คมนาคมหั่นหมื่นล้าน เบรกประมูล “ซ่อมสร้างถนน” ระดมเงินคืนรัฐบาลช่วยชาติ

ผ่านการอนุมัติจาก “ครม.-คณะรัฐมนตรี” ไปแล้วเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2563 สำหรับการปรับลดงบประมาณปี 2563 ทุกกระทรวง 10% เพื่อให้รัฐบาลนำไปใช้ในการสู้ภัยโควิด-19 ล่าสุดยอดรวมที่สำนักงบประมาณรวบรวมได้อยู่ที่จำนวน 100,395 ล้านบาท

ในนี้มีของกระทรวงคมนาคม ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการตัดงบฯโครงการผูกพันลง 5% และส่งคืนงบฯของโครงการที่ยังไม่เปิดประมูล ถูกตัดมากสุด คือ 2 กรมถนน ทั้งกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ส่วนที่เหลือกระจายไปใน 13 หน่วยราชการ แต่ยืนยันไม่กระทบแผนการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า กรมทำรายละเอียดปรับลดงบประมาณปี 2563 ลง 10% เพื่อนำไปช่วยรัฐบาลแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 เสนอไปยังกระทรวงคมนาคมพิจารณาก่อนเสนอให้สำนักงบประมาณพิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งสามารถลดลงได้ 7,200 ล้านบาท จากงบฯลงทุนใหม่ 72,000 ล้านบาท เป็นไปตามเป้าที่สำนักงบประมาณให้กรมดำเนินการ

ทล.เบรกประมูลถนนช่วยโควิด

โดยโครงการที่ปรับลดงบประมาณ แบ่งเป็น 2 ส่วน รวม 300 กว่าโครงการ แยกเป็นโครงการใหม่ขนาดใหญ่ผูกพัน 2-3 ปี จำนวน 106 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นงานก่อสร้างถนน 4-8 ช่องจราจร ทั่วประเทศและในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะตัดงบฯไป 5% ทุกโครงการ คิดเป็นวงเงินประมาณ 3,700 ล้านบาท ซึ่งสำนักงบประมาณจะจัดสรรงบฯถูกตัดไปคืนให้ในปี 2565

Advertisment

และโครงการที่ประมูลไม่ทัน จะเป็นโครงการขนาดเล็กใช้เวลาดำเนินการ 1 ปี ตามแผนการเบิกจ่ายจะต้องประมูลและเซ็นสัญญาภายในวันที่ 31 พ.ค.นี้ มีอยู่กว่า 230 โครงการ วงเงินประมาณ 3,500 ล้านบาท ที่ส่งให้สำนักงบประมาณพิจารณาตัดออกจากงบประมาณปี 2563 เป็นโครงการบำรุงรักษาทาง อำนวยความปลอดภัยและเพิ่มประสิทธิภาพถนนเดิม

“ครั้งแรกกรมปรับลดงบฯได้ 4,100 ล้านบาท แต่สำนักงบประมาณให้พิจารณาตัดอีก กรมจึงนำโครงการขนาดเล็กที่ประมูลไม่ทันก่อนวันที่ 7 เม.ย.ที่รัฐบาลมีนโยบายออกมา ส่งให้สำนักงบประมาณพิจารณาตัดเพิ่มอีกกว่า 200 โครงการ คิดเป็นวงเงินกว่า 3,000 ล้านบาท จากเดิมตัดไปแล้ว 30 โครงการ วงเงิน 400 ล้านบาท”

ชงกู้ซ่อมถนน 2 พันโครงการ

นายสราวุธกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กรมยังเตรียมโครงการพร้อมดำเนินการก่อสร้างยื่นของบประมาณที่รัฐบาลจะออกเป็น พ.ร.ก.กู้เงิน จำนวน 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่ วงเงิน 400,000 ล้านบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนทั่วประเทศ

เป็นโครงการซ่อมสร้างถนนใช้เวลาดำเนินการ 1 ปี จำนวนกว่า 2,000 โครงการ วงเงิน 30,000-40,000 ล้านบาท เป็นโครงการที่มีความจำเป็น ซึ่งกรมได้ยื่นขอจัดสรรงบประมาณปี 2564 แต่ไม่ได้รับจัดสรร กรมจะนำเสนอขอใช้เงินกู้

Advertisment

ลุ้นผ่อนเกณฑ์โครงการใหญ่

ส่วนโครงการขนาดใหญ่เกิน 1,000 ล้านบาท รอดูหลักเกณฑ์จากสำนักงบประมาณจะให้ดำเนินการหรือไม่ จะเป็นโครงการขยายถนน 4 ช่องจราจรเป็นหลัก เพราะเป็นโครงการที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว และเป็นแกนหลักด้านโลจิสติกส์ของประเทศ จะเป็นโครงการที่กรมขอเสนอจัดสรรงบประมาณของปี 2564 แต่ไม่ได้รับอนุมัติเช่นกัน จากทั้งหมดที่กรมเสนอคำขอไป 188 โครงการ วงเงิน 137,055 ล้านบาท ได้รับจัดสรร 120 โครงการ วงเงินกว่า 60,000 ล้านบาท ยังเหลืออีก 68 โครงการ วงเงินกว่า 60,000-70,000 ล้านบาท กรมจะปัดฝุ่นโครงการนำมาเสนอของบประมาณจากเงินกู้แทน

“กรมยังไม่ได้รับการประสานจากสำนักงบประมาณ แต่ก็เตรียมโครงการที่พร้อมเพื่อเสนอของบประมาณ หากได้รับอนุมัติก็เปิดประมูลก่อสร้างได้ทันที”

ไม่กระทบงานใหญ่ปี’64

นายสราวุธกล่าวอีกว่า สำหรับงบประมาณปี 2564 กรมเสนอคำขอไปประมาณ 280,000 ล้านบาท คาดว่าจะได้รับจัดสรรประมาณ 120,000 ล้านบาท เท่ากับปี 2563

ทั้งนี้ จากมติ ครม. ให้ตัดงบฯลงทุนปี 2564 กรมปรับลดเสร็จแล้วจำนวน 289 ล้านบาท แยกเป็นงบฯดำเนินงาน ค่าสัมมนา อบรม และประชาสัมพันธ์ ลงอีก 25% จำนวน 39 ล้านบาท จาก 154 ล้านบาท และปรับลดจัดซื้อครุภัณฑ์ 50% จำนวน 250.5 ล้านบาท จากที่ได้รับจัดสรร 501 ล้านบาท

“ลดงบฯลงทุน 25-50% ยังไม่กระทบโครงการลงทุนขนาดใหญ่และค่าเวนคืนที่ดิน เพราะกรมตัดงบฯโครงการของปี 2563 ไปแล้ว แต่ถ้าสถานการณ์โควิด-19 ลากยาวอีก 5-6 เดือน เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น หากเงินที่ตัดไปไม่พอ รอดูว่าจะมีนโยบายให้ตัดงบฯปี 2564 เพิ่มอีกหรือไม่”

ทช.เฉือน 2 พันล้านช่วยอีกแรง

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า จากการหารือภายในของกระทรวง กรมได้เสนอตัดงบประมาณปี 2563 เพื่อช่วยโควิด-19 จำนวน 2,053 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.46% ของงบประมาณที่ได้รับจัดสรรที่ 46,000 ล้านบาท จะเป็นส่วนของงบฯลงทุนปีเดียวเป็นงานซ่อมบำรุง จำนวน 419 โครงการ และเป็นโครงการที่อยู่ในขั้นตอนรอเซ็นสัญญาและบางส่วนยังอยู่ขั้นตอนประมูล

“แม้กรมจะเสนอให้ตัดไป 2,053 ล้านบาท น่าจะถูกสำนักงบประมาณตัดบางส่วนเพิ่มเติม ขณะนี้กรมกำลังหาแนวทางรับมือกับแผนงานที่เปลี่ยนแปลง เพราะการตัดงบฯจะกระทบกับงบฯลงทุนของกรมเป็นอย่างมาก ตามปกติงบฯลงทุนจะอยู่ที่ 97% ของบประมาณ โดยอาจจะปรับให้แผนงานในส่วนที่ถูกตัดออกไป โยกไปไว้ในงบฯปี 2565 แทน”

นายปฐมกล่าวอีกว่า เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงบประมาณ ก็ถูกตัดงบฯลงทุนส่วนครุภัณฑ์ 50% และงบฯ รายจ่ายประจำที่เกี่ยวกับการจัดงานสัมมนา การฝึกอบรม การประชาสัมพันธ์ การจ้างที่ปรึกษา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศอีก 25% รวมแล้วประมาณ 500 ล้านบาท

กระทบงานใหญ่ 3 โครงการ

ซึ่งในปี 2564 กรมได้รับจัดสรรกรอบงบประมาณที่ 49,900 ล้านบาท เป็นงบฯลงทุน 45,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 95% ของงบประมาณทั้งหมด และในส่วนนี้เป็นงบฯลงทุนปีเดียว 37,000 ล้านบาท เพื่อซ่อมบำรุงรักษาถนนทั่วประเทศ หากถูกตัดงบฯลงไป 50% จะเหลืองบประมาณเพียง 18,500 ล้านบาท

“การลดงบฯจะมีผลต่อของบฯลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท ของกรมในปี 2564 มีโครงการก่อสร้างถนน 3 โครงการ รวม 4,100 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการ จ.ปราจีนบุรี วงเงิน 1,800 ล้านบาท โครงการ จ.เชียงราย วงเงิน 1,300 ล้านบาท และโครงการ จ.มุกดาหาร วงเงิน 1,000 ล้านบาท จะถูกทบทวนใหม่ กรมกำลังประสานไปยังสำนักงบประมาณ หารือถึงการปรับสัดส่วนงบฯลงทุนใหม่”

นายทวี เกศิสำอาง อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า งบฯ 2563 กรมได้รับ 5,600 ล้านบาท จะตัดไปช่วยโควิด-19 ประมาณ 300 ล้านบาท เป็นงบฯประจำและงบฯผูกพันใหม่ ทั้งนี้ในส่วนของงบฯปี 2564 ที่ ครม.ให้ตัด 50% กรมอยู่ระหว่างพิจารณาร่วมกับสำนักงบประมาณ จะเป็นงบฯจัดซื้อครุภัณฑ์

ซึ่งปี 2564 กรมได้รับจัดสรรงบประมาณกว่า 6,000 ล้านบาท จะไม่กระทบกับงบฯลงทุนด้านการก่อสร้างโครงการใหญ่ มี 2 โครงการ ได้แก่ 1.ขยายความยาวรันเวย์ สนามบินบุรีรัมย์ เป็น 2,990 เมตร วงเงิน 900 ล้านบาท และขยายความยาวรันเวย์ สนามบินตรัง จาก 2,100 เมตร เป็น 2,990 เมตร วงเงิน 2,000 ล้านบาท

สะเทือนทางคู่-รถไฟไทยจีน

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า งบฯที่ใช้ไม่ทันในปี 2563 จะส่งคืนให้สำนักงบประมาณเพื่อช่วยโควิด-19 ซึ่งไม่มาก ประมาณหลัก 100 ล้านบาท เพราะได้รับจัดสรรงบฯจากรัฐบาลประมาณ 1,000 ล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากงบฯลงทุนของ ร.ฟ.ท.จะมาจากเงินกู้เป็นหลัก

โดยงบฯที่จะส่งคืน เช่น งบฯจ้างที่ปรึกษาสำรวจเวนคืนที่ดินรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร วงเงิน 60 ล้านบาท ค่าเวนคืนรถไฟไทย-จีน กรุงเทพฯ-นครราชสีมา เป็นต้น ส่วนงบฯปี 2564 อยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งหากโครงการไหนที่ยังไม่เซ็นสัญญาก็ชะลอออกไปก่อน

ด้าน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลและตัวเลขทั้งหมดที่จะลดงบฯลงทุนตามมติ ครม. โดยได้เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานสรุปข้อมูลให้ได้โดยเร็วในภาพรวมของกระทรวงแล้ว ไม่กระทบกับงบฯลงทุนโครงการขนาดใหญ่ แต่จะมีกระทบบ้างเฉพาะงบฯลงทุนปีเดียว แต่หากโครงการไหนที่ลงนามผูกพันงบประมาณไปแล้วจะไม่ถูกตัด