ซี.พี. ทุ่ม 1.4 แสนล้านสร้างเมือง ปั้น “มักกะสัน” โกลบอล เกตเวย์

ถ้าไม่มีอะไรเข้าแทรก ในไม่ช้านี้ประเทศไทยจะได้บันทึกชื่อกลุ่ม ซี.พี. และพันธมิตรเป็นผู้ลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท

เป็นสายที่ 2 ต่อจากรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราชหรือรถไฟไทย-จีน ที่รัฐลงทุนเอง 179,413 ล้านบาท

กล่าวถึงรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน นับเป็นรถไฟขบวนพิเศษที่รัฐบาล คสช.อยากจะให้เกิดโดยเร็ว หวังเป็นแม่เหล็กดูดนักลงทุนลงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

สิ่งที่น่าจับตานอกจากเม็ดเงินลงทุนโครงการกว่า 2.24 แสนล้านแล้ว ยังมีเรื่องของการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ หรือ TOD ที่สถานีมักกะสันและศรีราชา ว่ากันว่าเป็นหัวใจที่จะทำให้โครงการมีกำไร

ที่น่าสนใจเพราะได้ทุนยักษ์ของเมืองไทยเป็นผู้พัฒนา จึงอยากจะเห็นโฉมหน้าโมเดลที่จะคลอดออกมา

ก่อนหน้านี้ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือ ซี.พี.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แผนพัฒนา TOD จะโฟกัสที่สถานีมักกะสัน 150 ไร่เป็นลำดับแรก เพราะอยู่ทำเลระหว่าง 3 สนามบิน และอยู่ในเงื่อนไขสัญญาที่จะได้รับการส่งมอบได้ก่อน ส่วนสถานีอื่นจะเป็นแผนระยะถัดไป

“สถานีมักกะสันพัฒนาเป็นมิกซ์ยูส ใช้เงินลงทุน 1.4 แสนล้าน มาจากเงินกู้และระดมทุนจากพันธมิตร เพราะแบ่งเป็นโซนนิ่ง มีพาร์ตเนอร์ลงทุนแต่ละโซน”

ส่วนแนวคิดการพัฒนาโครงการ มีบริษัท แมกโนเลียฯ มาช่วยด้านออกแบบมาสเตอร์แพลนให้ ตั้งเป้าให้มักกะสันเป็นทำเลที่สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับโครงการและกรุงเทพฯ ใครมาถึงเมืองไทย จะต้องมาที่นี่ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นออฟฟิศ ส่วนหนึ่งจะเป็นตลาดของนักท่องเที่ยวเพราะเชื่อม 3 สนามบิน เช่น พื้นที่คอมเมอร์เชียล และจะเปลี่ยนภูมิทัศน์โดยรอบ

ด้าน “คณิศ แสงสุพรรณ” เลขาธิการอีอีซี ย้ำภาพว่า การพัฒนาสถานีมักกะสันกลุ่ม ซี.พี.จะต้องจ่ายค่าเช่าให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ประมาณ 50,000 ล้านบาทตลอดสัญญา 50 ปี เริ่มจ่ายทันทีหลังเซ็นสัญญา และต้องพัฒนาเชิงพาณิชย์ด้านบนสถานีและพื้นที่โดยรอบ จะลงทุนอีกประมาณ 50,000 ล้านบาท หรืออาจจะมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับรูปแบบการพัฒนา

“ซี.พี.ต้องลงทุนพัฒนาหลายอย่าง ซึ่งที่ดินมักกะสัน ปัจจุบันจะมีปัญหาการเข้า-ออก และสถานีไม่มีการใช้ประโยชน์ ก็เลยให้ ซี.พี.สร้างเทอร์มินอลใหม่ และสร้างทางเข้า-ออกเพิ่ม มีอุโมงค์ใต้ดินเชื่อมจากอาคารไปยังรถไฟฟ้าใต้ดินที่สถานีเพชรบุรี อาจจะมีรถไฟฟ้าระบบไลต์เรลเชื่อมภายในโครงการ”

รายงานข่าวแจ้งว่า ล่าสุด ขนาดพื้นที่สถานีมักกะสันที่จะส่งมอบให้ ซี.พี.พัฒนาเชิงพาณิชย์จาก 150 ไร่ เมื่อรังวัดจริงแล้วเหลือ 140 ไร่ ทำให้รัฐได้ค่าเช่าน้อยลงจากเดิมประเมินไว้ 50 ปี เป็นเงิน 54,000 ล้านบาท

สำหรับแนวคิดการพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่สถานีมักกะสัน ทางอีอีซีกำหนดเป็นธีม “อีอีซี เกตเวย์” ส่วนธีมที่ ซี.พี.เสนอเป็น “โกลบอล เกตเวย์” เป็นการพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสที่มีขนาดใหญ่ระดับโลก เนื่องจากเป็นโครงการที่เชื่อมกับ 3 สนามบิน ด้วยรถไฟความเร็วสูง

“เรากำหนดให้เอกชนปรับปรุงช่วงถนนอโศกมนตรี จากแยกพระราม 9 มุ่งหน้าแยกเพชรบุรี ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถเลี้ยวขวาเข้าสถานีมักกะสันได้ จะให้สร้างเป็นแรมป์เชื่อมเข้ากับสถานี เพื่อเป็นการเข้าออก ส่วนที่เหลือ ซี.พี.จะปรับปรุงอะไรก็ได้ นอกจากนี้มีทางจักรยาน มีรถไฟฟ้าไลต์เรลระดับดินวิ่งบริการ ซึ่งการพัฒนาจะคล้ายกับสมาร์ทซิตี้”

รายงานข่าวกล่าวอีกว่า ซี.พี.กังวลการส่งมอบพื้นที่ จึงขอให้รัฐกำหนดไว้ในสัญญาให้ชัดเจน ซึ่งพื้นที่ส่งมอบมี 4 พื้นที่ 1.พื้นที่โล่งแนวเขตทางรถไฟ 2.พื้นที่เวนคืนใหม่ เช่น ฉะเชิงเทรา จะใช้เวลา 2 ปี 3.พื้นที่มีคนบุกรุก จะค่อนข้างยาก จะใช้เวลา 2 ปี และ 4.พื้นที่มีระบบสาธารณูปโภคอยู่ เช่น ไฟฟ้า ประปา แผนส่งมอบต้องให้เสร็จก่อนเซ็นสัญญาในเดือน มิ.ย.นี้