รถไฟฟ้าสายสีส้ม: BTS งัดข้อ อิตาเลียนไทย ค้านใช้คะแนนเทคนิคตัดสินประมูล

รถไฟฟ้าสายสีส้ม

ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มเดือด BTS งัดข้อ อิตาเลียนไทย ค้านนำคะแนนเทคนิคชี้ชะตาผู้ชนะ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเกิดกรณี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ ส่งหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ให้พิจารณาปรับปรุงการประเมินข้อเสนอเพื่อหาผู้ชนะการคัดเลือกของโครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มบางขุนนนท์-มีนบุรี ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดให้เอกชนร่วมลวทุน PPP net cost 30 ปี ก่อสร้างช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม และรับสัมปทานเดินรถตลอดสาย วงเงิน 1.28 แสนล้านบาท จะเปิดให้ยื่นข้อเสนอวันที่ 23 ก.ย.นี้

โดยให้พิจารณาถึงปัจจัยและผลประโยชน์ด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อเสนอด้านเทคนิคการดําเนินงาน ความน่าเชื่อถือ ศักยภาพ และความสามารถของผู้ยื่นข้อเสนอ ไม่ใช่ข้อเสนอทางการเงินเพียงอย่างเดียว และขอให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนรัฐตามมาตรา 36 ด้วย

เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563 นายสุรพงษ์ เลาหัอัญญา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ได้ออกจดหมายด่วนถึงนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

สุรพงษ์ เลาหัอัญญา
สุรพงษ์ เลาหัอัญญา

โดยใจความระบุว่า จากการที่มีผู้ซื้อเอกสารทีโออาร์รายหนึ่งต้องการให้ปรับเปลี่ยนการประเมินข้อเสนอเกี่ยวกับผู้ที่ชนะการคัดเลือก โดยเสนอว่า ไม่ควรเอาข้อเสนอทางการเงินเป็นเกณฑ์ตัดสินใจเพียงอย่างเดียว แต่ควรเอาข้อเสนอทางเทคนิคร่วมพิจารณาด้วย

ทาง BTSC จึงมีข้อสอบถามข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เนื่องจากหากเป็นความจริง ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นสาระสำคัญเลย และไม่เคยมีการดำเนินการในลักษณะนี้กับโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) มาก่อน

นอกจากนั้น บริษัทเห็นว่าผู้ที่ยื่นข้อเสนอในโครงการนี้จะต้องผ่านเกณฑ์ต่างๆ ของ รฟม.ซึ่งจะต้องเป็นบริษัทหรือกลุ่มบริษัทที่มีศักยภาพและความเป็นไปได้ในการดำเนินการสูง ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่บริษัทที่ผ่านเกณฑ์จะไม่ทำตามข้อเสนอที่ได้ยื่นต่อ รฟม. อีกทั้งบริษัทที่ยื่นข้อเสนอยังต้องมีภาระรับผิดชอบค้ำประกันต่อ รฟม. ด้วย

ที่สำคัญการพิจารณาผู้ชนะการคัดเลือกโดยใช้ข้อเสนอทางเทคนิค ทั้งๆ ที่ได้มีการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาผู้ชนะการคัดเลือกมาแล้ว จะเป็นช่องทางที่ส่อไปในทางทุจริต ไม่เป็นธรรม และอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้

การพิจารณาผู้เสนอผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุดให้กับรัฐให้เป็นผู้ชนาการประมูล จึงจะเป็นการก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐโดยแท้และมีความโปร่งใสเป็นธรรมมากที่สุด

บริษัทจึงเห็นว่าเป็นการไม่สมควรถ้าจะมีการปรับแก้วิธีประเมินข้อเสนอดังกล่าว

นอกจากนี้ บริษัทเห็นว่าแม้การร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในครั้งนี้ จะไม่ใช่การจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานภาครัฐ แต่การยื่นต่อคณะกรรมการในข้อเท็จจริงข้างต้นเทียบเคียงได้ว่าเป็นการอุทธรณ์ ซึ่งแม้ไม่ได้มีกำหนดไว้ในกฎหมายร่วมลงทุนก็ตาม คณะกรรมการคัดเลือกควรต้องนำกฏกระทรวงการคลังกำหนดเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานภาครัฐที่ใช้สิทธิ์อุทธรณ์ไม่ได้ พ.ศ.2560 (2) มาใช้บังคับโดยอนุโลมและถือเป็นการอุทธรณ์ที่ไม่สามารถกระทำได้