รฟม.เดินหน้าประมูล “สายสีส้ม” กติกาใหม่ตัดเชือกเทคนิคพ่วงราคา

นับหนึ่งประมูลรอบใหม่รถไฟฟ้าสายสีส้ม ”บางขุนนนท์-มีนบุรี” รฟม.เปิดซาวเสียงทุนไทย-เทศ ยกร่าง TOR ให้ยื่นข้อเสนอ 3 วัน ยื่นข้อเสนอ 4 ซอง พิจารณาร่วมคะแนนเทคนิคและราคา สัดส่วน 30:70 คาดขายซอง เม.ย.นี้

เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเพื่อนำความคิดเห็นดังกล่าวมาพิจารณาประกอบการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ความตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562)

เปิดกว้างทุนนอกร่วมให้ความเห็น

โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นบริษัทที่ดำเนินกิจการบริหารการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน สถาบันการเงิน ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายระบบรถไฟฟ้า บริษัทก่อสร้าง นักลงทุนภาคเอกชน และภาคเอกชนทั่วไปที่สนใจในโครงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารการรับฟังความคิดเห็น

ประกอบด้วย สรุปสาระสำคัญของร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และแบบสอบถามการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน ได้ที่ตั้งแต่วันที่ 2 – 16 มี.ค.นี้ โดยกรอกข้อคิดเห็นตามแบบสอบถาม และจัดส่งให้ รฟม. ตั้งแต่วันที่ 17-19 มี.ค.นี้

โดย รฟม. หวังจะได้รับความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน ของโครงการ ให้เกิดความเหมาะสมและความสำเร็จในการดำเนินโครงการต่อไป

ยื่นข้อเสนอ 4 ซอง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม ทั้งนี้ในรายละเอียดของหลักเกณฑ์ รฟม.ยังคงให้ผู้ยื่นข้อเสนอ 4 ซอง ได้แก่ ซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค ซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน และซองที่ 4 ข้อเสนออื่น ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการและการดำเนินงานของ รฟม.

โดยการพิจารณาจะเริ่มจากข้อเสนอซองที่ 1 จะพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 และ 3 โดยการประเมินข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคจะแบ่งออกเป็น 4 หมวด คือ 1.โครงสร้างองค์กรและความสามารถของบุคลากรในการบริหารงาน รวมถึงแผนงานรวม 2.แนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคโยธา 3.แนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคระบบรถไฟฟ้า และ 4.แนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคบริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา

เดินหน้าพิจารณาร่วมเทคนิค+ราคา

ขณะที่การประเมินข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน แบ่งเป็น 2 หมวด คือ 1.ความน่าเชื่อถือและความครบถ้วนถูกต้อง และ 2.ผลตอบแทนทางการเงิน

ผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 จะได้รับการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 และซองที่ 3 โดย รฟม.จะประเมินข้อเสนอซองที่ 2 และซองที่ 3 เป็นคะแนน

โดยมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน แบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอ ด้านเทคนิค 30 คะแนน และคะแนนข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอ ด้านการลงทุนและผลตอบแทน 70 คะแนน และนำคะแนนซองที่ 2 และซองที่ 3 ของผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละรายมารวมกัน และผู้ยื่นข้อเสนอที่ได้คะแนนรวมสูงที่สุด จะเป็นผู้ผ่านการประเมินสูงสุด

ขณะที่การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 4 รฟม.สงวนสิทธิ์ที่จะพิจารณาข้อเสนอซองที่ 4 หรือไม่ก็ได้ ในกรณีที่รฟม.พิจารณา จะพิจารณาข้อเสนอจากผู้ชนะการคัดเลือกเท่านั้น

สงวนสิทธิ์ขยายเวลา-ยกเลิก

ทั้งนี้ รฟม.สงวนสิทธิ์ที่จะลด หรือขยายระยะเวลาของการคัดเลือก เปลี่ยนแปลงแก้ไข เพิ่มเติม ยกเลิก ประกาศเชิญชวน หรือเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนหรือยกเลิกการคัดเลือกเอกชน โดยไม่พิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอรายใดเลย หรือจะไม่คัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอที่เสนอให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุดก็ได้ โดยผู้ยื่นข้อเสนอไม่สามารถเรียกร้องค่าใช้จ่ายหรือค่าเสียหายใด ๆ ได้

สำหรับแผนการดำเนินงานและผลประโยชน์ที่จะเสนอให้แก่รัฐ ผู้ยื่นข้อเสนอต้องระบุแผนการดำเนินงาน ประกอบด้วย 1.แผนการดำเนินงานสำหรับงานสำหรับงานระยะที่ 1 เช่น แผนการก่อสร้าง ประมาณการความก้าวหน้ารายเดือน แผนควบคุมคุณภาพและความปลอดภัย แผนจัดการและลดผลกระทบด้านจราจร แผนจัดหาระบบรถไฟฟ้า เป็นต้น

2.แผนการดำเนินงานสำหรับงานสำหรับงานระยะที่ 2 เช่น แผนการเดินรถและบำรุงรักษา ฉบับสังเขปแผนควบคุมคุณภาพและความปลอดภัย แผนงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นต้น ซึ่งผู้ยื่นข้อเสนอต้องระบุจำนวนเงินที่ขอให้รัฐชำระคืนค่างานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันตก และผลประโยชน์ที่จะเสนอให้แก่รัฐ ในซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กม. แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กม. จำนวน 17 สถานี เป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กม. จำนวน 11 สถานี เป็นสถานีใต้ดินตลอดสาย

ขายซองประมูล เม.ย.นี้

โดย รฟม.เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP Net Cost ระยะเวลา 30 ปี วงเงิน 128,128 ล้านบาท ก่อสร้างช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม และจัดหาระบบ ขบวนรถไฟฟ้า เก็บค่าโดยสาร และเดินรถตลอดสาย 30 ปี

รฟม.เตรียมร่างทีโออาร์ใหม่ เสนอคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 พิจารณาอนุมัติ โดยคาดว่าคณะกรรมการมาตรา 36 จะประชุมในช่วงปลายเดือน มี.ค. และประกาศขายเอกสารได้ช่วงเดือน เม.ย.นี้ โดยคาดว่าจะสรุปผลการประมูลและได้เอกชนในเดือน ส.ค. 2564 และนำเสนอ ครม.อนุมัติต่อไป