“ศักดิ์สยาม” ปฏิรูปการรถไฟ อย่าคิดแต่ลงทุน ต้องหารายได้ให้เป็น

สัมภาษณ์พิเศษ

แม้ภาพภายนอกงานก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง “ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต” ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทุ่มเม็ดเงินสร้างร่วม 1 แสนล้านบาท จะเสร็จสมบูรณ์ รอวันนับถอยหลังเปิดเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบในเดือน พ.ย. 2564 ปิดฉากมหากาพย์ “รถไฟฟ้ามาราธอน” ใช้เวลาสร้างกว่า 10 ปี ที่สำคัญ ยังเป็นการพิสูจน์ฝีมือของ ร.ฟ.ท.ในการหารายได้จากการเดินรถไฟฟ้าและที่ดินโดยรอบ ปลดแอกนี้กว่า 1.7 แสนล้าน

ถึงจะดูฉลุย แต่มีเนื้องานที่ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เจ้ากระทรวงคมนาคม ต้องเตรียม-สะสาง เพื่อให้วันเปิดใช้จริงไร้อุปสรรค ปัญหาและข้อครหา หลัง “บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ยกทีม ครม.ออนทัวร์รถไฟฟ้าสายสีแดง เมื่อ 15 ธ.ค. 2563 ทำให้ “ศักดิ์สยาม” ต้องกระตุ้น ร.ฟ.ท.มากขึ้น

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ศักดิ์สยาม” ถึงแนวทางแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีกลางบางซื่อที่กำลังนับถอยหลังเปิดบริการ และปิดสถานีหัวลำโพง รวมถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่การให้เอกชนร่วมลงทุน PPP

Q : ความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีแดง

ล่าสุดประชุมกับ ร.ฟ.ท.มี 4 เรื่องต้องเคลียร์ งบประมาณเพิ่มขึ้นจากกรอบที่กำหนด การเดินรถ การบริหารสถานีกลางบางซื่อ และการบริหารพื้นที่รอบสถานี เรื่องงบฯที่เพิ่มขึ้นจากงานก่อสร้างเพิ่มเติม 10,345 ล้านบาท ให้ดูเนื้องานใดที่ได้ทำตามข้อระเบียบและกฎหมายให้รีบทำ ส่วนอะไรที่ยังทำไม่ได้ให้เร่งสรุปและหาวิธีว่าจะทำอย่างไร ให้ยึดหลักกฎหมายต่าง ๆ ให้ครบถ้วน

เรื่องที่ 2 การเดินรถ วางรูปแบบเดินรถไว้แล้ว เมื่อสถานีกลางบางซื่อเปิดใช้ สถานีหัวลำโพงจะต้องปิดทันที จะไม่มีขบวนรถไฟวิ่งเข้าในเมืองผ่านสถานีหัวลำโพง ให้ ร.ฟ.ท.บูรณาการจัดการเดินรถใหม่ทั้ง 4 ทิศ คือ ทิศเหนือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันออกใหม่ จะเปลี่ยนถ่ายรถไฟทางไกลแล้วเปลี่ยนให้คนขึ้นรถไฟชานเมืองเข้าเมืองแทน โดยสายใต้อาจจะให้หยุดรถที่สถานีบางบำหรุ หรือสายอีสานให้หยุดรถแล้วเปลี่ยนขบวนที่สถานีเชียงราก นั่งสายสีแดงต่อรถเข้ามาสถานีกลางบางซื่อ

ส่วนการเปลี่ยนถ่ายระบบและค่าโดยสาร คิดไว้ 2 ทาง 1.ใช้ตั๋วรถไฟทางไกลเดิมที่กำหนดว่าสถานีหัวลำโพงยังเป็นสถานีปลายทางโดยสารต่อไปจนถึงสถานีกลางบางซื่อ กับ 2.คิดอัตราค่าโดยสารใหม่ ตัดสถานีหัวลำโพงออกจากการเป็นสถานีปลายทาง

ทั้งนี้ การเปลี่ยนขบวนรถไฟทางไกลมาเป็นรถไฟฟ้าสายสีแดงสำหรับผู้โดยสารที่มาจากต่างจังหวัดต้องไม่มีค่าแรกเข้า และตัวรถไฟทางไกลจะต้องวิ่งแบบยกระดับเชื่อมเข้ามาในสถานีกลางบางซื่อ ห้ามวิ่งบนพื้นราบ อะไรที่พร้อมยกระดับก็ให้ยกระดับเชื่อมเข้ามา อะไรไม่พร้อมให้หยุดรอข้างนอก เพื่อแก้การจราจรและจุดตัดรถไฟในกรุงเทพฯ ส่วนการขนส่งสินค้าให้ ร.ฟ.ท.กำหนดให้ชัดจะให้สถานีใดเป็นสถานีสุดท้ายขนส่งสินค้า โดยให้จุดขนถ่ายสินค้าอยู่ด้านนอกสถานีกลางบางซื่อ ทำให้รถที่วิ่งรับ-ส่งสินค้าอยู่ด้านนอก จะแก้จราจรไปด้วยในทางหนึ่ง

Q : ให้เวลา 11 เดือนบริษัทลูกรถไฟบริหารสายสีแดง

ร.ฟ.ท.จ้างบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัทลูกมาเดินรถสายสีแดงให้ เป็นนโยบายการเดินรถที่กระทรวงจะทำเดินรถแบบ PPP แต่การทำ PPP ต้องใช้เวลาศึกษาและดำเนินการประมาณ 3 ปี ขั้นแรกคงให้บริษัทลูกรถไฟที่บริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์เป็นผู้เดินรถไปก่อน 11 เดือน ได้หารือกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแล้วถึงความพร้อมและความสามารถ ต้องยอมรับว่าแอร์พอร์ตเรลลิงก์บริหารงานได้ดีขึ้น ทั้งเดินรถเร็วขึ้น นำรถมี 9 ขบวนออกให้บริการประชาชนครบ และตรงต่อเวลาถือว่าทำได้ดีที่สุดในบรรดารถไฟฟ้าหลาย ๆ สีในกรุงเทพฯและปริมณฑลเวลานี้

มอบปลัดกระทรวงคมนาคม (นายชยธรรม์ พรหมศร) กรมการขนส่งทางราง และ ร.ฟ.ท. ตั้งคณะทำงานมอนิเตอร์การทำงานตลอด 11 เดือนของแอร์พอร์ตเรลลิงก์เป็น KPI เช่น ตรงต่อเวลา ซ่อมบำรุง บริหารต้นทุน เป็นต้น ถ้าพิสูจน์ผลงานตาม KPI ใน 11 เดือนได้ จะให้แอร์พอร์ตเรลลิงก์เดินรถสายสีแดง เป็นความท้าทายของบริษัทด้วย เพราะสายสีแดงมีรถที่มากกว่าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ 25 ขบวน แล้วตู้รถไฟมีความยาวกว่า มี 6 ตู้รับผู้โดยสารได้ 1,000 กว่าคน/ขบวน จริง ๆ ไม่ได้มีแค่นี้ เพราะรถไฟฟ้าทั้งระบบยังขาดบุคลากร ทางสหภาพเสนอให้จัดตั้งองค์กรคล้ายโรงเรียนฝึกอบรม คมนาคมเสนอ ครม.จัดตั้ง “สถาบันราง” แล้ว อยู่ระหว่างเซตระบบองค์กร รับถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟฟ้าจากประเทศต่าง ๆ ที่ไทยเองใช้อยู่ ทั้งจีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และแคนาดา

Q : ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันที่สร้างเสร็จนานแล้ว

ปลายเดือน ม.ค.นี้จะไปดูช่วงสถานีกลางบางซื่อไปสถานีตลิ่งชัน มีความพร้อมจริงหรือไม่ ส่วนเปิดทดลองวิ่งเสมือนจริงสายสีแดงจะเกิดขึ้นเดือน มี.ค. 2564 ให้ ร.ฟ.ท.ประชาสัมพันธ์และอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่า “การทดสอบเสมือนจริง” คืออะไร และถ้าใครอยากจะขึ้นต้องทำอะไร เพราะจะไม่ได้วิ่งแบบปกติ ส่วน ก.ค.จะเปิดใช้หรือไม่ ถือเป็นระยะถัดไป หลักการเหมือนช่วงเปิดส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน เปิดให้ใช้ฟรี 1-2 เดือน และเปิดเชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ย.นี้ ค่าโดยสารกำลังพิจารณา เริ่มต้นที่ 15 บาท

Q : รูปแบบบริหารสถานีกลางบางซื่อ

ให้ ร.ฟ.ท.กลับไปดูสเกลสัดส่วนของพื้นที่ระหว่างเชิงพาณิชย์และพื้นที่กลาง เวลาบริหารสถานีจะมีค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคทันที ยังมีค่าจ้างแม่บ้านทำความสะอาด จ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย โดย ร.ฟ.ท.คำนวณคร่าว ๆ หากบริหารสถานีกลางบางซื่อ 4 ปี (2564-2567) มีต้นทุนบริหารรวม 1,400 ล้านบาท ให้ปลัดกระทรวงคมนาคมไปตรวจสอบตัวเลขนี้ มีรายการอะไรที่ไม่จำเป็นให้ตัดออก

ส่วนแหล่งเงินจะนำมาเป็นค่าใช้จ่าย ทาง ร.ฟ.ท.บอกมีอยู่ 257 ล้านบาทเท่านั้น ก็คือเปิดให้บริการปุ๊บ ขาดทุนทันที สั่งให้ตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน, ร.ฟ.ท., กรมการขนส่งทางราง, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รวมถึงให้ดึงผู้บริหารสนามบินสุวรรณภูมิมาร่วมด้วย เพื่อดูการจัดสเกลพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่เชิงพาณิชย์กำชับให้บริหารให้ดีเป็นพิเศษ จะทำให้เกิดรายได้ให้เสนอข้อมูลภายใน 1 เดือน ซึ่ง ร.ฟ.ท.มีศักยภาพเยอะมาก มีที่ดินในมือมาก เอกชนเช่าที่ไปนิดเดียว แต่บริหารให้มีกำไรมหาศาล ร.ฟ.ท.เองมีพื้นที่มหาศาลทำไมจะทำไม่ได้

ยังให้ประสานกระทรวงมหาดไทยนำสินค้า OTOP มาวางขายภายในสถานีกลางบางซื่อ ให้ดูว่าควรมีจัดงานนิทรรศการแบบเมืองทองธานีหรือไม่ รวมถึงการแบ่งผลกำไร เพราะคมนาคมต่อไปอย่าคิดทำเพียงเรื่องโลจิสติกส์อย่างเดียว ต้องทำสิ่งที่สร้างงาน สร้างอาชีพให้ประชาชนด้วย อย่าเอาแต่ลงทุน แต่ไม่คิดเรื่องการหารายได้ อย่าหวังจะต้องขอเงิน PSO (เงินอุดหนุนบริการสาธารณะ) จากรัฐอย่างเดียว วันนี้รถไฟต้องเปลี่ยน mindset ได้แล้ว ทำตัวให้ทันโลกและต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้

Q : การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีกลางบางซื่อ

ตามแผนมี 9 แปลง พื้นที่รวม 2,325 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ ศูนย์ประชุม ศูนย์ราชการ เป็นต้น จากแผนที่เสนอใช้เวลาพัฒนาถึง 10 ปี ผมหารือกับปลัดคมนาคมแล้วมองว่า ควรพัฒนาทั้ง 9 แปลงไปพร้อม ๆ กัน ให้เกิดความสัมพันธ์ในการใช้ประโยชน์แต่ละพื้นที่ อย่างเช่น สร้างที่ทำงานและที่อยู่อาศัย ก็ควรมีศูนย์การค้า ช็อปปิ้งมอลล์ หรือซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เหมือนไก่กับไข่ ต้องมาพร้อมกัน ควรจะเป็นตึกสูงทั้งหมด ไม่ควรมีสิ่งปลูกสร้างแบบแนวราบ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้พื้นที่ให้มากที่สุด

ทางพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็เห็นด้วยกับไอเดียนี้ หากส่วนราชการจะขอใช้ที่ จัดให้อยู่ในอาคารเดียวกัน เป็นศูนย์ราชการแห่งใหม่ ไม่ใช่ต่างคนต่างไปอยู่คนละที่ ให้ ร.ฟ.ท.นำแนวคิดนี้ไปปรับปรุงแผนพัฒนาให้เสร็จใน 1 เดือนนี้แล้วเสนอให้พิจารณาใหม่ ซึ่งทั้ง 9 แปลงจะให้อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัทลูกบริหารทรัพย์สินของ ร.ฟ.ท.

Q : ต่อขยายสายสีแดง 4 เส้นทางรอ PPP

ให้ ร.ฟ.ท.ศึกษารูปแบบลงทุน PPP ทั้ง 4 เส้นทาง มีช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,570.40 ล้านบาท ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 10,202.18 ล้านบาท ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 4.3 กม. วงเงิน 6,645.03 ล้านบาท และ Missing Link ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท จะรวบทั้งหมดเป็นสัญญาเดียวทั้งก่อสร้างและเดินรถ รวมบริหารสถานีรายทางและสถานีกลางบางซื่อ ให้เวลา ร.ฟ.ท.ทำข้อมูล 30 วัน จะเดินหน้าไปพร้อมประเมินผล 11 เดือนที่ให้บริษัทลูก ร.ฟ.ท.เดินรถสายสีแดง หากทำได้ดี ผมจะให้ ร.ฟ.ท.ระบุไปในเอกสารข้อเสนอ (RFP) ของโครงการ ให้เอกชนที่จะลงทุนต้องรับบริษัทลูกด้วย

คำว่ารัฐวิสาหกิจต่อจากนี้ไป สำหรับผมไม่ใช่เป็นเรื่องบริการประชาชนแล้วขาดทุน มันต้องอยู่รอด อย่าง บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ทำวันนี้ผมก็เห็นด้วย แต่บางเรื่องถ้ามากไปก็ต้องลดลงมา เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน