ปล่อยผีโรงแรมเถื่อน 2 หมื่นแห่ง ต้อนเข้าระบบจ่ายภาษีท้องถิ่น

ปล่อยผีโรงแรมเถื่อนไซซ์เล็ก 2 หมื่นแห่งตีทะเบียนเฉพาะ กทม. 6 หมื่นห้อง 1,500 แห่ง คสช.ประกาศใช้ ม.44 ผ่อนกฎจัดระเบียบเข้าระบบ สมาคมโรงแรมเผยเงื่อนไขใหม่เปิดกว้างทุกประตู ผู้ประกอบการโรงแรมที่ติดล็อก พ.ร.บ.โรงแรม-ผังเมืองสบช่องเตรียมตีตราถูกกฎหมาย ตอบโจทย์กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 6/2562 เรื่อง มาตรการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการประกอบธุรกิจโรงแรมบางประเภท ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 12 มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมา วัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการประกอบธุรกิจโรงแรมโดยผิดกฎหมาย ดึงผู้ประกอบการกลุ่มนี้เข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อควบคุมดูแลเรื่องความมั่นคงปลอดภัย ขณะเดียวกันก็สนับสนุนส่งเสริมธุรกิจโรงแรม กระจายรายได้สู่ท้องถิ่นชุมชนตามนโยบายของรัฐบาล

สาระสำคัญ เป็นการผ่อนปรนให้โรงแรม 2 ประเภท คือ 1.โรงแรมที่บริการเฉพาะห้องพัก 2.โรงแรมที่ให้บริการห้องพักและห้องอาหาร หรือสถานที่สำหรับบริการอาหาร หรือสถานที่สำหรับประกอบอาหาร ได้รับยกเว้นการบังคับใช้กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยผังเมือง และข้อบัญญัติท้องถิ่นเรื่องการกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารตามกฎหมายควบคุมอาคาร

ปล่อยผีโรงแรมเถื่อน

โดยให้โรงแรมตามข้อ 1 และ 2 ที่ใช้อาคารประเภทอื่นมาประกอบธุรกิจโรงแรม แจ้งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นถึงการฝ่าฝืนประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมือง ฝ่าฝืนดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนการใช้อาคารควบคุม เปลี่ยนการใช้อาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต จากนั้นให้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอาคารให้เข้าลักษณะเป็นโรงแรมให้ถูกต้องตามกฎหมายภายใน 90 วัน โดยจะได้รับยกเว้นโทษอาญาตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม กฎหมายผังเมือง กฎหมายควบคุมอาคาร จนถึงวันที่ 18 ส.ค. 2564 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาผ่อนปรนตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม ปี 2559

ปลดล็อกโฮมสเตย์-รีสอร์ตรุกป่า

จากนั้นหลังวันสิ้นสุดระยะเวลาดังกล่าว หากยังมีโรงแรม สถานที่พักที่มีจำนวนห้องพักในอาคารเดียวกัน หรือหลายอาคารรวมกันไม่เกิน 4 ห้อง และมีผู้พักรวมกันทั้งหมดไม่เกิน 20 คน  (บ้านพัก รีสอร์ต โรงแรมขนาดเล็ก โฮมสเตย์) แห่งใดไม่สามารถดำเนินการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาพอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือมีข้อจำกัดตามกฎหมายอื่น เช่น กฎหมายป่าไม้ กฎหมายปฏิรูปที่ดิน ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบตามกฎหมาย รวบรวมข้อเท็จจริง สภาพปัญหา และแนวทางแก้ไข เสนอคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เพื่อให้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

นางศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดังกล่าวฉบับนี้เป็นการเปิดกว้างให้กลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมที่นำอาคารประเภทอื่นมาประกอบธุรกิจโรงแรม ซึ่งผิดพระราชบัญญัติโรงแรม และโรงแรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ผังเมืองไม่ได้อนุญาตให้สร้างโรงแรม ซึ่งเดิมทีเดียวผู้ประกอบการกลุ่มนี้ไม่สามารถขอยื่นจดทะเบียนได้ ให้สามารถยื่นขออนุญาตจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายได้

นอกจากนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ได้ปรับตัวและเข้าสู่กระบวนการขอยื่นจดทะเบียน ได้ในช่วงระหว่างนี้จนถึงสิงหาคม 2564 ผู้ประกอบการเหล่านี้ยังได้รับการผ่อนปรนไม่ถูกปรับ หรือจับกุมอีกด้วย

โอกาสทองโรงแรมนอกรีต

“รอบนี้ถือว่าเป็นโอกาสทองของโรงแรมที่ยังไม่จดทะเบียนให้เข้ามาสู่ระบบอย่างแท้จริง เพราะประกาศดังกล่าวได้ปลดล็อกทั้ง พ.ร.บ.โรงแรม และ พ.ร.บ.ผังเมือง ถ้าไม่รีบปรับตัวเข้าระบบรอบนี้ก็ไม่น่าจะมีโอกาสแบบนี้อีกแล้ว” นางศุภวรรณกล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ประกาศนี้เปิดให้เฉพาะโรงแรมประเภท 1 ที่ให้บริการเฉพาะห้องพัก และโรงแรมประเภท 2 ที่ให้บริการห้องพักและห้องอาหารเท่านั้น

นางศุภวรรณกล่าวด้วยว่า เชื่อว่าแนวทางดังกล่าวนี้จะเป็นมาตรการที่จูงใจให้ผู้ประกอบการโรงแรมที่ยังติดล็อกเรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ หันมาเข้าระบบมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้ภาพลักษณ์และมาตรฐานด้านการท่องเที่ยวของไทยดีขึ้น โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัยนักท่องเที่ยว รวมทั้งยังทำให้ประเทศไทยมีระบบดาต้าข้อมูลธุรกิจโรงแรมที่ชัดเจน ขณะที่ภาครัฐก็สามารถบริหารจัดการได้ดียิ่งขึ้น ที่สำคัญยังทำให้การแข่งขันของธุรกิจอยู่บนพื้นฐานเดียวกันอีกด้วย

“ส่วนตัวมองว่าหลังจากวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดมาตรการผ่อนปรนแล้ว รัฐบาลจะมีมาตรการลงโทษสำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่เข้าสู่ระบบอย่างเข้มข้นออกมาบังคับใช้แน่นอน แม้ว่าจะไม่ได้ระบุไว้ในประกาศ คสช.” นางศุภวรรณกล่าว

ยกระดับธุรกิจโรงแรมทั่วประเทศ

นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมโรงแรมไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” กว่า 10 ปีที่ผ่านมา สมาคมโรงแรมไทยมีความพยายามที่จะทำให้กลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมทั่วประเทศเข้าสู่ระบบให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็ยังพบว่ามีโรงแรมอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่พร้อมเข้าระบบ การประกาศใช้ ม.44 ของ คสช. เพื่อปลดล็อกครั้งนี้น่าจะทำให้กลุ่มผู้ประกอบการนอกรีตที่ยังไม่จดทะเบียนอย่างถูกต้อง ที่คาดการณ์กันว่ามีอยู่ราว 50% ของโรงแรมทั้งประเทศปรับตัวเข้าสู่ระบบได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่น่าจับตา คือ การกำหนดบทลงโทษ หากผู้ประกอบการรายใดยังไม่ยอมเข้าระบบอย่างถูกต้อง เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ ส่วนใหญ่ไม่อยากเข้าสู่ระบบ เนื่องจากจะทำให้ต้นทุนการบริหารจัดการของตัวเองสูงขึ้น

ขณะที่แหล่งข่าวในธุรกิจโรงแรมอีกรายหนึ่งกล่าวว่า การปลดล็อกครั้งนี้น่าจะเป็นการยกระดับมาตรฐานของธุรกิจโรงแรมทั่วประเทศครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากจะทำให้ธุรกิจโรงแรมทั่วประเทศแข่งขันอยู่บนฐานเดียวกัน และมองว่าน่าจะช่วยลดปัญหาเรื่องสงครามราคาได้ในระดับหนึ่ง รวมทั้งยังทำให้ธุรกิจมีระบบฐานข้อมูลที่ชัดเจน

นอกจากนี้ ยังตอบโจทย์ในเรื่องการกระจายรายได้ลงสู่ท้องถิ่นอีกด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการกลุ่มนี้ไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐ เนื่องจากไม่สามารถออกใบกำกับภาษีให้คนไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวนำไปลดหย่อนภาษีตามนโยบายของรัฐได้

แหล่งข่าวรายนี้ยังให้ข้อมูลด้วยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงแรมที่จดทะเบียนอย่างถูกต้อง ประมาณ 8,000 แห่งทั่วประเทศ รวมจำนวนห้องพักประมาณ 4 แสนห้องพัก และมีโรงแรมไม่จดทะเบียนราว 3,000-4,000 แห่ง เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ คาดว่าน่าจะมีโรงแรมที่ไม่จดทะเบียนราว 1,500 แห่ง หรือประมาณ 60,000 ห้องพัก

จัดระเบียบ 4 พันแห่ง 59 จว.

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่มีคำสั่ง ม.44 เพื่อเป็นการปลดล็อกอาคารที่สร้างหรือขอแก้ไขดัดแปลงก่อนปี 2559 ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมขนาดเล็กไม่เกิน 50 ห้อง มีอยู่ประมาณ 4,000 แห่ง ในเขตผังเมืองรวม 59 จังหวัด ซึ่งรวมกรุงเทพฯด้วย ให้ได้รับการยกเว้นกฎกระทรวงผังเมืองรวมให้สามารถดำเนินการประกอบกิจการให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.โรงแรมและเข้าสู่ระบบ เช่น การจัดเก็บภาษี การควบคุมการใช้อาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายอาคาร มีความปลอดภัย ความมั่นคง โดยให้เจ้าของอาคารดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 5 ปี หรือถึงวันที่ 18 ส.ค. 2564

“การที่ขอยกเว้นผังเมืองรวมให้ เพราะเห็นว่าเป็นอาคารที่สร้างอยู่แล้ว และไม่ใช่อาคารขนาดใหญ่ ไม่เกิดผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ที่ดินในผังเมือง แต่ดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ซึ่งทางเจ้าของอาคารจะต้องไปดำเนินการให้ถูก ถ้าไม่ทันตามที่กำหนดไว้ จะต้องยกเลิกกิจการและไม่ให้ใช้อาคารต่อไป”

นายมณฑลกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ทั่วประเทศมีโรงแรมประมาณ 40,000 แห่ง ได้รับการอนุญาตไปแล้ว 20,000 แห่ง เหลือ 20,000 แห่ง มี 10,000 แห่ง กำลังจะขอใบอนุญาต อีก 10,000 แห่ง มี 4,000 แห่งที่ขอยกเว้นผังเมืองและอีก 6,000 แห่งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวน จะต้องดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้อง จะมีการรวบรวมข้อมูลนำเสนอให้คณะกรรมการที่ดินแห่งชาติพิจารณาต่อไป ซึ่งคงไม่ได้รับการยกเว้นทั้งหมด หากพบว่าผิดจริงก็ต้องรื้อ