ต.ค.เดดไลน์ CP จ่ายหมื่นล้าน บริหารแอร์พอร์ตลิงก์-ตอกเข็มไฮสปีด

ไม่เกินเดือน ต.ค. 2564 คงจะเริ่มเห็นความคืบหน้าการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งเป็นสายที่ 2 ของประเทศไทย และการเปลี่ยนแปลงของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์

หลังเปลี่ยนผ่านไปอยู่ในมือของ “บจ.รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน” หรือกลุ่ม ซี.พี.ที่จะเริ่มนับหนึ่งสัมปทาน 50 ปี หลังทุ่มเม็ดเงินกว่า 2 แสนล้านบาทลงทุนพลิกโฉมระบบรถไฟไทย

ค่าเวนคืนเพิ่มเป็น 4,700 ล้าน

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงระยะแรกสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาให้กลุ่ม ซี.พี. ยังอยู่ในกรอบเวลาที่กำหนด 2 ปี คือภายในเดือน ต.ค.นี้ อยู่ระหว่างเตรียมการเวนคืน มีที่ดินถูกเวนคืนจำนวน 919 ไร่ จะไม่รอคำตอบจากกลุ่ม ซี.พี.ที่จะย้ายตำแหน่งสถานีใหม่ เนื่องจากรอมาร่วม 4-5 เดือนแล้ว จะเวนคืนส่วนที่เป็นโครงสร้างทางวิ่งไปก่อน ส่วนผู้บุกรุกจากทั้ง 302 ราย เคลียร์แล้ว 282 ราย ยังเหลือ 20 กว่าราย ด้านรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคเริ่มทยอยดำเนินการไปบ้างแล้ว เช่น การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นต้น

“รัฐจะเวนคืนพื้นที่บางส่วนไปก่อน เพราะมีการรังวัดและประเมินราคาแล้ว มีค่าเวนคืนเพิ่มขึ้นจากที่คณะรัฐมนตรีหรือ ครม.อนุมัติไว้ 3,570 ล้านบาท เป็น 4,700 กว่าล้านบาท ต้องขอ ครม.เพิ่ม ถ้าไม่เวนคืนไว้หาก ซี.พี.กลับลำไม่ย้ายสถานีจะเดินหน้าโครงการลำบาก ดูแนวโน้มน่าจะย้ายเกือบทุกสถานี แต่ยังไม่มีพิกัดตำแหน่งสถานีว่าย้ายไปไหน ซึ่งการเดินหน้าโครงการหากรัฐส่งมอบพื้นที่ได้ ทางเอกชนจะได้เริ่มงานก่อสร้าง คาดว่าพร้อมส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนได้ประมาณเดือน พ.ค.-ส.ค.หรืออย่างช้าเดือน ต.ค.นี้”

รอเคลียร์พื้นที่ทับซ้อนไทย-จีน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการรถไฟไทย-จีนช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ทางกลุ่ม ซี.พี.อยู่ระหว่างประเมินเงินลงทุนหากต้องดำเนินการแทน ร.ฟ.ท.ทั้งหมด จะเป็นวงเงินเท่าไหร่ จากกรอบราคากลางกำหนดไว้ 18,000 ล้านบาท ทั้งนี้ในสัญญากลุ่ม ซี.พี.จะเป็นผู้ดำเนินการ ค่าก่อสร้างโครงสร้างและสถานีดอนเมืองประมาณ 11,000 ล้านบาท สร้างฐานรองรับรถไฟไทย-จีนอีก 3,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หาก ร.ฟ.ท.จะนำมาดำเนินการเอง ต้องมีการแก้ไขสัญญา รวมถึงวงเงินลงทุนที่รัฐจะต้องสนับสนุนให้กลุ่ม ซี.พี.ด้วย

แหล่งข่าวจากกลุ่ม ซี.พี.เปิดเผยว่า งานระบบรถไฟความเร็วสูง ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดสเป็กว่าจะใช้ของประเทศไหน แต่มีกำหนดระบบ ICE จากยุโรปกับประเทศจีนเป็นระบบ CRH และระบบของญี่ปุ่น มาใช้ในการออกแบบรายละเอียด วิเคราะห์ทางวิ่ง การรับน้ำหนักของขบวนรถ โดยต้องเปิดกว้างให้ใช้สเป็กรถจากผู้ผลิตรายไหนก็ได้

ต.ค.เข้าบริหารแอร์พอร์ตลิงก์

“ปี 2564 น่าจะเป็นการเริ่มต้นงานก่อสร้างไฮสปีด ใช้เวลา 5 ปี รวมถึงจะปรับปรุงแอร์พอร์ตลิงก์ หลังจากจ่ายค่าใช้สิทธิ 10,671 ล้านบาท เพื่อรับโอนโครงการภายในเดือน ต.ค.นี้”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า หลังได้เข้าสำรวจและประเมินทรัพย์สินของแอร์พอร์ตลิงก์ ในระยะแรกใช้เงินลงทุนประมาณ 400-500 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงสถานี การบริการ ป้าย ระบบอากาศ ทางขึ้น-ลง ทางเข้า-ออกสถานี เช่น สถานีมักกะสัน จะมีทางเชื่อมใต้ดินกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่สถานีเพชรบุรี จากปัจจุบันมีสกายวอล์กอยู่แล้ว เพื่อให้ผู้โดยสารมีความสะดวก ยังมีปรับปรุงที่จอดรถบริเวณสถานี มีการบริหารจัดการให้เป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น
ส่วนขบวนรถ 9 ขบวน มีปรับปรุงตู้ที่ใช้ขนสัมภาระกระเป๋าเดินทาง ให้เป็นที่นั่งสำหรับผู้โดยสาร เพื่อให้สามารถจุคนได้เพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้บริษัททางรถไฟแห่งชาติอิตาลี (FS) ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการโครงการให้ได้เข้าไปดำเนินการแล้ว ทั้งนี้จะต้องมีทีมของ FS เข้ามาอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 มีการระบาดระลอกใหม่ จะส่งผลกระทบต่อการเดินทางเข้ามายังประเทศไทยหรือไม่

ซื้อรถใหม่พ่วงไฮสปีด

นอกจากนี้ในระยะยาวจะเป็นการปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณให้ทันสมัย และซื้อขบวนรถใหม่ ภายในปีนี้น่าจะมีข้อสรุปว่าจะซื้อกี่ขบวนและใช้ของประเทศไหน โดยจะซื้อรวมกับรถไฟความเร็วสูงด้วย โดยการสั่งซื้อจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี ในระหว่างนี้มองว่ารถ 9 ขบวนเดิม ยังเพียงพอที่จะรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ในช่วง 2-3 ปีแรกนี้ จากปัจจุบันมีผู้โดยสารเฉลี่ย 80,000 เที่ยวคน/วัน และผู้โดยสารจะหนาแน่นช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับพนักงานอยู่ระหว่างเปิดรับสมัคร จะมีทั้งเปิดเป็นการภายในจากพนักงานของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ที่บริหารแอร์พอร์ตลิงก์เดิม กับเปิดรับสมัครใหม่เป็นการทั่วไป ซึ่งทาง FS ให้รับพนักงานแอร์พอร์ตลิงก์มาอย่างน้อย 50% เพื่อจะได้บริหารโครงการได้ทันทีหลังรับโอนโครงการในเดือน ต.ค. 2564 นี้