการบิน การวางผังเมือง วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว กิจกรรมและการส่งเสริมการวิจัย รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนและการประกอบธุรกิจ รวมถึงการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว เป็นต้น

นอกจากความร่วมมือ MOU แล้ว รองนายกรัฐมนตรีนำคณะเข้าร่วมศึกษาดูงาน ณ เขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว (ZAEZ) ถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Belt and Road โดยมีรถไฟขนส่งสินค้าจากประเทศจีนไปยุโรป รัสเซีย และเยอรมนี ผ่านเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง และยุโรปตะวันออก

ไทย-ศูนย์การบินอาเซียน

ซึ่งโอกาสในการร่วมมือระหว่างกันครั้งนี้ จะทำให้เกิดประโยชน์ด้านความร่วมมือ การบินระหว่างท่าอากาศยานเจิ้งโจวที่เป็น aerotropolis ของเอเชียเหนือ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา ประเทศไทย ที่มีเป้าหมายเป็น aerotropolis ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้การขนส่งผู้โดยสารและสินค้ามีความเชื่อมโยงและเพิ่มมูลค่าด้านการค้าการลงทุนที่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต อีกทั้งเป็นการขยายความร่วมมือเพื่อส่งเสริมนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการยกระดับสถานะไทยสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ คมนาคม และเป็นประตูสู่อาเซียน

ลุ้นจีทูจีข้าวจีน

นางมนัสนิตย์ จิรวัฒน์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนปักกิ่งนั้น ในส่วนของกรมได้รายงานความคืบหน้ากรณีเจรจาขายข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) โดยขณะนี้ในส่วนของการซื้อข้าว 1 ล้านตันแรก ในสมัยนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการส่งมอบลอตละ 1 แสนตันไปแล้ว 7 ลอต ปริมาณ 7 แสนตัน ยังเหลืออีก 3 แสนตัน ซึ่งทางกรมได้มีการหารือระดับเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่สามารถสรุปผลการเจรจาในลอตที่ 8 ได้ เนื่องจากขณะนี้จีนมีสต๊อกข้าวจำนวนมากขึ้น ประกอบกับราคาข้าวไทยปรับสูงขึ้น