“คมนาคม” เบรก “กทม.” ขึ้นค่าโดยสารสายสีเขียว 15-104 บาท

รถไฟฟ้า บีทีเอส

หลบหน่อยพระเอกมา “คมนาคม”ขอ”กทม.”เบรกขึ้นค่าโดยสารสายสีเขียวอัตราใหม่จนกว่าจะได้ข้อยุติจากทุกฝ่าย ชี้การขึ้นค่าโดยสารไม่เป็นไปตามมติครม.ปี 61 แฉ”มหาดไทย-กทม.”ไม่ส่งข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องสัมปทานให้ หลังทำเรื่องขอไปกว่า 1 เดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 16 มกราคม 2564 เวลา 15.54 น. กระทรวงคมนาคมได้ออกเอกสารข่างถึงสื่อมวลชน ความว่า กระทรวงคมนาคมเรียกร้องขอให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ชะลอการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวจนกว่าจะได้ข้อยุติในข้อเท็จจริง เพื่อมิให้เป็นภาระของประชาชน

ขอกทม.ทำตามมติครม. ปี61

ตามที่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มีประกาศ เพื่อปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวลงวันที่ 15 ม.ค. 2564 โดยมีสาระสำคัญในการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุดถึง 104 บาท ซึ่งเป็นการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เป็นภาระค่าเดินทางแก่ประชาชนโดยขาดการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561 ในคราวที่เห็นชอบการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์สายสีเขียวส่วนต่อขยายระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ได้กำหนดให้ กระทรวงคมนาคมบูรณาการร่วมกับกทม.ในการกำหนดอัตราแรกเข้า อัตราค่าโดยสารที่เป็นธรรมและไม่เป็นภาระแก่ประชาชน นั้น

กระทรวงคมนาคมจึงขอเรียกร้องให้ กทม. ชะลอการปรับขึ้นราคาค่าโดยสารสายสีเขียวดังกล่าว จนกว่าจะได้มีการพิจารณาร่วมกันระหว่างทุกฝ่าย และหาหนทางอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการ บริหารจัดการ ที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนผู้ใช้บริการ

แฉ “มหาดไทย-กทม.” ไม่ส่งข้อมูลเพิ่มตามขอ

ทั้งนี้ ในเรื่องขอการปรับแก้ไขสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวตามที่ กทม. ได้พิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย และกทม. เพื่อขอเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น ผลการศึกษาของโครงการ แนวทางการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ต้นทุนของโครงการ และเอกสารอื่น ๆ เพื่อนำมาศึกษา และให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้เกิดการลดอัตราค่าโดยสารสูงสุดจาก 65 บาท ที่ กทม เสนอ ใช้เป็นฐานถึงปี พ.ศ.2602 (38ปี) ลงเหลือไม่เกินอัตราแนวทางที่ระบบรถไฟฟ้าสายอื่นๆในสังกัดกระทรวงคมนาคมกำหนดใช้ เช่น สีน้ำเงิน สีชมพู สีเหลือง สีม่วง ที่ไม่เกินอัตราสูงสุดที่ 42 บาท

แต่กระทรวงคมนาคมยังไม่ได้รับเอกสารที่เกี่ยวข้องดังกล่าวเป็นเวลาประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกฝ่ายจะได้ร่วมมือกัน เพื่อช่วยกันลดอัตราค่าใช้จ่ายในการแก่ประชาชนต่อไป

แนบเอกสาร เลขาครม. ประกอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อไปว่า ในการออกเอกสารชี้แจงดังกล่าว กระทรวงคมนาคมได้แนบเอกสารของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) จำนวน 2 ฉบับเป็นหลักฐานด้วย

ฉบับแรก เป็นเอกสารว่าด้วยขอความเห็นชอบการกู้เงินเพื่อใช้ในการรับโอนทรัพย์สิน และหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้สายสีเขียวช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และช่วงแบวิ่ง – สมุทรปราการ ลงวันที่ 29 พ.ย. 2561 ทำถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

สาระสำคัญคือ แจ้งให้ว่าการประชุมครม.เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561 มีมติรับทราบการกู้เงิน
เพื่อใช้ในการรับโอนทรัพย์สิน และหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยให้กระทรวงมหาดไทยและกทม.รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย

และอีก 1 ฉบับเป็นเอกสารว่าด้วย การขอความเห็นชอบการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ
และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ -คูคต ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงวันที่ 30 พ.ย. 2561 ทำถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

โดยมีสาระสำคัญในข้อ 4 ที่ระบุว่า ให้กระทรวงคมนาคมและ กทม. บูรณาการการเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ รวมทั้งการกำหนด
อัตราแรกเข้าและอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรม และไม่ก่อให้กิดภาระต่อประชาชนผู้ใช้บริการมากเกินไป

และในข้อ 6.2 กำหนดว่า การบริหารจัดการสัญญาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้มีระยะสิ้นสุดพร้อมกันทุกช่วง เพื่อให้ กทม. สามารถเปิดให้เอกชนเข้าร่วมแข่งขันประมูลการให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ทั้งสาย อันจะเป็นการจูงใจให้มีเอกชนรายใหม่เข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อภาครัฐและผู้ใช้บริการระบบขนส่งมวลชนต่อไป