“ศักดิ์สยาม” เร่งปิดจ็อบประมูลรถไฟไทย-จีนแสนล้านให้จบธ.ค.นี้

คมนาคม”เล็งประมูล 14 สัญญาไทย-จีนจบปีนี้ “ศักดิ์สยาม”เดดไลน์รถไฟประมูล ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองและเดโป้เชียงรากน้อยให้ได้ภายในเดือน ก.ย. เตรียมชง”ประยุทธ์”ขยายเวลาสัญญา 2.3 ถึงสิ้นปี

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน มีการสรุปภาพรวมของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงที่ 1 กรุงเทพ – นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. เงินลงทุน 179,413 ล้านบาท ทั้ง 14 สัญญา

ประมูลให้เสร็จสิ้นปี

โดยลงนามและกำลังก่อสร้างแล้ว 2 สัญญา รอลงนาม 5 สัญญา รอประกวดราคา 5 สัญญา ปรับแก้ทีโออาร์ 1 สัญญาคือ สัญญา 4-4 งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย เงินลงทุน เงิน 6,093.037 ล้านบาท และอยู่ระหว่างตกลงกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 1 สัญญาคือ สัญญา 4-1งานโยธาช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง เงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท

“ตั้งเป้าอีก 2 สัญญาที่ยังติดปัญหาจะต้องประมูลให้ได้ภายในเดือน ก.ย.นี้ รวมทั้ง 14 สัญญา จะต้องประกวดราคาให้เสร็จภายใน 31 ธ.ค.นี้ “

เร่งสัญญา2.3ให้จบพ.ย.-ธ.ค.

ADVERTISMENT

ขณะที่การเจรจาในสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องจักรกลที่ต้องใช้เทคโนโลยีจากจีนปัจจุบันมูลค่าสัญญาอยู่ที่ 50,633 ล้านบาท เพิ่มจากกรอบที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ 38,558 ล้านบาท โดยอัยการสูงสุดได้ตรวจร่างสัญญาเสร็จแล้วแต่มีข้อกังวล 12 ข้อ จึงให้คณะกรรมการกลับไปดูกรอบการทำงานที่เกี่ยวเนื่องกับ 12 ประเด็นมา เพื่อให้การเจรจารวดเร็วขึ้น และจะมีการขอขยายกรอบเวลาดำเนินการสัญญา 2.3 จากเดิมที่หมดอายุไปตั้งแต่ 3 ส.ค. จะขยายเวลาออกไปถึงเดือน พ.ย.

และถ้าเป็นไปได้จะขอขยายถึงสิ้นเดือน ธ.ค.เพื่อให้ทันกับการประชุม35th ASEAN Summit and Related Summits ที่ไทยเป็นเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 31 ต.ค. – 4 พ.ย.นี้ โดยร.ฟ.ท.จะทำเรื่องเสนอมาที่กระทรวง จากนั้นกระทรวงจะทำเรื่องเสนอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้พิจารณาตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 30/2560

ADVERTISMENT

ปรับแบบใหม่ดันงบเพิ่ม

ส่วนตัวเลขเนื้องานที่โยกมาจากเดิม 38,558 ล้านบาท แบ่งเป็น โรงเชื่อมราง, รถซ่อมบำรุงและตรวจสภาพทาง ซึ่งอยู่ในงานโยธารวม 7,000 ล้านบาท การเปลี่ยนขบวนรถเป็นเทคโนโลยี Fuxingทำให้ต้องใช้เงินเพิ่มขึ้น 3,400 ล้านบาท และการเปลี่ยนการออกแบบทางจากหินโรยทางเป็นคอนกรีตในบางช่วง ใช้งบเพิ่มประมาณ 1,000 ล้านบาท รวมประมาณ 14,000 ล้านบาทที่เพิ่มขึ้นจากเดิม ส่วนความคืบหน้าด้านการกู้เงิน กระทรวงการคลังยังพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่

ด้านการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโครงการ จำนวน 2,800 ไร่ วงเงินประมาณ 13,069 ล้านบาท ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้เห็นชอบร่างเบื้องต้นแล้ว ขั้นตอนต่อไป การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะต้องจัดทีมงานลงไปรางวัดพื้นที่เวนคืนอีกครั้ง ก่อนจะทำแผนที่แนบท้ายสัญญา เพื่อเสนอให้ครม.เห็นชอบต่อไป

ลุ้นคำตอบซี.พี. 9 ก.ย.

ด้านนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าร.ฟ.ท. กล่าวว่า ในส่วนงานสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง จะต้องเจรจากับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เนื่องจากมีโครงสร้างงานบางส่วนทับซ้อนกัน แต่คาดว่าโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินจะต้องเป็นผู้ก่อสร้างทางร่วมไปก่อน ซึ่งการดำเนินการให้เสร็จในเดือน ก.ย.ตามที่รัฐมนตรีมอบหมายก็อาจจะเสร็จไม่ทัน

ส่วนความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ขณะนี้ได้ส่งรายงานการส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดให้กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร (กลุ่ม CPH) แล้ว โดยกลุ่ม CPH จะต้องส่งคำตอบมาภายในวันที่ 9 ก.ย. โดยคาดหมายว่าการลงนามในสัญญาจะเกิดขึ้นภายในเดือน ก.ย.ตามกำหนดเดิม