ผ่าปมสายสีส้มพิจารณาราคา-เทคนิค-“อดีตนายกฯวิศวะ” ชี้ต้องคุณภาพปลอดภัย

กลายเป็นประเด็นร้อนที่อยู่ในความสนใจของสังคม สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน มีมติให้ยกเลิกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ที่ ”รฟม.” เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost 30 ปี วงเงิน 128,128 ล้านบาท โดยให้เปิดประมูลใหม่

หลังจากเรื่องดังกล่าวถูกบริษัทเอกชนยื่นร้องให้เปลี่ยนเกณฑ์ประเมินใหม่ โดยให้พิจารณาข้อเสนอด้าน “เทคนิค” การดําเนินงาน ความน่าเชื่อถือ ศักยภาพ และความสามารถของผู้ยื่นข้อเสนอ เข้ามาพิจารณาประกอบด้วย

ไม่ใช่เอาแต่ข้อเสนอ “ทางการเงิน” เพียงอย่างเดียว

ในประเด็นนี้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีคมนาคม ชี้แจงว่าทำตามกฎหมายที่ให้อำนาจการยกเลิกได้

โดยสาเหตุที่ต้องปรับเปลี่ยนมาพิจารณาข้อเสนอเรื่องเทคนิค ก็เพราะต้องผ่านชุมชนหนาแน่น ย่านเศรษฐกิจการค้า ย่านสำคัญ เช่น เกาะรัตนโกสินทร์ จึงต้องรอบคอบระมัดระวัง

ยืนยันไม่มีเอื้อประโยชน์ให้ใคร เพราะยังไม่ได้เปิดซองด้วยซ้ำ!

จึงกลายมาเป็นคำถามว่าเหตุใดเรื่องของเทคนิคการก่อสร้างจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่ทำให้คณะกรรมการต้องล้มการประมูลเพื่อเปลี่ยนหลักเกณฑ์จากที่พิจารณาเรื่องราคา 100 เปอร์เซ็นต์ มาเป็นพิจารณาเรื่องเทคนิค 30 เปอร์เซ็นต์ และราคา 70 เปอร์เซ็นต์

เปิดเงื่อนไขรถไฟฟ้าสีส้ม

ก่อนจะเข้าใจปัญหา คงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า รถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วง บางขุนนนท์-มีนบุรี มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 35.9 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 27 กิโลเมตร และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 8.9 กิโลเมตร มีทั้งสิ้น 28 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 21 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี

เส้นทางการเดินรถ เริ่มต้นที่สถานีบางขุนนนท์ ซึ่งเป็นอุโมงค์ใต้ดินวิ่งไปตามแนวทางรถไฟเดิม ไปยังโรงพยาบาลศิริราช บริเวณสถานีศิริราช วิ่งลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาขนานไปกับสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ลอดใต้พื้นที่ถนนราชดำเนิน ผ่านสนามหลวง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

เบี่ยงแนวเส้นทางไปตามแนวถนนหลานหลวงจนถึงแยกยมราช เลี้ยวขวาไปตามถนนเพชรบุรีจนถึงสี่แยกประตูน้ำ เลี้ยวซ้ายลอดใต้ถนนราชปรารภตรงไปถึงสามเหลี่ยมดินแดง เลี้ยวขวาไปตามถนนดินแดง เลี้ยวซ้ายตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต แล้วเลี้ยวขวาผ่านกรุงเทพมหานคร 2

จากนั้นเบี่ยงขวาลอดผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์ ไปยังสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วิ่งขนานไปตามแนวถนนพระรามเก้าไปยังสถานี รฟม. ลอดใต้คลองแสนแสบ ก่อนเลี้ยวซ้ายไปตามถนนรามคำแหง ผ่านแยกลำสาลี ไปจนถึงบริเวณคลองบ้านม้า ก่อนเปลี่ยนแนวทางวิ่งจากอุโมงค์ใต้ดินเป็นทางวิ่งยกระดับ และวิ่งตามแนวถนนรามคำแหงไปจนถึงบริเวณคลองสองที่สถานีมีนบุรี

สิ้นสุดแนวเส้นทางที่สถานีสุวินทวงศ์ บริเวณสามแยกรามคำแหง-สุวินทวงศ์ ระยะทางวิ่งใต้ดิน 27 กิโลเมตร และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 8.9 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งสิ้น 35.9 กิโลเมตร

ถือเป็นระยะทางที่ยาว มีการผสมผสานระหว่างสถานีบนดินและใต้ดิน ผ่านสถานที่สำคัญหลายแห่ง รวมทั้งการขุดอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา โดยโครงการดังกล่าวใช้วิธีให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost 30 ปี

ประสงค์ ธาราไชย

โดย อาจารย์ประสงค์ ธาราไชย อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และอดีตเลขาธิการสภาวิศวกร ให้ข้อมูลว่าการร่วมลงทุนลักษณะนี้ เนื่องจากรัฐบาลไม่อยากลงทุนด้วยตัวเอง แต่มีสิทธิในพื้นที่สิทธิในการก่อสร้าง จึงเปิดประมูลดูว่าบริษัทเอกชนเสนอราคาเข้ามา ส่วนจะมอบสิทธิประโยชน์เรื่องการจัดการพื้นที่โดยรอบ หรือไม่อย่างไร ก็อยู่ที่ข้อตกลงต่อกัน

แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องยึดตามแบบของเอกชนเท่านั้น รัฐเองก็ต้องกำหนดความต้องการของโครงการว่ามีเงื่อนไขอย่างไร

นั่นก็คือต้องคำนึงถึงคุณภาพของงานเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่แค่เอาราคาหรือผลตอบแทนมาพิจารณาเพียงอย่างเดียว

รอบคอบมองภาพรวมโครงการ

อาจารย์ประสงค์ ระบุอีกว่า การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย มีแผนเผชิญเหตุทุกกรณี อาทิ การขุดอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านเขตเมืองเก่า หรือเขตพระราชฐาน ก็ต้องมีข้อมูลของชั้นดิน สภาพผังเมือง มีแผนงานรองรับ ใช้เทคโนโลยีอะไร มีคุณภาพขนาดไหน ขุดแล้วน้ำรั่วไหม น้ำซึมไหม ขุดไปเจอสิ่งที่ไม่คาดคิด จะทำอย่างไร ถ้าเกิดปัญหาจะแก้ไขอย่างไร ทุกอย่างต้องรอบคอบ มีแผนงานรองรับ

ที่สำคัญการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นระบบคมนาคมหลักในอนาคตเพื่อให้บริการประชาชน จะเป็นสิ่งก่อสร้างที่ต้องมีอายุการใช้งานอีกยาวนาน เรียกว่าเป็นชั่วอายุคน เกี่ยวพันกับประชาชนที่ใช้บริการมหาศาล ความปลอดภัยก็ต้องมาเป็นอันดับ 1 อย่างปฏิเสธไม่ได้

ทั้งหมดต้องมีแผนการรองรับ มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และก็ต้องมีความมั่นใจว่าบริษัทเอกชนที่รับงาน สามารถดำเนินการตามแผนงานให้ได้ลุล่วง ไม่มีปัญหาอะไรตามมา

ทั้งนี้ การก่อสร้างขนาดใหญ่ทุกอย่าง มี 2 ส่วนหลัก ๆ นั่นก็คือ งานชั่วคราว เพื่อจะใช้เป็นฐานในการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างถาวร อาทิ นั่งร้าน เครน ซึ่งทั้งหมดต้องมีความปลอดภัย ยิ่งเป็นการก่อสร้างในพื้นที่ชุมชน ยิ่งต้องมีมาตรการเข้มข้น ต้องปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตามหลักการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม (Safety Health and Environment) หรือ SHE ซึ่งรวมไปถึงพนักงานคนงานก่อสร้าง ประชาชนทั่วไป และชุมชน

อีกอย่างก็คือสิ่งก่อสร้างถาวร เรื่องของโครงสร้าง เทคนิคการก่อสร้าง ซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน

“ก่อนที่จะเริ่มงาน คุณต้องวางแผนให้ได้ครบถ้วนมากที่สุด ต้องมองภาพเห็นว่า 1-100 จะเป็นอะไร อะไรจะเกิดขึ้น เมื่อเกิดแล้วจะแก้ไขอย่างไร จะตั้งนั่งร้านอย่างไร ตั้งเครนอย่างไร ขุดดินแล้วจะเอาไว้ไหน คนงานที่ทำงานต้องมีเครื่องป้องกันดูแล ป้องกันการบาดเจ็บ ต้องมีองค์ความรู้ เรื่องเทคนิค ประสบการณ์มีส่วนทั้งหมด จะปล่อยให้ทำกันไปก่อนแล้วถ้าเจอปัญหาค่อยแก้ไม่ได้เด็ดขาด”

ต้องมีคุณภาพ-ความปลอดภัย

นอกจากเรื่องโครงสร้างแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงอีกอย่างคือเรื่องของระบบปฏิบัติการ

อาจารย์ประสงค์ อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานฯ กล่าวว่า เรื่องระบบการเดินรถหรือการซ่อมบำรุง ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเช่นกัน เพราะปัญหาจากการให้เอกชนประมูลงานแต่ละเส้นทาง จะเห็นว่าแต่ละบริษัทใช้ระบบไม่เหมือนกัน บางแห่งใช้ของยุโรป บางแห่งใช้ของจีน แล้วแต่ความร่วมมือของแต่ละบริษัท ซึ่งจะมีปัญหาตามมาเมื่อต้องนำระบบทั้งหมดมาเชื่อมต่อกัน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบอาณัติสัญญาณ ความกว้างของราง ทั้งหมดเป็นรายละเอียดที่ต้องพิจารณาให้ดีเช่นกัน ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นว่าแต่ละสายก็วิ่งรถกันเป็นเอกเทศ ระบบไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้ ซึ่งก็จะเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา

ส่วนจะถามว่าเรื่องงานเหล่านี้ควรจะต้องคำนึงถึงสัดส่วนเทคนิคกับราคาอย่างไร ก็คงจะไม่สามารถชี้ชัดได้ในแต่ละโครงการ แต่ตามหลักแล้วก็ต้องพิจารณาถึง “ความซับซ้อน” ว่ามีมากน้อยเพียงไหน เหมือนถ้าเราจะสร้างบ้านสักหลัง เทคนิคการก่อสร้างก็เป็นไปตามมาตรฐานอยู่แล้ว ก็อาจจะเน้นหนักไปที่เรื่องราคา

แต่หากเป็นโครงการที่ซับซ้อน มีผลกระทบเยอะ สัดส่วนในการพิจารณาก็ต้องมากขึ้นเป็นธรรมดา ซึ่งเชื่อว่าหน่วยงานของรัฐที่ดูแลบริหารจัดการเรื่องนี้ก็ต้องคำนึงอยู่แล้ว ต้องมีกรรมการตรวจการจ้าง ว่างานลักษณะนี้ ใครมีคุณสมบัติเข้าประมูล มีประสบการณ์ทำงานหรือไม่ มีการแก้ปัญหาที่เหมาะสมหรือไม่

อย่างเช่นถ้าจะต้องขุดดิน ใช้เทคนิคอย่างไร ยกของหนัก ใช้วิธีอย่างไร สิ่งเหล่านี้ถ้าตอบไม่ได้ก็ไม่ควรจะมีสิทธิมาประมูล หรือหากมาประมูลได้งาน แล้วไม่สามารถทำได้ก็เสียหายทั้งรัฐและเอกชน จึงต้องพิจารณาให้ดี

สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องความปลอดภัย คุณภาพของงานที่ได้รับ รวมทั้งราคาที่เหมาะสม

เป็นมุมมองที่เป็นประโยชน์ของผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมที่จำเป็นต้องรับฟัง

มิฉะนั้นหากเดินทางผิด ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจประเมินไม่ได้ ซึ่งผู้รับผลกระทบก็คือประเทศชาติและประชาชน