ใช้โมเดลญี่ปุ่นคลอด “ใบขับขี่รถไฟฟ้า” ป้อน 1,930 คนเข้าระบบ เผย”ซี.พี.”เปิดศูนย์ฝึกอบรมได้

“คมนาคม” ยังไม่เคาะกำหนดโทษ “เพิกถอน-พักใช้” ใบขับขี่รถไฟฟ้า เพราะกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องยังไม่บังคับใช้ เผยต้องให้ พ.ร.บ.กรมรางประกาศใช้ก่อน คาดจะใช้ได้ใน 1 ปี “กรมราง” วางเป้าคนขับ 1,930 คนเข้าระบบ ชี้ ซี.พี.ตั้งศูนย์ฝึกอบรมขับรถไฟฟ้าได้ตามบทเฉพาะกาล

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคมหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง เปิดเผยว่า คณะทำงานจัดทำหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตขับรถไฟฟ้า มีการหารือกันถึงประเด็นการกำหนดความผิดที่เข้าข่าย “พักใช้ใบอนุญาต” และ “เพิกถอน” ใบอนุญาต

โดยมีมติร่วมกันว่า การพักใช้ใบอนุญาต มีกำหนดพักใช้สูงสุด 1 ปี ส่วนการเพิกถอนใบอนุญาต เมื่อมีการเพิกถอนแล้ว จะไม่สามารถขออนุญาตทำใบขับขี่ใบใหม่ได้เป็นเวลา 3 ปี หลังจากนั้นจึงจะขอใบอนุญาตใหม่

ซึ่งจะต้องเข้ารับการฝึกอบรมใหม่อีกครั้งก่อนจะได้รับใบขับขี่ใหม่ ส่วนลักษณะโทษที่เข้าพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต ได้ให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ไปพิจารณารายละเอียดต่อไป

อีกเรื่องที่หารือกันคือ การรับรองหลักสูตรการอบรมพนักงานขนส่งทางราง โดยมีสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เป็นที่ปรึกษาให้กับกรมราง จะมีการร่างกฎกระทรวงที่จะครอบคลุม ใน 4 หมวดด้วกัน

คือ 1.การรับรองสถาบันการอบรม 2.การรับรองหลักสูตรการอบรมของผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ 3.การรับรองสถาบันและหลักสูตรอบรมจากต่างประเทศ เนื่องจากระบบรถไฟฟ้าจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาตลอด จึงต้องอาศัยการฝึกอบรมจากต่างประเทศก่อนเป็นสำคัญ และ 4.การรับรองครูฝึกและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

จาก 4 หมวดนี้ ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การร่างกฎกระทรวงที่จะปฏิบัติได้ โดยร่างกฎกระทรวงจะให้อำนาจกรมราง เพื่อรับรองหลักสูตรต่างๆของสถาบัน ผู้ขอใบอนุญาต และครูฝึก ซึ่งรูปแบบจะเหมือนกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.)

โดยกระบวนการออกร่างกฎกระทรวง จะต้องรอร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ซึ่งเป็นกฎหมายแม่ประกาศใช้ก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา จากนั้นจึงจะส่งกลับมาที่รัฐบาลเพื่อสอบถามความเห็นกระทรวงคมนาคม ถ้าไม่มีก็จะเสนอต่อไปที่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อลงมติรับรองเป็นกฎหมายประการใช้ต่อไป

“คาดว่า พ.ร.บ.จะประกาศใช้ได้ภายในปีนี้ แต่อีกด้านหนึ่งกรมรางก้ได้เตรียมร่างกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.ไว้แล้ว เมื่อ พ.ร.บ.ประกาศก็จะทยอยออกประกาศกฎกระทรวงต่อไป ซึ่งกฎกระทรวงที่จะต้องประกาศใช้มีจำนวน 74 ฉบับ”

ด้านนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า การออกใบขับขี่รถไฟฟ้า จะครอบคลุมระบบรถไฟ 6 ประเภท ได้แก่ รถจักรดีเซล รถจักรไอน้ำ รถจักรไฟฟ้า รถไฟฟ้า (EMU) แทรม-โมโนเรล และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งทั้ง 6 แบบ คาดว่าจะมีผู้ขับขี่รวมประมาณ 1,930 คน

ส่วนคุณสมบัติผู้ขับขี่ เบื้องต้นกำหนดไว้คร่าวๆ เช่น สัญชาติไทย อายุ 20 ปีขึ้นไป การศึกษาให้ทั้งผู้ที่จบอาชีวะและปริญญาตรี เป็นต้น โดยใบขับขี่จะมีอายุ 5 ปีไม่มีแบบตลอดชีพ ขณะที่หลักสูตรที่จะเอามาเปรียบเทียบจะใช้ของประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก แต่ต้องไปดูก่อนว่าแต่ละหน่วยงานที่จัดฝึกอบรมในขณะนี้เปิดสอนอะไรบ้าง ครบถ้วนหรือไม่

ถ้าไม่ครบก็จะมีการเสริมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ซึ่งทุกหน่วยงานที่มีศูนย์ฝึกอบรมอยู่แล้ว สามารถยกระดับขึ้นมาเป็นสถาบันฝึกอบรมได้ เหมือนโรงเรียนสอนขับรถ ซึ่งรายละเอียดอยู่ระหว่างร่างเป็นกฎกระทรวงอยู่

ส่วนกรณีที่กลุ่ม ซี.พี.จะพัฒนาศูนย์การเรียนรู้และความเป็นเลิศด้านระบบรางที่มักกะสันนั้น ต้องดูก่อนว่า ถ้าเป็นศูนย์เดิมของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่มีอยู่แล้ว บทเฉพาะกาลสามารถรับรองให้มีขึ้นมาก่อนได้

แต่คงเป็นระยะหนึ่งเท่านั้น เช่น ให้ประกอบกิจการไปในช่วงนี้ โดยจะมีการให้ใบอนุญาตอัตโนมัติ ทั้งนี้ จะต้องมีการประเมินคุณสมบัติความพร้อมทุกๆ 3-5 ปี แต่หากกลุ่ม ซี.พี.จะเพิ่มเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในสถาบันที่ตัวเองมี ก็ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

รายงานข่าวกล่าวว่า กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการออกใบขับขี่รถไฟฟ้ามี 4 ฉบับ ประกอบด้วย 1.กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการขอ การออก การขอต่ออายุ การขอใบแทน และอายุของใบอนุญาตเป็นพนักงานขับรถขนส่งทางราง 2.กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ว่าด้วยการรับรองสถาบันและหลักสูตรการฝึกอบรมผู้ประจำหน้าที่ 3.กฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตเป็นพนักงานขับรถขนส่งทางราง และ 4.ระเบียบกรมการขนส่งทางรางกำหนดวินัยในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประจำหน้าที่