รัฐหมดเงิน “สายสีแดง-ทางคู่” ดึงเอกชนลงทุนแลกสัมปทาน

เป็นเป้าหมายของ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” นับจากก้าวแรกเริ่มเข้ามานั่งเบอร์ 1 กระทรวงคมนาคม กับแนวคิดการเปิดให้เอกชนร่วมเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต และเดินรถขนส่งสินค้า

ล่าสุดเสนอไอเดียให้ “บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี พิจารณาและสั่งกรมการขนส่งทางราง และสำนักงานโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษารายละเอียดให้เสร็จใน 1 เดือน

เปิด PPP ทั้งก่อสร้าง-เดินรถ

“ศักดิ์สยาม” กล่าวว่า การเปลี่ยนรูปแบบเดินรถสายสีแดงจากให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) บริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นผู้เดินรถและเป็นผู้เปิด PPP ให้เอกชนร่วมลงทุนโมเดลเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีส้มที่เอกชนจะลงทุนงานก่อสร้างและรับสัมปทานเดินรถ เนื่องจากตอนนี้รัฐบาลต้องนำเงินงบประมาณไปแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ก่อน

“การที่ PPP จะช่วยรัฐประหยัดเงินได้ และเรื่องนี้ตนได้ปรึกษากับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งก็เห็นด้วย หากดำเนินการตามแผนที่เสนอจะช่วยประหยัดงบฯได้ถึง 60,000-70,000 ล้านบาท จึงได้มอบให้การรถไฟฯและกรมการขนส่งทางรางศึกษารูปแบบลงทุนให้เสร็จภายใน 1 เดือน”

รวบสัมปทานเดียวทั้งโครงข่าย

โดยจะเปิดให้เอกชนร่วม PPP 6 งาน ได้แก่ 1.ค่างานก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นของช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่ผู้รับเหมาทั้ง 3 สัญญา ขอวงเงินเพิ่มเติม 10,345 ล้านบาท จากเดิมจะใช้เงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) แต่ภาระงานอยู่นอกเงื่อนไขไจก้าจึงไม่อนุมัติเงินกู้ หากไม่รวมใน PPP ร.ฟ.ท.จะต้องใช้เงินกู้โดยใช้วิธีเปิดประกวดราคาตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ตรวจสอบเนื้องานที่เพิ่มขึ้น

งานก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีแดงทั้งหมดรวม 67,575 ล้านบาท ได้แก่ รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ 6,570.40 ล้านบาท, ตลิ่งชัน-ศาลายา 10,202 ล้านบาท ตลิ่งชัน-ศิริราช 6,645 ล้านบาท และ ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และบางซื่อ-หัวลำโพง 44,157.76 ล้านบาท และงานระบบกว่า 32,000 ล้านบาท เอกชนรับสัมปทานเดินรถและแบ่งรายได้ให้รัฐ

“ให้รถไฟชะลอประกาศร่าง TOR ประมูลส่วนต่อขยายออกไปก่อน รอเปิดให้เอกชนประมูลทั้งโครงการ”

เสนอ คนร.ใน 1 ปี

ทั้งนี้จะต้องเสนอแก้มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) วันที่ 15 พ.ค. 2562 ที่ให้ รฟฟท.เพิ่มพันธกิจการเดินรถและซ่อมบำรุงสายสีแดง จะใช้เวลา 1 ปี กระทบการเปิดให้บริการจากเดิมเดือน ม.ค. 2564 เป็นปี 2565

“บทบาทของ รฟฟท.อาจจะให้บริหารการเดินเส้นทางอื่น และให้เปลี่ยนบทบาทเหมือนที่ ขสมก.เปลี่ยนพนักงานเก็บค่าโดยสารมาเป็นพนักงานขับรถ”

ดันเป้าขนส่งรางทะลุ 13 ล้านตัน

นายศักดิ์สยามยังกล่าวถึงการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีทางรถไฟครอบคลุมแล้ว 47 จังหวัด รวม 4,044 กม. แบ่งเป็นสายใต้ 1,570 กม. อีสาน 1,094 กม. เหนือ 781 กม. ตะวันออก 534 กม. และสายแม่กลอง 65 กม. และเป็นรถไฟทางเดี่ยว

“รถไฟของประเทศยังใช้เทคโนโลยีระบบอาณัติสัญญาณล้าสมัย ยังใช้หัวรถจักรประเภทดีเซลต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วจะใช้หัวรถจักรไฟฟ้า และสภาพขบวนรถเก่ามีอายุใช้งานมานานกว่า 30 ปี คนไม่นิยมใช้บริการ”

จากการที่รัฐบาลมีแผนพัฒนาทางคู่ต่อเนื่องตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว จะตั้งเป้าต้องเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางให้เป็น 30% คิดเป็นปริมาณสินค้า 13.2 ล้านตัน จากปี 2561 ที่มีสัดส่วนเพียง 1% หรือคิดเป็นปริมาณสินค้า 10.2 ตัน

ดึงเอกชนร่วมเดินรถ

แนวทางดำเนินการ 1.เพิ่มประสิทธิภาพด้านความจุและความปลอดภัย 2.ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณแบบ ETCS 3.สนับสนุนให้เอกชนเข้ามาร่วมเดินรถ ตอนนี้ ร.ฟ.ท.มีสลอตเส้นทางที่เหลืออยู่มากและนำมาใช้ในการเดินรถได้ไม่เท่าไหร่ จะทำให้เกิดการแข่งขัน 4.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์กองเก็บตู้สินค้าและสถานีขนถ่ายสินค้า และ 5.พัฒนาบุคลากรขยายโรงเรียนฝึกอบรมบุคลากรด้านเดินรถ เช่น ช่างเครื่อง พนักงานขับรถ

“ให้ สนข. กรมการขนส่งทางราง และ ร.ฟ.ท. ทำ action plan ให้เสร็จใน 1 เดือน ต้องระบุกรอบเวลาให้ชัดเจนและขอ คนร.เร่งรัดออกกฎหมายลูก พ.ร.บ.การร่วมทุนฯ 2562 ที่จะมากำกับการดำเนินการที่เกี่ยวกับกิจการรถไฟ”

คืบหน้าทางคู่ประเทศไทย

ขณะที่ความคืบหน้าทางคู่เฟสแรกสร้างเสร็จ 2 โครงการ 293 กม. ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย 106 กม. และจิระ-ขอนแก่น 187 กม. อยู่ระหว่างสร้าง 5 โครงการ รวม 700 กม. ได้แก่ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 132 กม., ลพบุรี-ปากน้ำโพ 148 กม., นครปฐม-หัวหิน 169 กม., หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ 84 กม. และประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 167 กม. และอยู่ระหว่างประมูล 2 โครงการ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม 355 กม. และช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 323 กม. โดยเป็นทางคู่สายใหม่

ส่วนทางคู่เฟส 2 อีก 7 เส้นทาง รวม 1,483 กม. วงเงิน 272,219.14 ล้านบาท รอเสนอ ครม.อนุมัติโครงการได้แก่ ขอนแก่น-หนองคาย 167 กม. 26,663 ล้านบาท, จิระ-อุบลราชธานี 308 กม. 37,527.10 ล้านบาท, ปากน้ำโพ-เด่นชัย 285 กม. 62,859.74 ล้านบาท, เด่นชัย-เชียงใหม่ 189 กม. 56,837.78 ล้านบาท, ชุมพร-สุราษฎร์ธานี 168 กม. 24,294.39 ล้านบาท, สุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา 321 กม. 57,375.43 ล้านบาท และหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ 45 กม. 6,661.37 ล้านบาท

แจกสัมปทาน-ลดภาระรัฐ

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า การเพิ่มบทบาทเอกชนเดินรถสายสีแดง เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ให้ซ้ำรอยแอร์พอร์ตลิงก์ และมีรายได้เพื่อมาชดเชยเงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาทที่มีการเพิ่มค่าก่อสร้างมา 5 ครั้ง ซึ่งผลการศึกษาสายสีแดงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิตในปีที่ 17 จะขาดทุน 4,500 ล้านบาท ต้องมีการบริหารจัดการที่ดีถึงจะไปรอดและไม่เป็นภาระงบประมาณรัฐบาล

“ผู้ประกอบการเดินรถไฟฟ้าในประเทศที่มีศักยภาพมี 2 ราย คือ BTS และ BEM ส่วนแอร์พอร์ตลิงก์มีกลุ่ม ซี.พี.เป็นผู้บริหาร ยังไม่ทราบว่าจะรับโอนพนักงานทั้งหมดเลยหรือไม่”

ขณะที่การเดินรถทางคู่ด้วยหัวรถจักรไฟฟ้า มีเอกชนรายใหญ่สนใจหลายราย หลัง ร.ฟ.ท.ประเดิมทดสอบความสนใจ จะเปิดประมูล PPP net cost สัมปทาน 30-50 ปี ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน 2562 โครงการเดินรถขนส่งสินค้าทางรถไฟเส้นทางหนองคาย-ขอนแก่น-บัวใหญ่-แก่งคอย-คลอง 19-แหลมฉบัง 676 กม. วงเงิน 30,000 ล้านบาท อาทิ บมจ.ราช กรุ๊ป บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ บมจ.ปตท. บมจ.อิตาเลียนไทยฯ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งฯ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บจ.รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน บจ.ไชน่า ฮาร์เบอร์ เป็นต้น

คาดว่าจะมี 3 กลุ่มใหญ่สนใจ คือ กลุ่ม ซี.พี. และพันธมิตรจากจีน กลุ่มบีทีเอส และกลุ่มทุนจากจีนและญี่ปุ่น