“ศักดิ์สยาม” โด๊ปลงทุน 3 แสนล้าน ปลดหนี้รถไฟ-ขสมก.

เดินหน้าลงทุน - โครงการลงทุนใช้งบประมาณประจำปีและงบลงทุนจากรัฐวิสาหกิจของกระทรวงคมนาคม ล่าสุด "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมยืนยันจะยังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมอเตอร์เวย์ทั่วไทยที่อยู่ในแผนงาน หลังเปิดทดลองใช้สายพัทยา-มาบตาพุด ไปเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมาเชื่อมการเดินทางกรุงเทพฯ-อีอีซี

โควิด-19 คลี่คลาย “ศักดิ์สยาม” ลุยลงทุนคมนาคม 3 แสนล้าน ฟื้นเศรษฐกิจ-ความเชื่อมั่น เร่งปั๊มเบิกจ่ายงบปี”63 ให้เข้าเป้า เดินหน้าประมูลบิ๊กโปรเจ็กต์ ดึงเอกชนร่วม PPP ปีนี้ ยื่นซองรถไฟฟ้าสายสีส้ม ปิดจ๊อบรถไฟไทย-จีน 1.79 แสนล้าน ยกเครื่อง 2 รัฐวิสาหกิจ ลุ้น คนร.เคาะฟื้นฟูหนี้ ขสมก.แสนล้าน 8 มิ.ย.นี้รื้อโมเดลพัฒนาอู่บางเขน-มีนบุรี สร้างรายได้ รับรถไฟฟ้า คิวต่อไปการรถไฟ สั่งผู้ว่าฯทำแผนหาทางล้างหนี้ด่วน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังสถานการณ์การโควิด-19 คลี่คลาย กระทรวงจะเร่งรัดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจจากภายในและสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนจากต่างประเทศ โดยเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 วงเงิน 208,317 ล้านบาท ให้ได้ 100% ในเดือน ก.ย.นี้ ส่วนงบลงทุนอีก 170,524 ล้านบาท กำชับไปยังรัฐวิสาหกิจต้องเร่งดำเนินการ เช่น โครงการอาคารผู้โดยสารด้านเหนือ สนามบินสุวรรณภูมิ วงเงิน 42,000 ล้านบาท ของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) รอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (สศช.) อนุมัติ

ยังเร่งเซ็นสัญญางานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ยังติด EIA 4-5 สัญญา โดยทั้ง 14 สัญญา งานไหนพร้อมให้เซ็นสัญญาไปก่อนไม่ต้องรอพร้อมกัน ส่วนสัญญาที่ 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล จัดหาขบวนรถ วงเงิน 50,633 ล้านบาท อยู่ระหว่างสรุปข้อมูลเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเซ็นสัญญากับฝ่ายจีนในเดือน ต.ค.นี้

“โครงการใหญ่จะให้เอกชนร่วมลงทุน PPP เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้ม กำลังจะเปิดประมูล หรือการเดินรถรถไฟฟ้าสายสีแดงให้ศึกษาให้เอกชนมาเดินรถ ลดภาระรัฐ ยอมรับโครงการลงทุน หลังเกิดโควิดต้องปรับงบประมาณ 2563-2564 ใหม่ ชะลอโครงการยังไม่ประมูลในปีนี้ นำงบใช้ป้องกันโรคก่อน โดยโอนงบฯให้แล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 2564 ได้ชะลองบฯจัดสัมมนาแต่โครงการลงทุนอื่นยังอยู่ครบทั้งบก ราง น้ำ และอากาศ”

ปิ๊งสร้าง “มอเตอร์เวย์ควบทางคู่”

สำหรับแผนพัฒนาโครงการมอเตอร์เวย์เชื่อมการเดินทางระหว่างเมือง อยู่ระหว่างทบทวนแผนแม่บทตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องจากแผนเดิมแนวซ้ำซ้อนกับถนนเดิม เช่น ถ.เพชรเกษม ถ.พหลโยธิน ถ.สุขุมวิท ถ.มิตรภาพ เกิดปัญหาเวนคืนที่ดินเหมือนสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ให้ขีดแนวใหม่และให้บูรณาการร่วมการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) สร้างมอเตอร์เวย์และรถไฟทางคู่ไปด้วยกัน เพื่อลดค่าเวนคืนที่ดิน

“กรมทางหลวงจะนำเงินกองทุนมอเตอร์เวย์สำรวจศึกษาออกแบบเส้นทางที่เหมาะสม รูปแบบ PPP ต่อไป”

สั่งศึกษาแลนด์บริดจ์ภาคใต้

ขณะที่การพัฒนาขนส่งทางน้ำ ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาโครงการรถไฟเชื่อมแลนด์บริดจ์และให้มีท่าเรือน้ำลึกอยู่ทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อให้เรือขนาดใหญ่สามารถเข้ามาขนส่งสินค้าได้

“วันนี้เราต้องกลับมาเร่งพัฒนาตัวเอง หลังอยู่กับที่นานเกินไปแล้ว ต้องอาศัยการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน มาพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทั้ง 4 มิติ บก ราง น้ำ และอากาศให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างตะวันออก-ตะวันตก”

ขณะเดียวกันยังคิดโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ผลักดันโครงการแบริเออร์คอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติบนเกาะกลางถนนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบททั่วประเทศ ลดแรงกระแทกรถวิ่งด้วยความเร็ว 120-130 กม./ชม. และลดอุบัติเหตุ จะใช้เวลาดำเนินการ 3 ปี (2563-2565) ระยะทางรวม 12,282 กม. วงเงินรวม 85,623 ล้านบาท คิดเป็นผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ 30,108 ล้านบาท จากการใช้แผ่นยางรวม 3 แสนตัน คำนวณเป็นน้ำยางได้ 1 ล้านตัน

8 มิ.ย.ลุ้น คนร.เคาะฟื้นฟู ขสมก.

อีกทั้งยังเร่งแผนฟื้นฟูการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีภาระหนี้กว่า 1 แสนล้านบาท ได้สั่งการนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.คนใหม่ให้เร่งโดยเร็ว แต่ตอนนี้ขอให้แผนขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) สำเร็จก่อน ในวันที่ 8 มิ.ย.จะเสนอแผนฟื้นฟู ขสมก.ให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พิจารณาอนุมัติ จากนั้นเดินหน้าตามแผนฟื้นฟู ออกประกาศทีโออาร์จัดหารถโดยสารเช่าปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น NGV EV เป็นการจ้างเอกชนวิ่งตามระยะทาง ระยะเวลา 30 ปี จำนวน 2,511 คัน

ยังมีปรับปรุงเส้นทางเดินรถใหม่ จากเดิม 269 เส้นทาง ให้เหลือ 108 เส้นทาง ลดความซับซ้อน ด้านอัตราค่าโดยสาร ขสมก.จะต้องออกเป็นตั๋ววัน 30 บาท นั่งได้ทุกสายทั้งวัน คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 2 ล้านคน คิดเป็นรายได้เฉลี่ยวันละ 60 ล้านบาท หากดำเนินการตามแผนนี้เชื่อว่า ขสมก.จะหลุดจากภาวะขาดทุนและมีกำไรก่อนจะหักค่าใช้จ่ายเป็นบวกใน 7 ปี

โยกหนี้แสนล้านให้รัฐ

ส่วนภาระหนี้ 127,000 ล้านบาท จะให้รัฐรับภาระแทนให้กลับไปตรวจสอบมูลหนี้ที่แท้จริงและประสานสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ช่วยตรวจสอบ ซึ่งวิธีการอาจจะใช้การออกพันธบัตร ทั้งนี้ ในส่วนของการลดภาระค่าใช้จ่าย จะเออร์ลี่พนักงานล่าสุดมีเปลี่ยนแปลงเป้าหมายจากเดิม 5,021 คน ใช้งบประมาณ 6,000 ล้านบาท เป็น 5,321 คน ใช้งบประมาณ 4,500 ล้านบาท เพราะช่วงที่ผ่านมามีรับสมัครพนักงานเพิ่ม ส่วนตำแหน่งที่ว่างจากการเกษียณจะเปิดให้จ้างเอาต์ซอร์ซจากเอกชนแทน

“ให้ ขสมก.ทำการบ้านเพิ่มเติมเรื่องบัญชีเจ้าหนี้และลูกหนี้ให้ชัดเจน ที่จะครบกำหนดชำระหรือต้องเจรจาเมื่อไหร่ เพื่อให้ทราบถึงสถานะการเงิน รายได้ รายจ่าย และสำรวจทรัพย์สินของ ขสมก.มีอะไรบ้าง รวมถึงให้กลับไปทำรายละเอียดการขอเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ (PSO) ในช่วง 7 ปี วงเงิน 9,000 ล้านบาท จะใช้ไปกับค่าใช้จ่ายส่วนใดบ้าง”

รีวิวพัฒนาที่ดินอู่บางเขน-มีนบุรี

อย่างไรก็ตาม ขสมก.มีที่ดินที่สามารถสร้างรายได้ระยะยาวได้ที่อู่บางเขน พื้นที่ 11 ไร่ และอู่มีนบุรีอีกประมาณ 10 ไร่ ให้ศึกษารูปแบบการลงทุน PPP และมูลค่าโครงการใหม่ ให้สะท้อนความเป็นจริงมากที่สุด เนื่องจากปัจจุบันมีรถไฟฟ้าพาดผ่าน การได้ผลตอบแทนกลับคืนมาน่าจะมากกว่าผลการศึกษาเดิม