เปิด เม.ย. 64 “สวนสาธารณะเลียบคลองช่องนนทรี” 4.5 กม. ยาวที่สุดใน กทม.

กทม. เดินหน้าปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรีทุกมิติ เนรมิต ”สวนสาธารณะเลียบคลอง” เพิ่มพื้นที่สีเขียวกลางกรุง ทอดยาว 3 เขต ระยะทาง 4.5 กม. จาก ถ.สุรวงศ์-แม่น้ำเจ้าพระยา แคบและยาวที่สุด เปิดเฟสแรกใช้ เม.ย. 2564

วันที่ 11 พ.ย. 2563 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรีและบริเวณโดยรอบ บริเวณสะพานช่องนนทรี (Sky Walk แยกสาทร-นราธิวาส) เขตสาทร

โดย กทม. มีนโยบายพัฒนาคลองในพื้นที่กรุงเทพฯให้สามารถระบายน้ำได้ดี มีความสะอาด และมีภูมิทัศน์ที่สวยงาม ซึ่งคลองช่องนนทรีเป็นคลองที่มีศักยภาพในการพัฒนา

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

 

เนื่องจากอยู่ในพื้นที่เขตเมืองที่มีประชาชนสามารถเข้าถึงจำนวนมาก มีเส้นทางคมนาคมสะดวก มีถนนตัดผ่านหลายสาย มีเส้นทางรถไฟฟ้าผ่าน รวมทั้งภาคเอกชนในพื้นที่ยังพร้อมให้ความร่วมมือร่วมพัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี

กทม. จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรีให้เป็นคลองต้นแบบ การจัดการเพื่อพัฒนาคลองต่าง ๆ ต่อไป

ADVERTISMENT

ปัจจุบันสำนักการโยธาได้สำรวจพื้นที่และร่วมกับทีมแผนแม่บทพัฒนาเมือง และทีมออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมร่างแบบเบื้องต้นเสร็จแล้ว มีแนวคิดการออกแบบ คือ สาธารณูปโภคสีเขียวและสีฟ้า (GREEN AND BLUE INFRA STRUCTURE) พื้นที่สาธารณะสีเขียว เชื่อมการเดินและลดปัญหามลภาวะฝุ่นละอองในเมือง

สามารถเชื่อมต่อและเข้าถึงจากย่านธุรกิจและชุมชนโดยรอบ ช่วยส่งเสริมให้เกิดการสัญจรอย่างยั่งยืน (SUSTAINABLE MOBILITY) มีสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ และออกกำลังกาย (ACTIVE LEARNING SPACE) เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนในเมือง

ADVERTISMENT

สำหรับโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรีและบริเวณโดยรอบ เริ่มต้นจากถนนสุรวงศ์จนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทางรวมประมาณ 4.5 กม. ผ่านพื้นที่เขตบางรัก เขตสาทร และเขตยานนาวา

แบ่งเป็น 4 ส่วน 1.โครงการพัฒนาสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ช่วงถนนสุรวงศ์ – ถนนสีลม 2.โครงการพัฒนาสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ช่วงถนนสาทร – ถนนจันทน์ 3.โครงการพัฒนาสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ช่วงถนนจันทร์ – ถนนรัชดาภิเษก และ 4. โครงการพัฒนาสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ช่วงถนนรัชดาภิเษก – ถนนพระราม 3

“คาดว่าจะดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรีและบริเวณโดยรอบเฟสแรก ระยะทาง 1.2 กม. รวมสองฝั่ง 2.4 กม. จะแล้วเสร็จเดือน เม.ย. 64“

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การพัฒนาสิ่งแวดล้อมและเพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นภารกิจที่สำคัญประการหนึ่งที่ กทม. ต้องการผลักดันและขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมมาอย่างยั้งยืน เนื่องจากการอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่ดี เป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

ในปัจจุบันกรุงเทพฯ มีอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรอยู่ที่ประมาณ 7.08 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน ยังน้อยกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน และเมื่อเทียบกับเมืองต่าง ๆ ของโลก

อาทิ ปารีส (10.58 ตารางเมตรต่อคน) นิวยอร์ก (16.97 ตารางเมตรต่อคน) ลอนดอน (31.69 ตารางเมตรต่อคน) กัวลาลัมเปอร์ (50 ตารางเมตรต่อคน) สิงคโปร์ (66 ตรางเมตรต่อคน) และซิดนีย์ (235.73 ตารางเมตรต่อคน) กรุงเทพฯ นับว่ามีพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรค่อนข้างน้อยมาก

เพื่อเป็นการขับเคลื่อนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้จัดทำโครงการ Green Bangkok 2030 โดยการกำหนดวิสัยทัศน์ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เป็น 10 ตารางเมตรต่อคน ภายในปี 2573

ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนและภาคีเครือข่าย ควบคู่ไปกับการสำรวจและวิเคราะห์สภาพทางกายภาพตลอดจนข้อจำกัดของแต่ละพื้นที่ เพื่อกำหนดรูปแบบพื้นที่สีเขียวที่มีความเหมาะสม สอดคล้อง และเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้การดำเนินงานมีกรอบทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน มีความก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว และสามารถรักษาผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไว้ได้อย่างยั่งยืน

สำหรับโครงการพัฒนาสวนสาธารณะคลองช่องนนทรีนับเป็นครั้งแรกของ กทม. ที่ได้ดำเนินการพัฒนาคลองในรูปแบบของ “สวนเลียบคลอง” หรือ Linear Park ซึ่งมีแนวคิดสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1.เขียว 2.คลอง 3.คน และ 4.ความรู้

โดย 1.เขียว สื่อถึงพื้นที่สีเขียวที่จะถูกพัฒนาขึ้นตลอดแนวริมคลองทั้ง 2 ฝั่ง 2.คลอง สื่อถึงความผูกพันระหว่างกรุงเทพฯ กับสายน้ำที่มีมาแต่โบราณ โดยในอดีตนอกจากบรรพบุรุษของเราจะใช้คลองเป็นปราการสำคัญในการป้องกันเมืองแล้ว

ยังใช้เป็นเส้นทางสำหรับการสัญจรและการค้าขายอีกด้วย 3.คน สื่อถึงการเชื่อมโยงผู้คนในพื้นที่ 3 เขต ได้แก่ บางรัก สาทร และยานนาวา ตลอดเส้นทางที่คลองช่องนนทรีทอดตัวไหลผ่าน จากถนนสุรวงศ์ ถนนสีลม ถนนสาทร ถนนจันทน์ ถนนรัชดาภิเษก ไปจนจรดถนนพระรามที่ 3 รวมระยะทางทั้งสิ้น 4.5 กม.

และ 4.ความรู้ คือการวางเป้าหมายให้สวนสาธารณะคลองช่องนนทรีแห่งนี้ เป็นพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์และการเรียนรู้ของประชาชน รองรับวิถีชีวิตยุคใหม่ รวมถึงเป็นเส้นทางเชื่อมต่อการสัญจรด้วยการเดินเท้า เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนเมืองอย่างแท้จริง

“การริเริ่มพัฒนาสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง พัฒนาทางสาธารณะ และปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลอง เป็นสถานที่พักผ่อน เป็นเส้นทางออกกำลังกาย อาทิ วิ่ง เดินและปั่นจักรยาน รวมทั้งเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ ของประชาชน โดยสวนสาธารณะแห่งนี้เป็นสวนสาธารณะที่แคบที่สุด แต่มีความยาวมากที่สุด“ ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว