ศักดิ์สยาม เซ็น 5 สัญญารวดรถไฟไทย-จีน 4 หมื่นล้าน 18 พ.ย.

ดีเดย์ 18 พ.ย. “รถไฟ” ได้ฤกษ์เซ็นงานโยธา 5 สัญญา ไฮสปีดไทย-จีน “กทม.-โคราช” กว่า 4 หมื่นล้าน ”ศักดิ์สยาม” เป็นประธาน

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 18 พ.ย. 2563 เวลา 10.00 น. นี้จะมีการจัดพิธีลงนามในสัญญางานโยธาจำนวน 5 สัญญาของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท โดยพิธีลงนามจะจัดที่กระทรวงคมนาคม มี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธี

สำหรับ 5 สัญญาที่จะมีการลงนาม วงเงินรวมทั้ง 5 สัญญา วงเงิน 40,275 ล้านงบาท ประกอบด้วย 1.สัญญา 3-2 งานอุโมงค์ช่วงมวกเหล็ก – ลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กม. มี บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ เป็นผู้ชนะการประกวดราคาด้วยการเสนอราคาต่ำสุดที่วงเงิน 4,279 ล้านบาท

2.สัญญา 3-3 ช่วงบันไดม้า – ลำตะคอง ระยะทาง 21.6 กม. มี บจ.กรุงธนเอนยิเนียร์ เสนอราคาต่ำสุดที่ 9,838 ล้านบาท

3.สัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง – สีคิ้ว และช่วงกุดจิก – โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. มี บจ.บีพีเอ็นพีเป็นผู้เสนอราคาสุดที่ 9,848 ล้านบาท

4.สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด – นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. มีกลุ่มกิจการร่วมค้า SPTK เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ 7,750 ล้านบาท

5.สัญญา 4-7 ช่วงสระบุรี – แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม. มี บจ.ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ 8,560 ล้านบาท

“หลังเซ็นสัญญาแล้ว คาดว่าจะสามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ทันที“

ส่วนอีก 5 สัญญาที่เหลือ ได้แก่ 1.สัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย – กลางดง และ ปางอโศก – บันไดม้า ระยะทางรวม 30.21 กม. มี บจ.ไทยเอ็นจิเนียริ่ง เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ 9,330 ล้านบาท

2.สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง – นวนคร ระยะทาง 21.8 กม. มีมีกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ซิโนไฮโดร จำกัด, บจ. สหการวิศวกร และ บจ.ทิพากร เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ 8,626.8 ล้านบาท

3.สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร – บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. มีกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ไชน่าสเตทคอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ และ บจ.เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ 11,525.36 ล้านบาท

4 สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ – พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ 9,913 ล้านบาท และ 5.สัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว – สระบุรี ระยะทาง 31.6 กม. มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ 9,429 ล้านบาท

โดยสัญญาที่ 3-1 ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมบัญชีกลาง เนื่องจากมีการอุทธรณ์ผลประมูล ส่วนงานที่เหลืออยู่ระหว่างรอเปลี่ยนแปลงรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) หลังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบให้กลับไปใช้รายงาน EIA เดิม ที่ไม่ขยายสถานีอยุธยาออกนอกแนวเขตทางรถไฟ