ศิริราชทุ่ม 2 พันล้าน สร้างตึกผู้ป่วยนอกปีหน้า

บอร์ด ร.ฟ.ท.ไฟเขียว “ศิริราช” เช่าที่ดิน 30 ปี สถานีบางกอกน้อย 4.66 ไร่ วงเงิน 360 ล้าน ลงทุน 2 พันล้าน ผุด “ตึกผู้ป่วยนอก” สูง 15 ชั้น สร้างคร่อมสถานีรถไฟฟ้า 2 สาย “สีแดง-สีส้ม” รออนุมัติ EIA คาดตอกเข็มปีหน้าเสร็จปี’65

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.อนุมัติให้โรงพยาบาลศิริราชเช่าที่ดินบริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อย พื้นที่ 4.66 ไร่ หรือประมาณ 7,456 ตร.ม. เพื่อก่อสร้างเป็นอาคารสูง 15 ชั้นสำหรับรองรับผู้ป่วยนอก

โดยให้เช่าในระยะเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2593 ค่าเช่าในปีแรกอยู่ที่ 5,382,338 บาท และค่าเช่าจะมีการปรับขึ้น 5% ทุกปี คาดว่า ร.ฟ.ท.จะได้รับผลตอบแทนรวม 360 ล้านบาท ซึ่งราคานี้ได้หักส่วนลด 25% ที่ให้กับโรงพยาบาลศิริราชแล้ว เนื่องจากการก่อสร้างดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และเป็นไปตามระเบียบของ ร.ฟ.ท.

สำหรับอาคารดังกล่าวเป็นอาคารสูง 15 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวม 48,191 ตร.ม. จะสร้างคร่อมสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช-ศาลายา บริเวณชั้น 1-2 พื้นที่รวม 1,947 ตร.ม. ซึ่งจะเป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม

ส่วนพื้นที่เหลืออีก 46,244 ตร.ม. หรือตั้งแต่ชั้นที่ 3-15 จะเป็นพื้นที่ของโรงพยาบาลศิริราชทั้งหมด สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 10,000 ราย/วัน และมีสกายวอล์กยาว 100 เมตรเชื่อมตัวอาคารกับศูนย์บูรณาการความเป็นเลิศทางการแพทย์ศิริราช และโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์

“การก่อสร้างอาคารและสกายวอล์กนี้ทางโรงพยาบาลศิริราชจะออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ ร.ฟ.ท.จะนัดหมายกับโรงพยาบาลศิริราชเพื่อลงนามในสัญญาอย่างเป็นทางการต่อไป ส่วนความคืบหน้าของโครงการดังกล่าวขณะนี้โรงพยาบาลศิริราชออกแบบตัวอาคารเสร็จแล้ว และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้อนุญาตให้มีการก่อสร้างอาคารแล้ว

ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คาดว่ารายงาน EIA จะผ่านภายในปี 2563 นี้ และจะเริ่มการก่อสร้างได้ประมาณต้นปี 2564 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี หรือแล้วเสร็จในปี 2565

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่ก่อสร้างสถานีรถไฟสายสีแดง จะมีโครงสร้างใต้ดินร่วมกับสายสีส้ม มีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ล่าสุดทาง รฟม.ออกแบบเสร็จแล้วอยู่ระหว่างรอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วม 5 หน่วยงานประกอบด้วย โรงพยาบาลศิริราช, กระทรวงคมนาคม, ร.ฟ.ท., รฟม. และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ให้เป็นที่เรียบร้อยก่อน ซึ่งคณะทำงานชุดดังกล่าวเกิดจากการ MOU เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2562 และการตัดสินใจเรื่องโครงสร้างใต้ดินได้มอบให้เป็นอำนาจพิจารณาของคณะทำงานชุดดังกล่าวตามเงื่อนไขใน MOU ด้วย

“ตอนนี้ยังไม่สรุปว่าโครงสร้างใต้ดินที่ รฟม.จะก่อสร้าง ร.ฟ.ท.จะให้แบ่งปันผลประโยชน์อย่างไร อาจจะให้จ่ายเป็นค่าเช่าแล้วคิดระยะเวลาเช่าเหมือนที่อนุมัติให้โรงพยาบาลศิริราชก็ได้ หรือให้จ่ายค่าใช้สิทธิพื้นที่ใต้ดินครั้งเดียวก็ได้ ซึ่ง ร.ฟ.ท.กำลังพิจารณาอยู่ ทั้งนี้ ขอให้โรงพยาบาลศิริราชในฐานะแม่งานช่วยย้ำเตือนไปยังคมนาคมให้เร่งตั้งคณะทำงานดังกล่าวโดยด่วนเพราะ MOU 1 ปีแล้ว เพื่อจะได้รู้ว่าหน่วยไหนรับผิดชอบอะไรบ้าง” แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า โครงการอยู่ระหว่างรออนุมัติ EIA คาดว่าจะได้รับการอนุมัติและเปิดประมูลก่อสร้างภายในสิ้นปีนี้ และเริ่มการก่อสร้างได้ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป ใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท ออกแบบเสร็จแล้ว เป็นอาคารสูง 15 ชั้น บริเวณชั้น 1-2 เป็นสถานีรถไฟฟ้า จากนั้นถึงจะเป็นงานในส่วนของอาคาร ซึ่งโครงการดังกล่าวจะทำให้ผู้ป่วยที่ไม่ต้องนอนค้างเดินทางมาใช้บริการโรงพยาบาลสะดวกมากยิ่งขึ้น