ซี.พี.อุบเงียบสถานีไฮสปีด คมนาคมสั่งแจ้งพิกัด ธ.ค.

ปลัดคมนาคมเดดไลน์ ซี.พี.ย้าย/ไม่ย้ายตำแหน่งใหม่ 3 สถานีไฮสปีด 3 สนามบิน เร่งเคลียร์จุดทับซ้อนรถไฟไทย-จีน “สถานีดอนเมือง” จะสร้างเองหรือไม่ หวั่นทำแผนก่อสร้าง-เวนคืนที่ดินสะดุด ด้าน ร.ฟ.ท.ย้ำส่งมอบพื้นที่ให้เข้าก่อสร้างตามเป้าปี’64 พร้อมพื้นที่ TOD มักกะสัน-ศรีราชา

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม และในฐานะประธานคณะทำงานเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่และการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายในต้นเดือน ธ.ค.นี้ คณะทำงานจะประชุมติดตามความคืบหน้าการส่งมอบพื้นที่ และจะให้ทาง บจ.รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน (กลุ่ม ซี.พี.) รายงานถึงการขอปรับตำแหน่งสถานีใหม่ เพื่อที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะได้เดินหน้าการเวนคืนที่ดินเพื่อส่งมอบพื้นที่ให้ภายในปี 2564

“ให้กลุ่ม ซี.พี.ยืนยันคำตอบ จะย้ายหรือไม่ย้าย แจ้งไปแล้วให้นำข้อมูลรายงานที่ประชุมด้วย เพราะเกี่ยวโยงการเวนคืนที่รัฐกำลังดำเนินการให้ก่อนส่งมอบพื้นที่”

และยังขอให้กลุ่ม ซี.พี.แจ้งเรื่องการก่อสร้างช่วงสถานีดอนเมืองที่มีโครงสร้างทับซ้อนกับโครงการรถไฟไทย-จีน (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ในสัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทางประมาณ 15 กม. ที่ ร.ฟ.ท.ยังเปิดประมูลก่อสร้างไม่ได้ เนื่องจากรอความชัดเจนจากกลุ่ม ซี.พี. ซึ่งตามสัญญาร่วมทุนทางกลุ่ม ซี.พี.จะต้องเป็นผู้ก่อสร้างงานส่วนที่ทับซ้อนกัน จะต้องให้คำตอบโดยเร็วภายในต้นปี 2564 นี้

“เหลือสัญญานี้สัญญาเดียว หากไม่ดำเนินการ ร.ฟ.ท.จะได้นำมาก่อสร้างเอง เพราะ ร.ฟ.ท.ทยอยก่อสร้างและเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาเดินหน้าโครงการไปแล้ว กระทรวงพยายามจะให้ผู้รับเหมาเข้าพื้นที่ก่อสร้างพร้อมกัน เพื่อให้งานเสร็จตามเป้าเปิดในปี 2568”

สำหรับรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. ที่รัฐบาลไทยลงทุน 179,413 ล้านบาท เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาหัวเมืองในภูมิภาค ยกระดับการแข่งขันของประเทศ เชื่อมไทย-ลาว-จีน ยกระดับรถไฟไทย สนับสนุนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคด้านเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยวเชื่อมไทยสู่โลก

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.เปิดเผยว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.รอคำตอบจากกลุ่ม ซี.พี.จะย้ายสถานีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไปพื้นที่ไหน ซึ่งเบื้องต้นกลุ่ม ซี.พี.ตอบแค่ว่าอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียด ทั้งนี้ มีระบุจะย้าย 3 สถานี ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ศรีราชา พัทยา โดยอาจจะมีโครงสร้างเชื่อมสถานีเก่าและสถานีใหม่ด้วย

“ได้เริ่มกระบวนการเวนคืนไปแล้ว โดยเข้าพื้นที่รังวัด อาจจะเวนคืนเฉพาะแนวเส้นทาง เว้นตรงสถานีไว้ก่อนเพื่อส่งมอบพื้นที่ให้ทัน เม.ย. 2564 หรืออย่างช้า ส.ค. แต่ไม่เกินกรอบเวลากำหนดไม่เกิน 2 ปี หรือเดือน ต.ค. เพื่อออกหนังสือให้เริ่มงานก่อสร้าง จะออกพร้อมกับพื้นที่ TOD สถานีมักกะสันและศรีราชา หาก ซี.พี.ย้ายสถานี อาจจะลดภาระค่าเวนคืนของรัฐได้ แต่ต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม ใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน”

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.ฎ.เวนคืนมีผลบังคับใช้แล้ว มีพื้นที่เวนคืน 850 ไร่ จำนวนกว่า 900 แปลง ค่าเวนคืนตามที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อยู่ที่ 3,570 ล้านบาท แต่จากการกำหนดค่าทดแทน ซึ่งมีประชุมครั้งที่ 2 ที่ผ่านมา พบว่าเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 5,000 ล้านบาท

จากเดิมครั้งแรกทางท้องถิ่นเสนอมาเป็น 8,000 ล้านบาท แต่เมื่อตรวจสอบข้อมูลแล้วลดลง แต่ราคาเฉลี่ยยังเพิ่มขึ้น 3-6 เท่า รอเสนอที่ประชุมครั้งที่ 3 ในต้น ธ.ค.นี้ เพื่อเสนอ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอนุมัติต่อไป

“ส่วนพื้นที่ทับซ้อนกับรถไฟไทย-จีน สถานีดอนเมือง ตามสัญญาร่วมทุน ทาง ซี.พี.จะเป็นผู้ลงทุนค่าก่อสร้าง หาก ร.ฟ.ท.จะดำเนินการเอง จะต้องไปแก้สัญญา” แหล่งข่าวกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในทีโออาร์ประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ร.ฟ.ท.ให้เอกชนผู้ชนะต้องรับผิดชอบค่าก่อสร้าง จำนวน 7,210 ล้านบาท ในส่วนที่เป็นพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการอื่นไปก่อน แบ่งเป็นอุโมงค์แอร์พอร์ตเรลลิงก์ส่วนต่อขยาย และสายสีแดง Missing Link จำนวน 3,200.86 ล้านบาท และโครงสร้างงานโยธาช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง จำนวน 4,009.81 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากกลุ่ม ซี.พี.กล่าวว่า ทางผู้บริหาร ซี.พี.ยังไม่ระบุตำแหน่งสถานีใหม่ที่จะย้าย ในเบื้องต้นมีสถานีฉะเชิงเทรา จะย้ายไปทางด้านทิศใต้ของแม่น้ำบางปะกง และสร้างฟีดเดอร์มารองรับการเดินทางเข้าเส้นทางหลัก แต่มีบางกระแสระบุว่า ไปทางบ้านโพธิ์ และพื้นที่รอยต่อระหว่างหนองจอกกับถนนสุวินทวงศ์

ขณะที่สถานีพัทยา ขยับลงมาอยู่ที่สถานีรถไฟบ้านห้วยขวาง ใกล้ตลาดน้ำ 4 ภาค และสวนนงนุช ที่ ซี.พี.มีที่ดินอยู่ประมาณ 600 ไร่ และสถานีศรีราชา ซึ่ง ร.ฟ.ท.ให้พื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์รอบสถานี (TOD) จำนวน 25 ไร่ แต่ไม่เพียงพอ อาจจะขยับห่างไปจากสถานีเดิมเพื่อให้พัฒนาได้มากขึ้น ส่วนจุดทับซ้อนกับรถไฟไทย-จีนช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองมีค่าก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานีกว่า 1 หมื่นล้านบาท