ส่อลากยาว ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม “BTS” ไม่ถอยจ่อยื่นฟ้องศาลเพิ่ม 3 คดี

ส่อลากยาว! BTS ตั้งโต๊ะแถลงครั้งแรกปม”รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ชำแหละ รฟม.-บอร์ดคัดเลือก 3 ปมไม่ชอบด้วยกฎหมาย”เปลี่ยนเกณฑ์-ยกเลิกประมูล-เปิดรับฟังความเห็นRFPใหม่” ด้าน”สุรพงษ์”เผยจ่อฟ้องเพิ่ม 3 คดี ส่วนการประมูลรอบใหม่ ขอดูเงื่อนไข รอบอร์ดพิจารณา

เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2564 นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) และ พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (BTS) แถลงเรื่องการดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี

ย้อน 3 ปม “สายสีส้ม” ไม่ชอบพากล

โดย พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวว่า BTS ไม่ได้ต้องการโต้แย้งหรือเป็นคู่กรณีกับรัฐในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่เปิดประมูลPPP วงเงิน 128,128 ล้านบาท แต่เนื่องจากการดำเนินการที่ผ่านของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 (บอร์ดคัดเลือก) ไม่ได้ดำเนินการตามอำนาจทางกฎหมาย แบ่งได้ 3 กรณี

ซัด สคร. ไม่มีอำนาจให้ รฟม.เปลี่ยนเกณฑ์

กรณีแรก การเปลี่ยนหลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2563 หลังจากบมจ.อิตาเลี่ยนไทยฯ ทำหนังสือถึงนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่ารฟม. และนายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในขณะนั้น ต่อมาผู้อำนวยการ สคร.มีหนังสือถึง รฟม. ว่าอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 ของพ.ร.บ.ร่วมทุน 2562

ในข้อเท็จจริงแล้ว ผู้อำนวยการ สคร. ไม่มีสิทธิ์ทำได้ โดยในมาตรา 38 แห่งพ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 ไม่ได้ให้อำนาจไว้ ผู้อำนวยการสคร.ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานแทนนายกรัฐมนตรี จะต้องเสนอให้ คนร. พิจารณาก่อน แล้วส่งต่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อในลำดับสุดท้าย จึงจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ได้

“พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 เป็นกฎหมายที่มีลักษณะการดำเนินการแบบวันเวย์ หรือไปข้างหน้า ไม่มีการย้อนกลับมาดำเนินการภายหลัง “

ดังนั้น การที่ รฟม. จะย้อนกลับมาเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการ ซึ่งถือเป็นส่วนที่เป็นสาระสำคัญ จึงยิ่งต้องปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชน 2563 ข้อที่ 9 ด้วย แต่พบว่าการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการดำเนินการก่อนเปิดซองประมูล ดังนั้น จึงไม่มีกฎหมายข้อใดให้อำนาจดำเนินการได้

สุดท้าย รฟม.และคณะกรรมการมาตรา36 ก็ใช้เวลาเพียง 16 วันนับตั้งแต่ที่มีการยื่นจดหมายโดยบมจ.อิตาเลี่ยนไทย ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของโครงการที่มีการศึกษาความเหมาะสมมาตั้งแต่ปี 2554

ถามว่า การเปลี่ยนหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้เปิดอ่านรายงานผลการศึกษาเดิมที่มีหรือไม่และการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ดังกล่าวถือเป็นการละเมิดผลการศึกษาเดิมที่เคยทำไว้หรือไม่ ซึ่งต่อมา BTSC ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางให้พิจารณาคดีนี้ พร้อมกับขอให้มีการทุเลาคำสั่งนี้ แล้วให้กลับไปใช้เกณฑ์การเงินเหมือนเดิม สุดท้าย ศาลมีคำสั่งทุเลา แต่รฟม.ก็ยังอุทธรณ์ต่อ

ยกเลิกโครงการอ้างสิทธิ์ไม่ได้

กรณีที่ 2 การยกเลิกประมูลโครงการ ซึ่งการยกเลิกจะต้องดำเนินการตามพ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 จะต้องให้ครม.ในฐานะเจ้าของโครงการพิจารณาก่อน รฟม.เป็นแค่หน่วยงานเจ้าของโครงการ แต่พบว่าไม่มีการระบุถึงในประกาศของรฟม. การที่รฟม.อ้างแต่การใช้สิทธิ์ตาม RFP Addendum จึงทำไม่ได้ เพราะการยกเลิกโครงการต้องอาศัย”อำนาจทางกฎหมาย”ดำเนินการเท่านั้น จะใช้”สิทธิ์”ไม่ได้

“กรณีนี้นำมาสู่การถอนอุทธรณ์คำสั่งทุเลาศาลปกครองสูงสุดของ รฟม. จึงมีข้อสงสัยว่า เหตุใด รฟม. จึงไม่ยอมรอฟังศาลตัดสินก่อน ซึ่งอาจจะออกได้ทั้งเป็นคุณกับ รฟม. คือ ยกเลิกทุเลาคำสั่งศาลปกครองกลางให้ใช้เกณฑ์ใหม่ และเป็นโทษคือยืนตามศาลปกครองกลาง ใช้เกณฑ์ราคาตามเดิม “

กังขารับฟังความเห็นใหม่ใช้กม.อะไร

และกรณีที่ 3 การเปิดรับฟังความเห็น RFP รอบใหม่เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2564 ใช้อำนาจอะไรในการเปิดรับฟัง ได้เสนอให้ ครม. ในฐานะเจ้าของพิจารณาก่อนหรือไม่ แล้วการรับฟังความเห็นครั้งใหม่ มีการระบุชัดเจนว่าจะเอาหลักเกณฑ์เทคนิค30คะแนนรวมกับราคา70คะแนนมาเป็นเกณฑ์หลักในการพิจารณา และมีการปรับถ้อยคำ โดยเอาข้อความ”มติของคณะรัฐมนตรี”ออก เหลือเพียงการสงวนสิทธิ์ของรฟม.

เตือนดึงดันต่อ ปีนี้ก็ไม่ได้เซ็น

“หาก รฟม.ยังดันทุรังแบบนี้ เชื่อว่าโครงการนี้ภายในปีนี้ก็ไม่ได้เซ็น เพราะก็จะร้องกันแบบนี้ เมื่อท่าน (รฟม.) เริ่มด้วยความไม่ชอบแล้วไม่เลือกวิธีการทางกฎหมาย เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของท่านอย่างเดียว เชื่อว่า รฟม.รู้วิธีทำตามกฎหมายแต่ไม่ทำ เพราะถ้าทำจะมีคนถูกสอบและพิจารณาทางอาญาด้วย หากการประมูลแบบนี้หลุดไปถึงขั้นครม.ให้ความเห็นชอบ ความเสีบหายจะไปกันใหญ่” พ.ต.อ.สุชาติกล่าว

ชง 4 ผู้อำนาจระงับประมูล

พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้BTSจึงได้มีหนังสือถึงบุคคล 4 ราย ประกอบด้วย  พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและประธาน คนร. , นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการ รฟม. ให้สั่งการไปยังผู้ว่ารฟม.และบอร์ดคัดเลือกระงับการดำเนินการดังกล่าวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

“ขอยืนยันว่า การที่ BTS ดำเนินการทางคดี ไม่ใช่เพราะแบ่งเค้กไม่ลงตัว แต่ต้องการให้โครงการเข้าสู่การแข่งขันที่เป็นธรรม หาก รฟม. และบอร์ดคัดเลือกเห็นเกณฑ์ราคารวมกับเทคนิคดีจริง ทำไมไม่กำหนดมาตั้งแต่แรก ถ้าทำตั้งแต่แรกจะไม่มีเกตุการณ์แบบวันนี้เกิดขึ้น”

นอกจากนี้BTS ได้ยื่นฟ้อง ผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกเป็นคดีอาญา ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในฐานความผิดปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นคดีหมายเลขดำที่ อท30/2564อยู่ระหว่างรอศาลพิจารณารับคำฟ้องวันที่ 15 มี.ค.นี้

จ่อฟ้องปกครอง รฟม. 3 คดี

ด้านนายสุรพงษ์ กล่าวว่า ยังไม่ตัดสินใจว่าจะร่วมให้ความเห็นร่าง RFP รอบใหม่นี้หรือไม่ ขอปรึกษาฝ่ายกฎหมายก่อน ส่วนการที่ รฟม.ไปถอนอุทธรณ์ทุเลากับศาลปกครองสูงสุดและศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้น  กำลังพิจารณาว่าจะอุทธรณ์การถอนคดีดังกล่าวหรือไม่ โดยจะต้องดำเนินการภายใน 30 วันนับจากวันที่ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 5 มี.ค.2564

ขณะเดียวกันกำลังพิจารณายื่นต่อศาลปกครองฟ้องคดีใหม่ ได้แก่ การที่รฟม.ยกเลิกประมูลโครงการและการเปิดรับฟังความเห็นประกอบการทำ RFP ที่ไม่มีอำนาจทางกฎหมายรองรับ ซึ่งใน 2 กรณีนี้มีเวลาตัดสินใจ 90 วัน

ชงบอร์ดเคาะร่วม-ไม่ร่วมประมูล

ส่วนจะเข้าร่วมประมูลรอบนี้หรือไม่ คงต้องรอดูรายละเอียดของ RFP ก่อนว่าเป็นอย่างไร แล้วจึงเสนอให้บอร์ดของ BTS พิจารณาอนุมัติต่อไป หากเข้าร่วมจะร่วมกับบมจ.ซิโน-ไทยฯ เหมือนเดิมและอาจจะมีพันธมิตรอื่นๆเพิ่มเติม