“ถาวร” โยน “ศักดิ์สยาม” แจงโอน 4 สนามบินให้ ทอท. เคาะเปิดสนามบินเบตง ก.พ. 64

ถาวร เสนเนียม

“ถาวร” โยน “ศักดิ์สยาม” แจงปมโอน 4 สนามบิน “อุดร-บุรีรัมย์-ชุมพร-กระบี่” ให้ ทอท. ชี้ไม่ได้ร่วมเป็นคณะทำงานทั้งๆ ที่คุม ทย. สะกิดไม่ควรรับโอนแต่สนามบินที่ทำเงิน เผยส่งความเห็น 2 ประเด็นเพิ่มไปตั้งแต่ ก.ค. 63 ทอท. ตัด “ชุมพร” ออก ขอรับโอนแค่ 3 แห่ง  ด้าน “เบตง”เปิดบิน ก.พ.-มี.ค. 64

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการตรวจราชการและติดตามผลการดำเนินการกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2563 ได้ติดตามความคืบหน้าการโอนสนามบินของ ทย. ให้บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) บริหาร จำนวน 4 สนามบิน ได้แก่ สนามบินอุดรธานี สนามบินกระบี่ สนามบินชุมพร และสนามบินบุรีรัมย์ ขณะนี้คณะทำงานพิจารณากรณีการโอน 4 สนามบิน ที่มีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน อยู่ระหว่าวการหารือ ยังไม่สรุปรูปแบบการโอนสนามบินแต่อย่างใด

แจงไม่ได้ร่วมในคณะทำงานโอนสนามบิน

“ผมไม่ได้อยู่ในคณะทำงานดังกล่าว เคยได้เชิญนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะที่ร่วมในคณะทำงานดังกล่าวมาขี้แจงว่ากำลังดำเนินการอยู่ โดยผู้ตัดสินใจในเรื่องนี้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม “

ชี้ ทอท. ไม่ควรเอาแต่สนามบินที่มีกำไร

นายถาวร กล่าวต่อว่า ในการโอนสนามบินดังกล่าว ทย.มี 6 สนามบินที่สามารถเก็บค่าบริการผู้โดยสารขาออก (Passenger Service Charge : PSC) เข้าสู่กองทุนหมุนเวียนภายใน ทย. รวมๆปีละ 600-700 ล้านบาท และสามารถเลี้ยงดูสนามบินอื่นๆอีก 23 แห่งได้

โดย 6 สนามบินประกอบด้วย สนามบินกระบี่ นครศรีธรรมราช อุดรธานี อุบลราชธานี ขอนแก่น และสุราษฎร์ธานี ซึ่งได้ทำข้อสังเกตแนบไปว่า สนามบินเหล่านี้ ทย.มีความสามารถในบริหาร เพราะทย.ดูแลมาตั้งแต่ต้น

และด้วยความเป็นหน่วยงานรัฐที่ถือว่าสนามบินเป็นบริการสาธารณะ ไม่ได้มุ่งหวังกำไรเหมือน ทอท. จึงเห็นว่า การโอนสนามบินดังกล่าวควรจะคำนึงถึงการนำสนามบินที่ไม่ได้ทำกำไรไปบริหารด้วย เพื่อให้ประชาชนได้บริการที่ดีที่สุด และถ้าจะให้ผู้อื่นบริหารสนามบินควรจะเปิดกว้างให้ผู้อื่นบริหารด้วย

ทอท.ตัด “ชุมพร” ออก

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. มีการทบทวนการโอนสนามบิน โดยตัดสนามบินชุมพรออก และเหลือไว้ 3 สนามบิน ได้แก่ สนามบินอุดรธานี สนามบินกระบี่ และสนามบินบุรีรัมย์ โดยตั้งแต่สมัยนางอัมพวัน วรรณโก เป็นอธิบดีทย.ทำหนังสือคัดค้านไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่ได้รับการตอบรับ

ถาวร ส่งความเห็นเพิ่ม 2 ประเด็น

จนในที่สุดเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2563 นายถาวรได้ทำหนังสือถึงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  เพื่อประกอบความเห็นในการเสนอโอนสนามบินให้ ทอท. โดยนายถาวรเสนอความเห็น 2 ประเด็น ได้แก่

1.การดำเนินการให้ทอท.รับโอนสนามบินของ ทย. ไปบริหาร ควรยึดหลักกฎหมายความโปร่งใสถูกต้องเป็นธรรม เป็นประโยชน์ต่อราชการและสาธารณะ โดยขอให้จัดทำศึกษาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียให้ครบถ้วนรอบด้านเสียก่อน และดำเนินการตามขั้นตอนที่โปร่งใส และมีกลไกการตรวจสอบที่ดี

และ 2. ข้อความและถ้อยคำต่างๆ ควรพิจารณาตามกฎหมายต่างๆให้รอบคอบ เช่น พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534, พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 และพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 เป็นต้น ซึ่งนายศักดิ์สยามได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว และสั่งคณะทำงานดังกล่าวตรวจสอบและดำเนินการอย่างเคร่งครัด

เบตง เลื่อนเปิดต้นปี 64

ส่วนการเปิดใข้สนามบินเบตง จ.ยะลา ล่าสุดนายจรุณ มีสมบูรณ์ รองอธิบดีทย.รายงานว่า สิ่งที่ยังขัดข้องคือการออกใบอนุญาต โดยเฉพาะการทดสอบการนำร่อนเครื่องบินขณะขึ้น-ลง ซึ่งจะต้องตอบคำถามสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ให้ได้ทุกประเด็นซึ่งคาดว่าจะตอบได้ครบทุกคำถามภายในสิ้นเดือน ธ.ค. 2563 โดยจะเลื่อนวันเปิดให้บริการออกไปอย่างน้อย 1-2 เดือน หรือประมาณช่วงก.พ.-มี.ค. 2564

ซึ่งหลังจากได้รับใบอนุญาตแล้ว จะต้องเจรจากับสายการบินที่เข้ามาขอเปิดเส้นทางการบินอีก โดยมีเข้ามาขอแล้ว 2 แห่งคือ บมจ.สายการบินนกแอร์  ผู้บริหารสายการบินนกแอร์ และบมจ.การบินกรุงเทพ ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส

อย่างไรก็ตาม มีความกังวลในโครงสร้างของสนามบินที่ใช้ไม้ไผ่มาก่อสร้าง จึงให้เจ้าหน้าที่ดูแลรักษาป้องกันให้ดีจากปัญหาอัคคีภัยและปลวกมอดกัดกิน ซึ่งไม้ไผ่ที่นำมาใช้มีอายุการใช้งาน 10-15ปี