“บอร์ดรถไฟ” ไฟเขียวร่างสัญญา-แผนส่งมอบพื้นที่ไฮสปีด คุยซี.พี.ลงตัวเริ่มงานอีก 2 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2562 คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยชุดใหม่ได้จัดประชุมนัดแรกใช้เวลาในการประชุมกว่า5ชั่วโมง

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานประธานคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ดรถไฟ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดมีมติเห็นชอบโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงงิน 224,544 ล้านบาทใน 3 ประเด็น

ได้แก่ 1. เห็นชอบร่างสัญญาซึ่งผ่านการตรวจร่างโดยอัยการสูงสุด กพอ.และคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว 2. เห็นชอบแผนการส่งมอบพื้นที่ของโครงการตามที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้เห็นชอบไปเมื่อเช้านี้

และ 3. เห็นชอบให้นายวรวุฒิ มาลา รักษาการร.ฟ.ท.ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการ เป็นผู้ลงนามในสัญญาด้วย ทั้งนี้ บอร์ดรถไฟขอให้ ร.ฟ.ท.รายงานความคืบหน้า ปัญหาและอุปสรรคของโครงการให้ทราบทุกเดือน

ด้านนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าร.ฟ.ท.และประธานคณะกรรมการคัดเลือก เปิดเผยว่า ในส่วนของการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง ได้ปรับแผนจากเดิม ตอนแรกยึดตาม ทีโออาร์ คือมีพื้นที่ที่พร้อมส่งมอบ 50% แต่มีปัญหาอุปสรรคที่ต้องคำนึงถึง 3 ด้านคือ เวนคืน เคลียร์ผู้บุกรุก และพื้นที่ใต้ดิน ซึ่งต้องประสานงานหน่วยงานอื่นช่วยดำเนินการ

ประกอบกับในการส่งมอบพื้นที่แบบเดิม เอกชนคู่สัญญาคือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร (กลุ่ม CPH) แจ้งว่าไม่สามารภดำเนินการตามแผนเดิมได้ ที่ประชุมกพอ.จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น มีนายอุตตม สาวนายน รมว.คลังเป็นประธานและได้ปรับเอกสารแนบท้ายสัญญาในส่วนการส่งมอบพื้นที่ใหม่ ซึ่งจากการปรับแผนใหม่คาดว่าภายในเดือน พ.ย.นี้ ร.ฟ.ท.น่าจะสามารถเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการได้

ดังนั้น แผนการส่งมอบพื้นที่จึงแบ่งได้ 3 ส่วน ตามที่บอร์ดกพอ.เห็นชอบไปเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ส่วนแรก พื้นที่ช่วงพญาไท – สุวรรณภูมิ (แอร์พอร์ตเรลลิ้งค์เดิม) ระยะทาง 28 กม. สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ทันทีเมื่อกลุ่ม CPH จ่ายค่าใช้สิทธิ์เดินรถ 10,671 ล้านบาท มีกำหนดต้องจ่ายภายใน 2 ปี นับแต่วันลงนาม ซึ่งกลุ่ม CPH จะต้องทำแผนชำระเงินในส่วนนี้ด้วย

ส่วนที่สอง ช่วงสุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กม. จะเร่งรัดภายใน 1 ปี 3 เดือน หรือไม่เกิน 2 ปีหลังลลงนาม และส่วนที่สาม ช่วงพญาไท – ดอนเมือง – บางซื่อ ระยะทาง 22 กม. จะเร่งรัดภายใน 2ปี 3 เดือน หรือไม่เกิน 4 ปีหลังลงนาม ซึ่งส่วนที่สามมีปัญหามากที่สุด แต่ก่อนที่จะเข้าพื้นที่ก่อสร้าง กลุ่ม CPH จะต้องส่งร่างแบบของโครงการมาให้ดูก่อน โดยจะต้องทำให้เสร็จหลังลงนาม 3 เดือน

นอกจากนี้ นายวรวุฒิกล่าวว่า ได้ขยายเวลาการส่งหนังสือให้เริ่มงาน (Notice to Proceed: NTP) ออกไปจาก 1 ปีเป็น 2 ปี โดยเป็นการหารือร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชนแล้ว ซึ่งไม่ถือเป็นการทำผิดทีโออาร์เนื่องจากในทีโออาร์ เปิดช่องไว้ว่า สามารถเห็นชอบได้ เมื่อรัฐและเอกชนเห็นชอบตรงกันให้ขยายเวลาออกไป

ขณะที่การจ่ายค่าอุดหนุน 117,227 ล้านบาท ยังยึดตาม ทีโออาร์ คือ จ่ายเมื่อก่อสร้างเสร็จหลังออก NTP โดยจะทยอยจ่าย 10 ปีเป็นจำนวนเท่าๆกัน ส่วนการยกเลิกสัญญา ต้องดูเจตนาก่อนว่ามีเหตุผลอะไร แต่มีระบุในกฎหมายว่า จะยกเลิกได้ในกรณีที่ฝ่ายรัฐไม่ทำอะไรเลย ซึ่งเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว