LPN ส่ง”แจ๋วลุมพินี” บุกคอนโด ย้ำผู้นำโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์อสังหา

เปิดแผนบริษัทลูก LPN ส่งบริการ “แจ๋วลุมพินี” โมเดลต้นแบบการทำธุรกิจโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์วงการอสังหาฯ เผย 3 ปีรายได้ทำความสะอาดคอนโดฯ-ในห้องชุด 18-25 ล้าน พนักงานสตรีผู้ด้อยโอกาส 1,700 คน ประกาศความพร้อมรับงานภายนอก ลอตแรกคู่สัญญา “อนันดา-คิวเฮ้าส์-แกรนด์ยูฯ” ปีหน้าโควตารับเพิ่ม 5-10 โครงการ

นางสุรัสวดี ซื่อวาจา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี พร็อพเพอร์ตี้ เซอร์วิส แอนด์ แคร์ จำกัด (LPC) บริษัทลูกของ บมจ.แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ LPN เปิดเผยว่า หลังจากเปิดให้บริการเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2554 บริษัทมีความพร้อมในการรับงานภายนอก จากเดิมเน้นรองรับการให้บริการคอนโดมิเนียมในเครือ LPN เป็นหลัก

โมเดลต้นแบบ SE

นางสุรัสวดีกล่าวว่า ต้นปี 2560 นโยบายบริษัทแม่ผลักดันให้มีการออกไปรับงานนอกแบรนด์ LPN เป็นปีแรก โดยเริ่มจากลูกค้าคอนโดมิเนียม 5 โครงการ แบ่งเป็นคอนโดฯในกลุ่มอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ 3 โครงการ, ควอลิตี้เฮ้าส์ 1 โครงการ และแกรนด์ ยูนิตี้ 1 โครงการ เฉลี่ยค่าบริการ 17,000 บาท/พนักงาน 1 คนรายได้หลักจะเห็นว่ามาจากการให้บริการคอนโดฯในเครือ LPN เป็นหลัก ปัจจุบันมีกว่า 100 โครงการ ในขณะที่แต่ละปีมีการป้อนงานในโครงการสร้างใหม่เฉลี่ยปีละ 10 ไซต์ เทียบเท่ามีความต้องการพนักงานเพิ่มเฉลี่ยปีละ 100-150 คน จากปัจจุบันมีพนักงาน 1,700 คน

ในด้านรายได้ พบว่าช่วง 3 ปี (2557-2559) อยู่ระหว่าง 18 ล้านบาท, 20 ล้านบาท และ 25 ล้านบาท คาดว่าปีนี้ไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาท โดยมีมาร์จิ้นในการดำเนินธุรกิจเพียง 2-3%

ทั้งนี้ บริษัทได้รับรางวัลด้านการลงทุนในกิจการเพื่อสังคม หรือ SE (Social Enterprise) จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2558 โดยมีโมเดลธุรกิจคือบริษัท LPC มีนโยบายในการรับสมัครพนักงานจากกลุ่มสตรีผู้ด้อยโอกาสในสังคม และไม่เน้นสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น โดยกำไรที่ได้จากการดำเนินการจะส่งกลับคืนให้พนักงานในรูปแบบค่าตอบแทนและสวัสดิการต่าง ๆ

“คำนิยามสตรีด้อยโอกาสมี 3 ด้าน เรื่องแรกการศึกษาค่อนข้างต่ำหรือขาดการศึกษา, ถูกเอารัดเอาเปรียบค่าจ้างแรงงาน และมีปัญหาทางครอบครัว ถูกสามีทิ้ง ต้องรับผิดชอบดูแลบุตรหรือบิดามารดา กลุ่มคนเหล่านี้เรารับสมัครในรัศมี 3-5 กม.จากที่ตั้งคอนโดฯ เพื่อให้สะดวกในการเดินทางมาทำงาน ในด้านค่าจ้างที่ได้รับคือค่าแรงขั้นต่ำบวกอีก 10% มีสวัสดิการให้เรียนการศึกษานอกโรงเรียนเพิ่ม มีทุนการศึกษาให้บุตรธิดา มีประกันสุขภาพ ให้เรียนอาชีพเสริม และมีโบนัสเฉลี่ย 1.8-2 เดือน”

สัญญาขั้นต่ำ 3 เดือน

สำหรับรูปแบบการให้บริการ มีเนื้องาน 3 ส่วน หลัก ๆ คืองานทำความสะอาด ต้อนรับชุมชน และขับรถชุมชน ในจำนวนพนักงาน LPC 1,700 คน รับงานทำความสะอาดชุมชนและในห้องชุด 1,300 คน ที่เหลือรับงานต้อนรับชุมชนซึ่งเป็นการทำหน้าที่ประจำจุดบริเวณล็อบบี้อาคารก่อนเข้าลิฟต์ เนื่องจากเป็นจุดทัชพอยต์มีการพบปะกับเจ้าของร่วมหรือเจ้าของห้องชุดในโครงการมากที่สุด

“อีกส่วนคืองานขับรถชุมชน เป็นเพราะคอนโดฯ LPN มีบริการรถตู้ชัตเติลบัสให้บริการเจ้าของห้องชุดในเส้นทางรับ-ส่งระหว่างคอนโดฯกับสถานีรถไฟฟ้า ประเด็นคือ การจัดจ้างบุคคลภายนอกมีปัญหาเนื่องจากลักษณะงานมี 2 ช่วงในตอน 6-8 โมงเช้า กับตอนเย็น 5 โมง-1 ทุ่ม ในขณะที่ตอนกลางวันคนขับรถจะว่าง ทำให้การหาคนมาขับรถให้ลำบากมาก จึงใช้วิธีคัดเลือกพนักงาน LPC แล้วมาฝึกทักษะในการขับรถ ตอนกลางวันให้ไปช่วยงานพัสดุ”

กรรมการผู้จัดการ LPC กล่าวต่อว่า งานที่เป็นหัวใจจริง ๆ คือ บริการทำความสะอาดชุมชนและในห้องชุด โดยมี “พนักงานบริการชุมชน” หรือพนักงานทำความสะอาดภายใต้แคมเปญ “แจ๋วลุมพินี” ตอบสนองไลฟ์สไตล์การอยู่อาศัยในห้องชุดซึ่งมีความต้องการสูงมาก คิดค่าใช้จ่าย 2 แบบ คือ 1. แบบเหมาจ่ายครั้งเดียวจบ 2. ทำสัญญาเป็นรายเดือนโดยค่าใช้จ่ายทำความสะอาดในห้องชุด ไซซ์เริ่มต้น 21-95 ตารางเมตร ราคาเหมาจ่ายครั้งเดียว 350-1,300 บาท/ครั้ง

ในขณะที่การทำสัญญาแบบรายเดือนมีเงื่อนไขขั้นต่ำ 3 เดือนขึ้นไป แบ่งเป็นเดือนละ 2-4 ครั้ง ถัวเฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่อครั้งจะถูกกว่าจ้างเหมาครั้งเดียวจบ โดยการทำความสะอาดเดือนละ 4 ครั้ง (สัปดาห์ละครั้ง) มีค่าบริการครั้งละ 200-350 บาท กับสัญญาแบบเดือนละ 2 ครั้ง ค่าบริการตกครั้งละ 300-600 บาท

ขยายผลผู้สูงวัย

จากแนวโน้มประชากรผู้สูงวัย ทำให้ LPC ต้องรีโมเดลธุรกิจรับมือ โดยทางบริษัทแม่คือ LPN ให้นโยบายมาว่าให้พิจารณาขยายผลในการจ้างพนักงานผู้สูงวัยและผู้พิการเพิ่มขึ้น

พบว่าพนักงานบริษัทแม้อายุเกินวัยเกษียณแต่หากยังแข็งแรงและมีความต้องการทำงานเพื่อหารายได้ บริษัทยังจ้างทำงานต่อไป แต่มีการคัดเลือกลักษณะงานให้เหมาะสมกับวัย เช่น ทำความสะอาดบริเวณลานจอดรถซึ่งเป็นสถานที่โล่ง สามารถพักได้เป็นระยะ ไม่มีจุดทัชพอยต์เรื่องความสะอาดมากเท่ากับบริเวณโถงทางเดินหรือล็อบบี้ หรืองานเช็กลิสต์ต่าง ๆ ที่ไม่ต้องลงแรงด้วยตัวเอง เป็นต้น

“การทำธุรกิจในรูปแบบโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์กำลังเป็นที่ตื่นตัวในวงการผู้ประกอบการ LPC ก็เกิดขึ้นด้วยคอนเซ็ปต์ที่ต้องการแบ่งปันให้กับชุมชนทั้งภายในและบริเวณรอบข้างโครงการ ตัวชี้วัดว่าเราเดินมาถูกทางและความสำเร็จคือการปลูกจิตสำนึกเรื่องการแบ่งปันถูกส่งต่อไปยังพนักงาน LPC มีการขอทำจิตอาสาทำความสะอาดชุมชนใกล้เคียงคอนโดฯที่ตัวเองทำงานอยู่ ปีที่แล้วทำอีเวนต์จิตอาสา 1,600 ครั้ง จนทำให้บริษัทต้องบรรจุเป็นเงื่อนไขในสัญญาให้บริการว่า จะต้องมีเวลาให้แจ๋วลุมพินีสามารถออกไปทำจิตอาสาได้ด้วย” นางสุรัสวดีกล่าว