ยลโฉม 4 สถานีรถไฟฟ้าเฉลิมรัชมงคล สถาปัตยกรรมในรัชสมัยรัชกาลที่ 9

รถไฟฟ้ามหานคร “หัวลำโพง-บางซื่อ” ระยะทาง 20 กม. ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2547 นับเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทย

และได้รับพระราชทานนามจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า “เฉลิมรัชมงคล” อันมีความหมายว่า “งานเฉลิมฉลองความเป็นมงคลแห่งความเป็นพระราชา”

อีกทั้งในหลวงยังทรงรับสั่งขอให้รัฐบาลในขณะนั้นเร่งรัดการก่อสร้างส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้ามหานครให้มีโครงข่ายครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัด

ปัจจุบัน “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” กำลังสานต่อปณิธาน เดินหน้าก่อสร้างโครงการส่วนต่อขยายช่วง “หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ” มีระยะทาง 27 กม.

เริ่มตอกเข็มก่อสร้างเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2554 ขณะนี้งานก่อสร้างโดยรวมคืบหน้า 96.02% ภายในสิ้นปีนี้จะเสร็จ 100% เตรียมทยอยเปิดบริการช่วง “หัวลำโพง-หลักสอง” ในเดือน ก.ค. 2562 จากนั้นภายในปี 2563 จะเปิดบริการได้ตลอดเส้นทาง

นอกจากจะเป็นรถไฟฟ้าสายแรกที่สร้างอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมการเดินทางฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนครเข้าด้วยกันแล้ว

ยังมี 4 สถานีที่อยู่ในพื้นที่ “เกาะรัตนโกสินทร์” ได้รับการออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมงดงามให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ปั้นเป็น “แลนด์มาร์ก” และแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ

สถานีสนามไชย

เริ่มที่ “สถานีสนามไชย” ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) เป็นผู้ออกแบบภายในลักษณะเป็นท้องพระโรงสมัยรัตนโกสินทร์ ตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมไทย ยังมีพิพิธภัณฑ์แสดงโบราณวัตถุขุดพบทั้งหมด เช่น คลองราก หรือฐานรากโครงสร้างพระราชวัง ตุ๊กตาดินเผา ถ้วย ชาม กระเบื้องดินเผา สมัยพุทธศตวรรษที่ 24-25 ปืน เหรียญโลหะสมัยรัชกาลที่ 4-รัชกาลที่ 5 เช่น เหรียญโลหะวงกลม มีตราจักร มูลค่า 1 สตางค์ เหรียญโลหะวงกลม พิมพ์อักษรสยามรัฐ มูลค่า 1 สตางค์ เหรียญโลหะ มีตรามหามงกุฎ อีกด้านพิมพ์ลายจักรภายในมีช้าง

“สถานีอิสรภาพ” เป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินแห่งแรกของฝั่งธนบุรี แนวคิดการออกแบบใช้ “หงส์” ซึ่งเป็นสัตว์สิริมงคลและศักดิ์สิทธิ์ และเป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ในพื้นที่วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร โดยมีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จมาสรงน้ำ ในพิธีสำคัญของแผ่นดิน

สถานีอิสรภาพ

“สถานีวัดมังกร” ออกแบบสถาปัตยกรรมของจีนผสมผสานกับรูปแบบยุโรป เรียกว่า “สไตล์ชิโนโปรตุกีส” สอดคล้องกับวิถีชีวิต วิถีการค้าชาวจีน สภาพแวดล้อมโดยรอบ เช่น เยาวราช ถนนเจริญกรุง วัดมังกรกมลาวาส ในการออกแบบใช้ “มังกร” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ความสุขและความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง

โดยออกแบบลวดลาย ตั้งแต่ส่วนหัวมังกร และท้องมังกร ที่มีลวดลายเกล็ดมังกรบนเพดานสถานี ให้ความรู้สึกกลมกลืนไปกับวัฒนธรรมไทย-จีน และติดตั้งลายประแจจีนที่ส่วนหัวเสาสถานี และส่วนของทางเดินต่าง ๆ และตกแต่งรูปมังกร ลวดลายต่าง ๆ ตลอดทางเดินในชั้นขายตั๋ว ใช้สีแดงสลับทองบนเสาสถานีเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกความเป็นเอกลักษณ์ของจีน

สถานีวัดมังกร

“สถานีสามยอด” ภายนอกออกแบบเน้นสถาปัตยกรรมย้อนยุค รูปแบบตามสไตล์ชิโนโปรตุกีส ให้สอดคล้องกับอาคารริมถนนเจริญกรุง เพื่ออนุรักษ์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

ภายในตัวสถานี เริ่มจากโถงทางเข้าออกแบบให้มีลักษณะโอ่โถง มีการออกแบบซุ้มช่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ โดยนำรูปทรงและลักษณะของซุ้มประตูสามยอดมาใช้ และประตูทางเข้าก็นำรูปแบบประตูบานเฟี้ยม ซึ่งเป็นรูปแบบประตูของอาคารตึกแถวเก่า

ส่วนเสาภายในสถานี นำรูปทรงและลักษณะของซุ้มประตูสามยอด มีการนำภาพเก่าเล่าเรื่องราวบริเวณท้องถิ่นย่านประตูสามยอด ให้กับผู้โดยสารที่มาใช้บริการได้รู้ถึงประวัติของพื้นที่บริเวณสถานีสามยอด ขณะที่ฝ้าเพดานจะออกแบบให้มีสีเหลืองนวลให้ดูมีสีสันมากขึ้น

สถานีสามยอด