รฟม.แจงเกณฑ์ประมูลคัดเลือกเอกชน ลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้ม

รถไฟฟ้าสายสีส้ม

รฟม. ตั้งโต๊ะแจงยิบ ยันมีอำนาจเปลี่ยนเกณฑ์คัดเลือก “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” กาง “พ.ร.บ.ร่วมทุน-RFP-กม.ลูก พ.ร.บ.ร่วมทุน” ให้อำนาจ ชี้ไม่เจาะจงประสบการณ์อุโมงค์ลอดแม่น้ำ แย้มใช้ผลงานผู้รับจ้างยื่นเสนอได้ ย้ำไม่มีใครเสียเปรียบเพราะยืดเวลาเพิ่มให้แล้ว 45 วัน ลุ้นศาลปกครองคุ้มครองบีทีเอสหรือไม่ หวั่นกระทบไทม์ไลน์

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 25 ก.ย. 2563 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า กรณีที่มีการคัดค้านการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทางรวม 35.9 กม. วงเงินรวมงานอาณัติสัญญาณ 142,789 ล้านบาท

จากเดิมตัดสินที่การเสนอราคาต่ำสุดเป็นพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคควบคู่กับด้านราคานั้น ถือเป็นสิทธิ์ที่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 และ รฟม.ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการสามารถทำได้ และมีตัวอย่างโครงการที่เคยดำเนินงานในลักษณะมาแล้ว เช่น โครงการทางด่วนขั้นที่ 2 และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง -บางซื่อ เป็นต้น

ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ
ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ

โดยสัดส่วนเกณฑ์การตัดสินกำหนดให้เป็นคะแนนด้านราคา 70% (ราคาเสนอ 60% ความสมเหตุสมผลของราคา 10%) และเทคนิค 30% ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกจะมีการตั้งเกณฑ์ที่ชัดเจนขึ้น เพื่อกำหนดเป็นคะแนนในแต่ละด้านอีกรอบหนึ่งภายหลังที่เอกชนยื่นซองแล้ว ยืนยันว่าไม่มีการใช้ดุลยพินิจเกินขอบเขตในการพิจารณาคัดเลือก

“อิตาเลียนไทย” ยื่นค้านในเวลา

ทั้งนี้ การที่ บมจ.อิตาเลียนไทยดีเวล็อปเมนต์ ส่งหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และ รฟม.ให้เปลี่ยนแปลงเกณฑ์อยู่ในข่วงกำหนดถาม-ตอบพอดี ไม่ได้ทำหลังพ้นระยะเวลาดังกล่าวแต่อย่างใด และการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ไม่ต้องเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาปรับเปลี่ยน เพราะถือเป็นอำนาจของคณะกรรมการมาตรา 36 และ รฟม.ที่สามารถทำได้

เปิดทางใช้ประสบการณ์ผู้รับจ้างได้

ส่วนการระบุว่า การนำคุณสมบัติด้านเทคนิคมาเพิ่มเป็นการล็อกสเปกเอกชนบางรายนั้น ในร่าง RFP ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ก่อสร้างอุโมงค์แบบลอดผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาแต่อย่างใด เพียงแต่กำหนดไว้สั้นๆ ว่าให้เป็นผู้มีประสบการณ์ก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินแบบหัวเจาะ (Underground Tunnel by Tunnel Boring Machine) ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางภายในไม่น้อยกว่า 5 เมตร

พบว่ามีผู้ประกอบการที่ประสบการณ์ทำอุโมงค์ดังกล่าวประมาณ 4-5 ราย ยังไม่นับรวมผู้รับเหมาจากต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น และในโซนยุโรป โดยทางผู้ซื้อซองสามารถใช้ประสบการณ์ของผู้รับจ้างมาเพิ่มเติมลงไปในการยื่นซองประมูลได้ ไม่ได้บังคับเฉพาะผู้ซื้อซอง และมีเกณฑ์การตัดสินเท่าเทียมกัน

“แต่ต้องยอมรับว่า การสร้างอุโมงค์เพื่อลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งต้องมีการขุดลึกลงไปประมาณ 10 เมตรนั้นมีความละเอียดอ่อนมากกว่าการทำอุโมงค์ใต้ดินแบบอื่น เพราะหากเกิดอุบัติเหตุผู้โดยสารติดค้างในช่วงอุโมงค์ดังกล่าว การอพยพผู้โดยสารจะทำได้ยากมาก”

ไม่มีใครเสียเปรียบ ยืดเวลาให้แล้ว

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ก็มีข้อสรุปร่วมกันให้จัดทำเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม (RFP Addendum) เรียบร้อยแล้ว และขยายเวลายื่นซองประมูลออกไปอีก 45 วัน ซึ่งจะไปสิ้นสุดในวันที่ 9 พ.ย.นี้ ถือเป็นการเพิ่มเวลาให้เตรียมตัวถึง 73 วันเมื่อรวมกับกำหนดเดิม

พร้อมกับได้ทำหนังสือเมื่อวันที่ 27 ส.ค. เพื่อส่งเอกสารเพิ่มเติมให้เอกชนที่ซื้องซองทั้ง 10 รายเรียบร้อยแล้ว จึงถือว่าเอกชนทุกรายมีเวลาเตรียมตัว และไม่มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างกัน ซึ่งการออกเอกสารเพิ่มเติมในลักษณะนี้ก็มีปรากฎในโครงการต่างๆ เช่น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สานสีม่วง สายสีชมพูและเหลือง เป็นต้น

“คณะกรรมการคัดเลือก และ รฟม. ได้พิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบแล้วว่า การปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุนในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ เนื่องจากงานโยธาฝั่งตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม – บางขุนนนท์) เป็นช่วงที่ต้องใช้เทคนิคการก่อสร้างที่มีความซับซ้อนสูง เพราะเป็นการดำเนินงานก่อสร้างใต้ดินทั้งหมด ประกอบกับแนวเส้นทางที่ผ่านเข้าในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่อ่อนไหวหลายแห่ง โดยเฉพาะกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน ต้องก่อสร้างอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงการเดินรถไฟฟ้าที่ต้องการมาตรฐานความปลอดภัยชั้นสูง ดังนั้น ผลประโยชน์ที่รัฐและประชาชนผู้ใช้บริการจะได้รับจึงขึ้นกับคุณภาพ เทคนิค และประสิทธิภาพในการดำเนินงานของเอกชนเป็นสำคัญ มิได้มีเพียงแต่ผลประโยชน์ทางการเงินเท่านั้น” นายภคพงศ์กล่าว

ยก พ.ร.บ.ร่วมทุน-RFP ให้อำนาจทำได้

และขอยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมาย ได้แก่ พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 มาตรา 35 และมาตรา 38 และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) เล่มที่ 1 ข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ ข้อ 17.1 ที่ว่า
“ก่อนถึงกำหนดวันยื่นซองเอกสารข้อเสนอ รฟม. อาจมีการเปลี่ยนแปลง แก้ไขเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน (ที่ระบุในข้อ 15.) โดยการออกเอกสารแนบท้ายเพิ่มเติม โดยเหตุผลสำหรับการปรับเปลี่ยนนั้น อาจมาจากการพิจารณาของ รฟม. เอง หรือเป็นผลสืบเนื่องมาจากการชี้แจงข้อซักถามของผู้ยื่นข้อเสนอก็ได้”

ซึ่งสอดคล้องตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน  เรื่อง รายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และสาระสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุน 2563 ข้อ 4 (8) และ 4 (9) และเป็นการดำเนินการตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2563 อีกด้วย

“ขอถามคนที่ออกมาให้ข่าวว่า การเสนอของที่มีคุณภาพดี มีมาตรฐานสูงในการใช้งาน ซึ่งน่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ ท่านกังวลอะไร? ควรเอาเวลาที่เราขยายให้ไปจัดทำข้อเสนอเพิ่มเติมให้ครบไม่ดีกว่าหรือ? เพราะเราก็เปิดโอกาสให้เอาประสบการณ์ของผู้รับจ้าง (Sub Contract) มารวมเพื่อยื่นพิจารณาได้ ไม่ได้ปิดกั้นแต่อย่างใด” นายภคพงศ์ระบุ

ลุ้นได้ตัวเอกชนต้นปี’64

ส่วนกระบวนการทางคดีที่บีทีเอสไปยื่นฟ้องศาลปกครอง ก็ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม เชื่อว่าศาลจะฟังคำชี้แจงจากทั้งสองฝ่าย หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองให้กลุ่มบีทีเอส ทาง รฟม.ก็พร้อมจะปฏิบัติตามรายละเอียดของคำสั่งศาล

โดยอาจจะหยุดกระบวนการพิจารณาไว้ก่อน ซึ่งได้นัดไต่สวนไปเมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากคำร้องของกลุ่มบีทีเอสอ้างถึงเอกสารคำฟ้องหลัก แต่ทาง รฟม.ยังไม่มี จึงขอเลื่อนไต่สวนไปก่อน โดยอยู่รอศาลสั่งอีกที

ทั้งนี้ หากศาลไม่คุ้มครองให้บีทีเอส ไทม์ไลน์การคัดเลือกขณะนี้ หลังยื่นซองในวันที่ 9 พ.ย. 2563 นี้ จะดำเนินการเปิดซองที่ 1 คุณสมบัติในวันที่ 23 พ.ย.นี้ จะใช้เวลาพิจารณา 2 สัปดาห์จากนั้นจะพิจารณาซอง 2 เทคนิคและซอง 3 การเงินพร้อมกัน โดยจะเชิญผู้ผ่านซองที่ 1 มาร่วมในวันเปิดงาน คาดว่าจะได้ตัวเอกชนภายในต้นปี 2564 อย่างเร็วที่สุดน่าจะในเดือน ม.ค. 2564

ยันรักทุกคน

นายภคพงศ์กล่าวทิ้งท้ายว่า หากข้อพิพาทนี้ยุติลงก็จะไม่มีผลกับการพิจารณาข้อเสนอของกลุ่มบีทีเอส เพราะ รฟม.กับ บีทีเอสไม่ใช่คู่แค้น แต่เป็นคู่ค้ากัน อย่างตอนนี้ก็ทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีชมพูและสายสีเหลืองร่วมกัน และวันที่ 1 ต.ค.นี้ ก็จะไปรับขบวนรถไฟฟ้าสายสีชมพูและเหลืองร่วมกัน ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่าตนสนิทกับบริษัทบางรายนั้น จริงๆ สนิทกับทุกคน ตนรักทุกคนเท่ากัน