รถไฟฟ้าสีเหลืองติดหล่มสะพานบางกะปิ กทม.จี้รื้อสร้างใหม่กระทบต้นทุนบีทีเอสเพิ่มพันล้าน

ทุบไม่ทุบ - รถไฟฟ้า สายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. ที่กำลังเดินหน้า ก่อสร้าง เพื่อให้เสร็จทัน ในปี 2564ยังมีจุดที่ยังล่าช้า คือ สะพานข้ามแยกบางกะปิ ที่ยังไม่มีข้อสรุปกับกรุงเทพมหานครจะทุบสร้างใหม่หรือแค่ปรับโครงสร้างให้แข็งแรงให้รับน้ำหนักตอม่อรถไฟฟ้าได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นแนวทางไหน ยังไงจะต้องปิดการจราจรบริเวณนี้ จะทำให้รถติดหนักมากขึ้น

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง “ลาดพร้าว-สำโรง” สร้างคืบหน้ากว่า 43% ติดออกแบบสะพานข้ามแยกบางกะปิ รับตอม่อโครงสร้างสถานี กทม.ขอรื้อสร้างใหม่ หวั่นรับน้ำหนักไม่ไหว รฟม. ขอเจรจาปรับโครงสร้างเดิมให้แข็งแรงแทน คาดกระทบต้นทุนกลุ่มบีทีเอสพุ่ง 1 พันล้าน ปีหน้าถนนลาดพร้าวรถติดหนัก เริ่มปิดจราจรบนสะพานหน้าเดอะมอลล์ เร่งให้เสร็จ ต.ค. 64 

แหล่งข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจาก รฟม.ให้บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด บริษัทลูกของกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงิน 49,235 ล้านบาท ได้เริ่มงานก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. 2561 ขณะนี้งานก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 43.77% เร็วกว่าแผนงานเล็กน้อย ตามแผนงานก่อสร้างเสร็จเปิดให้บริการในเดือน ต.ค. 2564

เคลียร์จุดทับซ้อนแยกบางกะปิ

ทั้งนี้ ยังมีงานก่อสร้างมีปัญหาในพื้นที่ทับซ้อนตรงสะพานข้ามแยกบางกะปิ หน้าศูนย์การค้าเดอะมอลล์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีบางกะปิ ตามแบบจะต้องรื้อผิวการจราจรชิดเกาะกลางฝั่งละ 1 ช่องทาง เพื่อก่อสร้างเสาตอม่อ และขยายสะพานฝั่งละ 1 ช่องทาง ทดแทนผิวจราจรที่เสียไป ซึ่งฐานโครงสร้างของสะพานยังสามารถรับน้ำหนักได้ อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องการจะให้รื้อแล้วสร้างใหม่ ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปร่วมกับ กทม. ซึ่งบริเวณนี้จะเป็นจุดสุดท้ายที่จะต้องเคลียร์

“มีหลายฝ่ายกังวลว่าจะกระทบต่อการจราจร ซึ่ง กทม.มีข้อเสนอจะให้ทุบของเก่าทิ้งแล้วสร้างขึ้นมาใหม่ เหมือนกับแยกรัชโยธิน แยกเสนานิเวศน์ แยกเกษตรศาสตร์ หากดำเนินการตามแนวคิดของ กทม.จะเกิดปัญหารถติดหนักขึ้น เพราะในบริเวณใกล้กันมีแยกลำสาลีที่ได้รื้อสะพานข้ามแยกไปแล้ว เพื่อรองรับกับโครงสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้าน BSR เอกชนผู้ลงทุนโครงการ ได้ออกแบบจะสร้างตอม่อตรงกลางสะพาน หากทุบสร้างใหม่ เอกชนไม่ได้เตรียมงบประมาณส่วนนี้ไว้ คาดว่าจะใช้เงินร่วม 1,000 ล้านบาท ต้องชี้แจงความจำเป็นให้ กทม.รับทราบ”

กทม.ปิดการจราจรปีหน้า

นายไทวุฒิ ขันแก้ว รักษาการผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงสะพานข้ามแยกบางกะปิ มีรูปแบบการก่อสร้างฐานรากและตอม่อรถไฟฟ้าซ้อนทับกับแนวสะพานข้ามแยกบางกะปิ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงสะพานข้ามแยกบางกะปิให้มีขนาด 4 ช่องจราจรคงเดิม เพื่อไม่กระทบกับการสัญจรของประชาชนในขณะก่อสร้าง

การปรับปรุงสะพานข้ามแยกบางกะปิ ทาง รฟม.จะต้องปรับปรุงให้มีความมั่นคงแข็งแรง เป็นไปตามมาตรฐานการออกแบบ AASHTO LRFD นอกจากนั้น รฟม.และผู้รับสัมปทานของ รฟม. จะต้องปรับแผนการก่อสร้าง ตลอดจนขั้นตอนและเทคนิคในการก่อสร้าง ไม่ให้การปรับปรุงสะพานข้ามแยกบางกะปิกระทบกับแผนงานและระยะเวลาการก่อสร้างโดยรวมของโครงการ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อสรุปร่วมกัน และยังไงก็ต้องปิดการจราจรเพื่อดำนินการ อยู่ระหว่างหารือร่วมกัน เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่อการจราจร เพราะอยู่ใกล้กับการก่อสร้างสายสีส้มที่แยกลำสาลี

“คาดว่าต้นปีหน้าจะเริ่มปิดการจราจรสะพานแยกบางกะปิ เพื่อดำเนินการตามแบบที่ได้ข้อสรุปร่วมกับ รฟม. รวมถึงอยากจะให้การปรับปรุงสะพานแยกลำสาลีให้เสร็จก่อน หลัง รฟม.ขอใช้พื้นที่เพื่อสร้างกำแพงสถานีสายสีส้ม โดยรื้อเชิงทางขึ้นสะพานลำสาลีฝั่งขาเข้าเมือง เป็นเวลา 1 ปี นับจาก ธ.ค.ปีที่แล้ว” นายไทวุฒิกล่าว

เปิดแนวเส้นทาง-ที่ตั้ง 23 สถานี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อกับสายสีน้ำเงินที่แยกรัชดาฯ-ลาดพร้าว วิ่งไปตามแนวถนนลาดพร้าว เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเทาที่แยกฉลองรัช และยกระดับข้ามทางด่วนฉลองรัช จนถึงทางแยกบางกะปิ

จากนั้นจะเลี้ยวขวาไปทางทิศใต้ตามถนนศรีนครินทร์ เชื่อมต่อกับสายสีส้มที่ทางแยกลำสาลี แล้วจะยกระดับข้ามทางแยกต่างระดับพระราม 9 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และผ่านแยกพัฒนาการ แยกศรีนุช แยกศรีอุดมสุข แยกศรีเอี่ยม จนถึงแยกศรีเทพา จากนั้นจะเลี้ยวขวาไปตามแนวถนนเทพารักษ์ ผ่านจุดเชื่อมต่อกับสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่สถานีสำโรง และสิ้นสุดแนวเส้นทางบริเวณถนนปู่เจ้าสมิงพราย รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 30.4 กม. มีสถานีทั้งหมด 23 สถานี มีโรงจอดรถศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง อาคารและลานจอดแล้วจร 1 แห่ง บริเวณทางแยกต่างระดับศรีเอี่ยม

สำหรับ 23 สถานี ได้แก่ 1.สถานีรัชดา อยู่หน้าอาคารจอดแล้วจร บนถนนรัชดาภิเษก เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 2.สถานีภาวนา อยู่ปากซอยภาวนา 3.สถานีโชคชัย 4 อยู่หน้าศูนย์การค้าโชคชัย 4 4.สถานีลาดพร้าว 71 อยู่ปากซอยลาดพร้าว 71 5.สถานีลาดพร้าว 83 อยู่ระหว่างซอยลาดพร้าว 83 กับซอยลาดพร้าว 85 6.สถานีมหาดไทย อยู่ปากซอยลาดพร้าว 95 (ฟู้ดแลนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต)

7.สถานีลาดพร้าว 101 อยู่ปากซอยลาดพร้าว 101 8.สถานีบางกะปิ อยู่หน้าห้างแม็คโคร ใกล้กับเดอะมอลล์ บางกะปิ 9.สถานีลำสาลี อยู่แยกลำสาลี เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีส้ม 10.สถานีศรีกรีฑา อยู่แยกศรีกรีฑา 11.สถานีพัฒนาการ อยู่ระหว่างจุดตัดทางรถไฟและจุดตัดถนนพัฒนาการ เชื่อมรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์

12.สถานีกลันตัน อยู่หน้าธัญญะ ช็อปปิ้ง พาร์ค และบ้านกลางเมือง ศรีนครินทร์ 13.สถานีศรีนุช อยู่แยกศรีนุช 14.สถานีศรีนครินทร์ 38 อยู่ปากซอยศรีนครินทร์ 38 15.สถานีสวนหลวง ร.9 อยู่ระหว่างห้างซีคอนสแควร์และห้างพาราไดซ์ พาร์ค 16.สถานีศรีอุดม อยู่แยกศรีอุดม

17.สถานีศรีเอี่ยม อยู่แยกต่างระดับศรีเอี่ยม ถนนบางนา-ตราด มีจุดจอดแล้วจรและศูนย์ซ่อมบำรุง 18.สถานีศรีลาซาล อยู่แยกศรีลาซาล 19.สถานีศรีแบริ่ง อยู่แยกศรีแบริ่ง 20.สถานีศรีด่าน อยู่ใกล้แยกศรีด่าน 21.สถานีศรีเทพา อยู่ใกล้แยกศรีเทพา 22.สถานีทิพวัล อยู่ปากซอยหมู่บ้านทิพวัล และ 23.สถานีสำโรง อยู่บริเวณจุดตัดถนนสุขุมวิท เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว แบริ่ง-สำโรง ที่สถานีสำโรง

จ่อพับส่วนต่อขยายไปรัชโยธิน

แหล่งข่าวยังกล่าวถึงส่วนต่อขยายสีเหลืองที่ BSR มีข้อเสนอลงทุน 3,779 ล้านบาท ลงทุนก่อสร้างจากแยกรัชดาฯ-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน เชื่อมกับสายสีเขียว ส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 2.6 กม. มี 2 สถานี โดยสถานีแรกจะตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลอาญา และสถานีที่ 2 จะตั้งอยู่บริเวณแยกรัชโยธิน