ต่างชาติปักธง”เมืองการบิน” สิงคโปร์แอร์ไลน์ลุยศูนย์ซ่อม

แฟ้มภาพ
ยักษ์ชิ้นส่วนฯ-ซ่อมบำรุง “สหรัฐ-สิงคโปร์” โดดร่วมวงเมืองการบิน ตั้งบริษัทลุยธุรกิจศูนย์ซ่อมอากาศยาน การบินไทยเผยแอร์บัสมาแน่ คาดยื่นข้อเสนอการร่วมทุนได้ภายในสิ้นปีนี้ ด้าน สกพอ.แจงไทม์ไลน์ ธันวาคมนี้รู้ผลผู้ชนะร่วมลงทุน คนวงในชี้ คาดกลุ่มหมอเสริฐ-คีรีมาแรง

ความชัดเจนของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น หนึ่งในโครงการสำคัญของแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)ที่รัฐบาลกำหนดให้อุตสาหกรรมการบินเป็น 1 ในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และจะเป็นกุญแจสำคัญที่ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน (OEM) และการซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ในภูมิภาค

ล่าสุดข้อมูลจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่ามีบริษัทผู้ให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยาน รายใหญ่จากสหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ เข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในไทยหลายราย ประกอบด้วย บริษัท ยูไนเต็ด เทคโนโลยีส์ โกลบอล (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ถือหุ้นหลักคือ แพรตต์ แอนด์ วิตนีย์ โกลบอล ซัพพอร์ต อิงก์, ยูไนเต็ด เทคโนโลยีส์ อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น, ยูไนเต็ด เทคโนโลยีส์ อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น อิงก์ จดทะเบียนตั้งบริษัทเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ตั้งอยู่เลขที่ 98 อาคารสาทรสแควร์ ชั้นที่ 37 ถนนสาทรเหนือ

โดยบริษัท ยูไนเต็ด เทคโนโลยีส์ โกลบอล ถือเป็นผู้นำอุตสาหกรรมการบินมีพนักงานราว 240,000 คน มีรายได้ราว 66,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ รัฐคอนเนกทิกัต และมีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวกับการบินหลายแห่ง อาทิ Collin Aerospace Systems และ Pratt & Whitney บริษัทออกแบบและผลิตเครื่องบิน

ส่วนอีกบริษัทคือ บริษัท ไลน์ เมนเทนแนนซ์ พาร์ทเนอร์ชิพ (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้นโดยบริษัท เอสไอเอ เอ็นจิเนียริ่งคอมพานี ลิมิเต็ด บริษัทลูกของ สิงคโปร์แอร์ไลน์ส เชี่ยวชาญด้านซ่อมบำรุงอากาศยาน ร่วมกับบริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด และนายวุฒิภูมิ จุฬางกูร จดทะเบียนเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ 999/9 ดิ ออฟฟิศเคส แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 29 ถนนพระราม 1

ยันแอร์บัสพร้อมยื่นข้อเสนอ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคมนาคม เปิดเผยความคืบหน้าโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา (MRO) ซึ่งการบินไทยร่วมมือกับแอร์บัสว่าภายในสิ้นปี แอร์บัสน่าจะมีความพร้อมสำหรับการยื่นข้อเสนอตามกระบวนการเอกชนร่วมลงทุน ที่ผ่านมาตนได้พูดคุยกับ โลรองต์ โอแบล็ง เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทยเกี่ยวกับเงื่อนไขเวลา 50 ปี คาดว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง และตนได้ติดตามอยู่ตลอด

ด้านนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. การบินไทย กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาแอร์บัสได้เข้ามาหารือกับการบินไทย ตามประกาศของคณะกรรมการคัดเลือกแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนทูตฝรั่งเศสเข้าพบรัฐมนตรี โดยแอร์บัสให้ความมั่นใจกับการบินไทยว่า จะสามารถยื่นข้อเสนอการร่วมทุนได้ภายในสิ้นปีแน่นอน ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งทำข้อตกลงให้ตรงกันโดยเร็วที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้มีบริษัทซ่อมบำรุงอากาศยานจากต่างประเทศที่ทยอยเข้ามาจดทะเบียนตั้งบริษัทในไทยแล้วจำนวนหนึ่ง อาทิ บริษัท เรวีม่า เอเชีย แปซิฟิค จำกัด บริษัทผู้ให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยานรายใหญ่ สัญชาติฝรั่งเศส

บริษัท โบซา-ธายานน์ แอร์คราฟท์ เซอร์วิส จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่างโบซา แอโรสเปซ ผู้ให้บริการด้านชิ้นส่วนและซ่อมบำรุงเครื่องบินแห่งสหราชอาณาจักร มีลูกค้าสำคัญ อาทิ แอร์บัส และโบอิ้ง และธายานน์ เอวิเอชั่น คอนซัลแตนส์ กรุ๊ป ที่ปรึกษาธุรกิจการบินในประเทศไทย

บริษัท พีที แอโรสเปซ (ประเทศไทย) บริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท พีที แอโรสเปซ เทคนิคส์ บริษัทในเครือทีพี แอโรสเปซ กรุ๊ป มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

ธ.ค.รู้ผลผู้ชนะเมืองการบิน

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า กระบวนการคัดเลือกโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 290,000 ล้านบาท ที่เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost เวลา 50 ปี คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการมี พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธาน จะเร่งดำเนินการพิจารณาผลการเจรจากับเอกชนผู้ชนะให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.นี้ คาดว่าจะลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้ภายในเดือน ม.ค. 2563

เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้เปิดซองราคาของ 2 กลุ่มที่ผ่านการพิจารณาด้านเทคนิคแล้ว ได้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS ประกอบด้วย บมจ.การบินกรุงเทพ บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง และกลุ่มแกรนด์คอนซอร์เตี้ยม ประกอบด้วย บมจ.แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้, บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น และ บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น และ GMR Airport จากอินเดีย

ขณะเดียวกัน อยู่ระหว่างพิจารณาซองเทคนิคและราคาของกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม ซี.พี.) ประกอบด้วย 1.บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ 2.บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ 3.บมจ.ช.การช่าง 4.บี.กริม จอยน์ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด และ 5.บจ.โอเรียนท์ซัคเซส อินเตอร์เนชั่นแนล

หลังศาลปกครองสูงสุดได้มีหนังสือมายังคณะกรรมการคัดเลือกฯวันที่ 18 ต.ค. แจ้งคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของคณะกรรมการคัดเลือกฯให้พิจารณาเอกสารกล่องที่ 6 ข้อเสนอซองที่ 2 ด้านเทคนิค และกล่องที่ 9 ข้อเสนอซองที่ 3 ด้านราคา ที่ยื่นเอกสารช้าไป 9 นาที พร้อมกับรอคำตัดสินจากศาลปกครองสูงสุดจะพิจารณาตัดสินในวันที่ 4 พ.ย. หรือวันที่ 7 พ.ย.นี้ด้วย

คาดกลุ่มหมอเสริฐ-คีรีคว้าเค้ก

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ผลเปิดซองยังไม่ออกมาอย่างเป็นทางการ เพราะต้องรอผลพิจารณาราคาของกลุ่ม ซี.พี.ด้วย แต่จากการเปิดซองราคาของกลุ่มบีทีเอสและกลุ่มแกรนด์ฯ ทั้ง 2 รายเสนอผลตอบแทนให้รัฐเกินจากกรอบที่กำหนด 59,244 ล้านบาท แต่กลุ่มบีทีเอสเสนอผลตอบแทนให้รัฐมากที่สุดอยู่ที่ประมาณ 3 แสนล้านบาท ส่วนกลุ่มแกรนด์ฯอยู่ที่ประมาณ 1.1 แสนล้านบาท ขณะที่กลุ่ม ซี.พี.มีกระแสข่าวออกมาว่าเสนออยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท หากดูวงเงินที่ออกมา มีความเป็นไปได้สูงที่กลุ่มบีทีเอสจะเป็นผู้ชนะ แต่หลังศาลมีคำสั่งทุเลายังไม่รู้ว่าจะมีอะไรพลิกอีกหรือไม่ เพราะโครงการนี้กลุ่ม ซี.พี.ต้องการจะเป็นผู้ชนะเพื่อสนับสนุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่เซ็นสัญญาไปเมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็น 1 ใน 5 โครงการขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลกำลังเร่งรองรับการลงทุนในอีอีซี บนพื้นที่ 6,500 ไร่ โดยรัฐจะลงทุนงานโยธากว่า 1 หมื่นล้านบาท มีรันเวย์ที่ 2 หอบังคับการบินแห่งที่ 2 ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ระยะแรก 500 ไร่ ลานจอดอากาศยานสำหรับซ่อมบำรุงอากาศยาน ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศ สาธารณูปโภค เช่น โรงผลิตไฟฟ้า น้ำประปา บำบัดน้ำเสีย

ส่วนเอกชนลงทุน 2.7 แสนล้านบาทคือ 1.อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 รับผู้โดยสารสูงสุด 60 ล้านคนต่อปี 2.ศูนย์ขนส่งภาคพื้น ลานจอดรถ สถานีรถไฟความเร็วสูง ผู้ชนะต้องประสานงานกับผู้ชนะรถไฟความเร็วสูง 3.ศูนย์ธุรกิจการค้า 4.เขตประกอบการค้าเสรีและเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง 5.ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ และ 6.MRO ระยะที่ 2 ส่วนพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ผู้ชนะสามารถเพิ่มเติมได้ โดยใช้แผนแม่บทที่กองทัพเรือทำไว้เป็นแนวทาง ซึ่งเอกชนสามารถปรับแก้หรือเพิ่มเติมสิ่งที่คาดว่าจะทำให้สนามบินได้รับประโยชน์สูงสุดได้ เพียงแต่ให้คงส่วนของรันเวย์ที่ 2 ทางขับ ศูนย์ซ่อมอากาศยานของการบินไทย (MRO) และพื้นที่สาธารณูปโภคไว้ตามเดิม