ก้าวไกล ซัด 3 ป. ทำรถไฟฟ้าแพง “อนุพงษ์” ย้ำ ม.44 ใช้แก้ปัญหาสายสีเขียว

ก้าวไกล ซัด 3 ป.-1

“สุรเชษฐ์ ก้าวไกล” ซัดรัฐบาลสร้างรถไฟฟ้าไม่มองภาพรวม เน้น กทม.ละเลยต่างจังหวัด ติงอย่าอนุมัติโครงการมั่วซั่ว ก่อนระบุ 3 ป.ทำรถไฟฟ้าแพง “ปั้นตัวเลขผลการศึกษาเกินจริง-เร่งอนุมัติโครงการหวังกินหัวคิว-ปันผลประโยชน์กลุ่มทุน”ตีสายสีเขียว-ส้มไม่โปร่งใส ด้าน “อนุพงษ์ เผ่าจินดา” มานิ่ม ย้ำ ม.44 แก้ปัญหาโปร่งใสไร้ทุจริต ชี้รัฐอุดหนุน-ลงทุนเองหทมดไม่ได้

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (17 ก.พ.) นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม, พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กรณีค่ารถไฟฟ้าแพงโดยเฉพาะกรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสายสีส้ม

ลงทุนรถไฟฟ้าไม่มองภาพรวม

นายสุรเชษฐ์ เริ่มต้นว่า เห็นด้วยกับการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ แต่ไม่เห็นด้วยกับหลายสิ่งที่รัฐบาลทำ ซึ่งเป็นผลทำให้รถไฟฟ้ามีราคาแพง เพราะรัฐบาลสร้างแบบไม่คิด มองแบบเป็นสาย ๆ แบ่งเค้กเป็นแต่ละสายไปแล้วแต่การเจรจา ทำให้ค่าโดยสารในเมืองไทยแพง มีค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน อย่างกรณีสายสีเขียวไม่ควรมองเฉพาะสายสีเขียวที่มี 3 คอน แต่ควรพูดถึงการเกิดค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน เมื่อเดินทางต่อในสายทางอื่น ๆ

เช่น การต่อกับสายสีชมพู เหลือง และแดง เป็นต้น และไม่ได้คิดถึงการพาคนมาสถานีรถไฟฟ้าเลย ระบบฟีดเดอร์ไม่ได้คิด แล้วแต่ละสัญญาก็เปลี่ยนแปลงยาก เพราะสัญญาผูกไว้ด้วยการลงทุนแบบ PPP Net Cost มีระยะสัญญา 30 ปี

“รถไฟฟ้าแต่ละสายใช้เงินลงทุนสูงระดับแสนล้านบาท ตกกิโลเมตรละ 2-9 พันล้านบาท ผิดกับรถเมล์ไฟฟ้าตกคันละ 3-10 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลพลเอกประยุทธ์อนุมัติลงทุนรถไฟฟ้าในกรุงเทพและปริมณฑลไปแล้ว 508,609 ล้านบาท

ละเลยหัวเมืองอื่นทั่วประเทศทั้งขอนแก่น นครราชสีมา เชียงใหม่ ภูเก็ต อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา, อุดรธานีและอุบลราชธานี เป็นต้น ซ่างควรมีระบบขนส่งสาธารณะได้แล้ว และการบริหารระบบสาธารณะล้มเหลวคนใช้น้อย ภาระตกอยู่กับประชาชน” นายสุรเชษฐ์กล่าว

ติงอย่าอนุมัติมั่วซั่ว

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า การบริหารที่ขาดการวางแผนเป็นระบบทั้งการไม่คิดว่าจะทำโครงการใดก่อน-หลัง, ไม่ลงทุนในระบบรอง และการมองปัญหาเป็นสายๆรายๆไม่ได้เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง จึงเป็นต้นเหตุที่ทำให้ค่ารถไฟฟ้ามีราคาแพง จึงขอให้อย่าเร่งอนุมัติมั่วซั่วแล้วทิ้งปัญหา

ส่วนการอุดหนุนของรัฐก็มีผล อย่างสายสีเขียวที่รัฐไม่อุดหนุนการก่อสร้างเลย ก็ทำให้ค่ารถไฟฟ้าแพงมาก รัฐบาลจึงควรสร้างสมดุลให้ดีระหว่างการลงทุนและการอุดหนุนโครงการให้ดี ซึ่งการเลือกระบบขนส่งสาธารณะจึงมีผลมาก หากเลือกระบบขนส่งใหญ่ไป ราคาก็แพง และอุดหนุนน้อยไป ราคาก็แพงเช่นกัน

ขณะที่ประเด็นตั๋วร่วมก็ยังไม่เกิดจริง ซึ่งต้องคิดทั้งการเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว และค่าโดยสารข้ามสายทาง เรื่องานระบบไม่มีปัญหาอยู่แล้ว แต่น่าจะมาจากการที่รัฐบาลเกรงใจขาใหญ่บางรายมากกว่า จึงไม่กล้าทำ เหลือเพียงซากอารยธรรมที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ลงทุนไป 648 ล้านบาท แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์

ผลการศึกษาไม่เป็นจริง-รีบอนุมัติโปรเจ็กต์หวังกินหัวคิว

นอกจากนั้น ยังมีกระบวนการ 3 ป.ที่ทำให้ค่าโดยสารแพง ป.แรกคือ ป.ปั้นตัวเลข ผลการศึกษาในหลาย ๆโครงการไม่เป็นไปตามจริง ค่าต่างๆ เช่น EIRR FIRR ต่ำกว่าผลการศึกษาเดิมที่ทำไว้ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ ทำให้รัฐบาลต้องแบกรับปัญหาที่ตามมา

ป.ที่ 2 การปั่นโครงการ มีความเร่งรีบ ต้องการสร้างจนมองว่ามีการกินหัวคิวหรือไม่ ซึ่งนอกจากค่าโดยสารแพงแล้ว ปัญหามลพิษและจราจรติดขัดก็จะตามมา ทำให้คนอนุมัติรวย แต่ประชาชนลำบาก และจังหวัดอื่นไม่ได้รับการจัดสรรงบไปทำระบบขนส่งด้วย

ซัดสายสีเขียวคุยเงียบ ไม่เปิดเผย

และ ป.สุดท้าย ปันผลประโยชน์ ยกตัวอย่างรถไฟฟ้าสายสีเขียว การแบ่งเป็น 3 ส่วน แบ่งตามออร์ปอเรเตอร์ ไม่ได้เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง แล้วใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2562 ซุกปัญหา แอบเจรจาไม่เปิดเผยรายงานการประชุมของคณะกรรมการที่เจรจากัน แถมผลการเจรจาที่มีขอหลักฐานอะไรไป ก็ไม่เปิดเผยให้รับรู้เลย ส่วนราคาค่าโดยสารสูงสุด 65 บาทก็แพงอยู่ดี ทำไมจึงเป็นราคานี้ ควรเอารายละเอียดมากางดูกัน เชื่อว่าถูกกว่า 65 บาททำได้ถ้ารัฐอุดหนุน

ดักคอ”ศักดิ์สยาม”เล่นใหญ่อย่ากลับลำ

และอยากถามไปยังนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมด้วย เพราะประเด็นนี้เล่นใหญ่มาก ทั้งการเสนอความเห็นเพิ่มเติมในที่ประชุม ครม. หรือการที่ลูกพรรคไปฟ้องศาลปกครอง และการที่ประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎรมีประธานคณะเป็นคนของพรรคภูมิใจไทย เรียกกทม.มาชี้แจงประเด็นนี้ ไม่เห็นด้วยกับกรณี จะคอยดูว่านายศักดิ์สยามจะว่าอย่างไร เล่นใหญ่แล้วอย่ากลับลำ

สายสีส้ม ศึกใหญ่กลุ่มทุน

และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นสายที่เอกชนแย่งกันเยอะมาก เพราะรัฐช่วยอุดหนุนค่อนข้างมาก งานก่อสร้างอุดหนุนถึง 100% ซึ่งมีโอกาสกำไรงาม จนเกิดศึกประมูลรถไฟฟ้าระหว่าง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ร่วมกับบมจ.อิตาเลี่ยนไทย (ITD) และ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) ช่วงแรก ๆ ยังใช้เกณฑ์ราคาในการพิจารณาโครงการ

ต่อมาหลังจากออกประกาศเชิญชวนแล้ว ITD มีหนังสือเรียนถึงคณะกรรมการคัดเลือกขอให้ปรับปรุงการประเมินข้อเสนอ แล้วสุดท้ายก็เปลี่ยนเกณฑ์การพิจารณาจริง ๆ ซึ่งเกณฑ์นี้ไม่เคยใข้กับโครงการใดมาก่อนจน BTS นำเรื่องนี้ยื่นฟ้องศาลปกครอง จนชนะมาแล้วรอบหนึ่ง แต่รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกอุทธรณ์ต่ออีก ลามถึงการถวายฎีกา จนในที่สุด รฟม.ก็ตัดสินใจยกเลิกการประมูล เชื่อว่าการเปลี่ยนเกณฑ์ดังกล่าวมีใบสั่งแน่นอน

เพราะเกณฑ์ใหม่ที่กำหนดสัดส่วนเอาคะแนนเทคนิคมาเพิ่ม 30% ลดสัดส่วนการเงินเหลือ 70% แถมในการเงินมี 10% เป็นคะแนนที่จะให้จากความน่าเชื่อถือและความครบถ้วนและถูกต้อง เหมือนเป็นคะแนนจิตพิสัย วัดไม่ได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของการให้คะแนน และศาลปกครองกลางก็ระบุว่า การใช้หลักเกณฑ์นี้มีความไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ซัดเขียว-ส้มรอ”ประยุทธ์”เคลียร์

หากนำทั้ง 2 สายนี้มาเทียบกัน จึงน่าตั้งข้อสังเกตว่า จากการที่ BTS มีประเด็นกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ทำให้กระทรวงคมนาคมที่เคยมีความเห็นให้ผลักดันสัมปทานสายสีเขียวถึง 3 ครั้งเมื่อมีการสอบถามความเห็น กลับลำขวางไม่เห็นด้วยเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2563 ซึ่งท้ายสุดเป็นการรอให้พลเอกประยุทธ์ลงมาเคลียร์นั่นเอง

“อนุพงษ์” ชี้รัฐอุ้มหมดไม่ได้

ด้านพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงว่า ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเขียวถือว่าผู้อภิปรายเข้าใจเหตุผลทั้งหมด แต่ไม่เห็นด้วยกับการใช้คำสั่งม.44 เพราะไม่เห็นรายละเอียดการเจรจา เกรงไม่โปร่งใสนั้นก็ว่าไป ส่วนเรื่องอื่นเป็นเรื่องของกระทรวงคมนาคม

อย่างไรก็ตาม ขอแสดงความเห็นเกี่ยวกับการลงทุนโครงการต่างๆที่เสมอมา รฟม. ควรทำเองทั้งหมดเพียงผู้เดียว ซึ่งก็น่าจะการทำให้ตั๋วร่วมเกิดง่ายขึ้น ปัจจุบันรัฐบาลพยายามทำระบบตั๋วร่วมที่เป็น Euro-VISA-Master Card อยู่ แต่ปัญหาคือ ประเทศไทยยังตกลงเรื่องเคลียร์รื่งเฮ้าส์ไม่ได้ เพราะค่าโดยสารแต่ละสายทางมีราคาไม่เท่ากัน ต้องเคลียร์ว่าใครมีระบบอย่างไร แล้วแบ่งประโยชน์กัน

กลับมาเรื่อง การลงทุน หากรัฐบาลอุดหนุนโครงการรถไฟฟ้าทุกสาย แล้วรัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนไปขุดคลองให้ชาวนา ท่านก็พูดเองว่า ไม่ให้เน้นเฉพาะคนกทม. ดังนั้น หากทำอย่างที่ท่านกล่าว คนที่ต้องการท่อระบายน้ำทำอย่างไร? แล้วยิ่งไปลงทุนในต่างจังหวัด ผลขาดทุนเกิดขึ้นแน่ 100% ไม่มีทาง หายากมากที่จะลงทุนแล้วรอด จังหวัดที่มีความพยายามจะทำเองอย่าง จ.ขอนแก่น ก็ต้องใช้สูตรเหมือน กทม. คือวางแผนก่อสร้างก่อน 1 สาย เป็นสายเดียวและเป็นสายหลักเหมือนสายสีเขียวและสายสีส้มใน กทม.

ยันใช้ม.44 แก้ปัญหา

“รถไฟฟ้าลงทุนหนักจริงๆ แต่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนในอนาคต โจทย์ของท่านเป็นสเกลใหญ่ ซึ่ง คจร.ทำอยู่ แต่ผมไม่แน่ใจจะทำได้ไหม โดยเฉพาะการให้รัฐลงทุนและอุดหนุนให้มาก แบกทั้งหมดแทน รัฐทำไม่ไหวจึงให้เอกชนทำแทน มันยจึงต้องมีตั๋วร่วม ผมคิดว่าถ้ารัฐทำตั๋วร่วมแล้วจะซับซิไดร์ให้ ก็ทำได้ในความคิดเห็นผม

ส่วนการออกไปต่างจังหวัดก็คิดอีกแบบ เพราะไปแล้วขาดทุนแน่นอน ส่วนสายสีเขียวตอนเริ่มนั้นไม่มี รฟม. เขาให้กทม.ดูแล ผมกำกับ กทม.ก็มาดู เกิดปัญหา ท่านนายกฯก็ใช้ ม.44 แก้ให้หมดแล้ว ด้วยความที่ต้องการแก้ปัญหาและไม่มีทุจริต ผมเรียนได้เต็มปาก เหลือการเจรจาที่ท่านสงสัยเท่านั้นว่าจะเป็นอย่างไร”