บิ๊ก สนข.ปั้นเมกะโปรเจ็กต์ ทะลวงแก้รถติดกรุงเทพฯ

ปัญญา ชูพานิช
สัมภาษณ์พิเศษ

ปัญหารถติดขัดในกรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทย เป็นปัญหาคลาสสิกที่พูดถึงได้ทุกเมื่อเชื่อวัน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้มีอำนาจหลายคนไม่ว่าระดับผู้ว่าเมืองกรุง และรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมา ต่างหยิบเป็นวาระผุดสารพัดนโยบายที่จะแก้ปัญหานี้ แต่สุดท้ายยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน

แม้ว่ารัฐบาลจะโหมสร้างรถไฟฟ้าและเปิดบริการไปหลายสายแล้วก็ตาม แต่ด้วยการเชื่อมต่อการเดินทางที่ยังขาด ๆ เกิน ๆ เข้าถึงได้ยาก จึงทำให้คนยังไม่ทิ้งรถส่วนตัว หันมาใช้ขนส่งสาธารณะอย่างที่รัฐบาลต้องการ

นอกจากรถไฟฟ้าสารพัดสีที่รัฐผลักดันสร้างให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลแล้ว ยังมีโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ ในแผนงานที่เตรียมจะเดินหน้า โดยมี “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” สังกัดกระทรวงคมนาคม เป็นเจ้าภาพเดินหน้า

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ปัญญา ชูพานิช” ผู้อำนวยการ สนข.คนใหม่ วัย 47 ปี ถึงแนวคิดโครงการใหม่ ๆ ที่จะนำมาเป็นตัวช่วยบรรเทาการจราจรในอนาคต นอกจากมาตรการสลับเวลา ปรับสัญญาณไฟการจราจร ปาดเกาะกลางถนนเหมือนที่ผ่านมาแล้ว

Q : ไอเดียแก้ปัญหารถติด กทม.

เตรียมการไว้มี 3 แผนงานสำคัญ แผนงานแรกเป็นแผนใหญ่ที่ สนข.กำลังศึกษาและผลักดัน คือ โครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดจากถนนนราธิวาสฯ-สำโรง ระยะทาง 8.7 กม. เป็นอุโมงค์ทางด่วน ซึ่งศึกษาร่วมกับกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม และการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (MLIT) การประชุมครั้งล่าสุดเมื่อเดือน ม.ค. 2564 ทาง MLIT ขอปรับจุดขึ้น-ลงฝั่งสำโรงใหม่ จากเดิมอยู่บริเวณหน้าไบเทค บางนา ขยับไปอยู่บริเวณแยกสรรพาวุธแทน

หากยังอยู่ที่จุดเดิมจะต้องทำทางเชื่อมลักษณะเหมือนบันไดวนจากใต้ดินไปเชื่อมกับทางด่วนบูรพาวิถี ซึ่งทางญี่ปุ่นมองว่าการออกแบบและการก่อสร้างยากเกินไป และการให้มาโผล่บริเวณแยกสรรพาวุธจะไม่ต้องทำทางยกระดับอีก แต่จะโผล่บนทางราบ ถ.บางนา-ตราดแทน แล้วค่อยไปเลือกขึ้นทางด่วนในด่านถัดไปแทน

สนข.ให้โจทย์กับ MLIT ไปดูว่าถ้าจะให้โผล่ตรงแยกสรรพาวุธจะมีปัญหาอุปสรรคด้านการจราจรหรือไม่ และการให้รถจากทางลอดขึ้นมาบนทางราบจะออกแบบทางเบี่ยงหรือทางขึ้นจากใต้ดินอย่างไรด้วย เพราะเมื่อมีการก่อสร้างจะต้องทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด โดยให้เทียบกับจุดเดิมคือบริเวณหน้าไบเทค บางนาด้วย

ล่าสุดทาง MLIT ทำหนังสือตอบมาที่ สนข.แล้วว่าจะขอส่งที่ปรึกษาลงพื้นที่จริง เพื่อสำรวจสภาพปัญหาในวันที่ 28 เม.ย. 2564 ส่วนทางฝั่ง ถ.นราธิวาสราชนครินทร์ ยังไม่มีการเสนอเปลี่ยนจุดขึ้น-ลงแต่อย่างใด ยังอยู่ที่บริเวณใกล้กับทางด่วนเฉลิมมหานครสายท่าเรือ-ดาวคะนอง ช่วง ถ.พระราม 3 จะต้องประสานกับ กทม. เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรีที่อยู่ตรงกลาง ถ.นราธิวาสฯต่อไป

นอกจากนี้ MLIT จะเสนอให้อุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำมีความตื้นขึ้น เพราะแต่เดิมวางไว้ให้อยู่ลึกลงไป 1 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางของอุโมงค์ ส่วนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมน่าจะไม่มีปัญหา เพราะแม้ว่าแนวเส้นทางของทางด่วนจะผ่านคุ้งบางกะเจ้า แต่ลักษณะของโครงการอยู่ใต้ดิน และพื้นที่บางกะเจ้าห้ามเฉพาะการก่อสร้างที่อยู่บนระดับดินขึ้นไปเท่านั้น

Q : งบประมาณก่อสร้างและการลงทุน

จากการประเมินมูลค่าโครงการและรูปแบบการลงทุน ทาง MLIT ประเมินคร่าว ๆ ไว้ที่ 84,000 ล้านเยน หรือ 24,093.69 ล้านบาท ยังต้องรอผลคำนวณที่จะออกมาอีกครั้ง ส่วนรูปแบบลงทุนกำลังศึกษาอยู่ 2 แบบ แบบที่ 1 ทำเป็น PPP ทั้งงานโยธาและงานระบบ O&M แต่ยังไม่สรุปว่าจะใช้ net cost หรือ gross cost และ 2.แยกงานโยธาออกมาให้รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนงานระบบ O&M ยกให้เป็น PPP รูปแบบเหมือนมอเตอร์เวย์ ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

ตอนนี้เราเอาแนวเส้นทางที่ชัด ๆ ให้ได้ก่อน ส่วนงานระบบ O&M อะไรยังไม่ได้ศึกษากันชัดเจน และยังไม่ได้กำหนดว่าใครจะมาเป็นเจ้าของโครงการ เพราะ สนข.เองก็ศึกษาเป็นแผนงานเบื้องต้นเอาไว้ แต่เท่าที่ท่านรัฐมนตรี (ศักดิ์สยาม ชิดชอบ) มีนโยบายไว้ น่าจะให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นผู้ดำเนินการ และ กทพ.ก็รับทราบข้อมูลอยู่แล้ว เพราะร่วมเป็นคณะทำงานศึกษากับ สนข.ด้วย

Q : จะมีสร้างรถไฟฟ้าสายใหม่เพิ่ม

การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าจะเป็นแผนงานที่ 2 โดยเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟฟ้าให้เป็นไปตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-MAP) ตอนนี้ สนข.และคมนาคมกำลังเร่งรัดสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลี ระยะทาง 22.1 กม. ซึ่งโครงการนี้จะสร้างไปพร้อมกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือของ กทพ.ด้วย เพราะมีการใช้ตอม่อก่อสร้างร่วมกัน

กทพ.จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้สร้างช่วง N2 แยกเกษตรเชื่อมถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพด้านตะวันออก ระยะทาง 11.3 กม. วงเงิน 17,000 ล้านบาทก่อนเป็นลำดับแรก เพราะยังติดปัญหารูปแบบก่อสร้างช่วงที่ผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คาดว่าจะเสนอ ครม.ในปีนี้ และเริ่มก่อสร้างในปี 2565 หากทางด่วน N2 ได้รับการอนุมัติก็เชื่อว่า สายสีน้ำตาลน่าจะดำเนินการตามมาได้

ยังจะเร่งสร้างสายสีแดงส่วนต่อขยายช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,570.40 ล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 10,202.18 ล้านบาทก่อน อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการลงทุน PPP ส่วนการประมูลก่อสร้างน่าจะแยกคนละโครงการ

สนข.กำลังศึกษาทำระบบฟีดเดอร์เชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้าให้เกิดความสะดวกและดึงคนใช้บริการ นำร่อง
สายสีแดง ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต จะเปิดบริการในเดือน พ.ย.นี้ ที่สถานีตลิ่งชันและสถานีรังสิตที่จะเป็นสถานีชุมทางของการเดินทางของรถไฟฟ้าสายนี้ โดยจะเป็นรถโดยสารที่ใช้พลังงานไฟฟ้ารับส่งคนที่สถานี เป็นต้น

Q : ความคืบหน้าการทำบัสเลน

การจัดทำช่องทางพิเศษสำหรับรถโดยสารประจำทาง หรือ bus lane เป็นแผนงานที่เราจะผลักดันเช่นกัน จะเริ่มนำร่องที่ ถ.พระราม 4 ช่วงศาลาแดง-พระโขนง ระยะทาง 9.2 กม. โดยออกแบบให้อยู่เลนขวาสุดใกล้กับเกาะกลางถนน และจุดจอดรับ-ส่งผู้โดยสารจะให้อยู่ใกล้บริเวณสี่แยกที่มีสัญญาณไฟจราจรมากที่สุด เพื่อให้เดินบนทางม้าลาย แต่หากจอดบริเวณจุดที่ไม่มีสัญญาณไฟก็จะต้องมีสะพานลอยคนข้าม

สถานะของโครงการตอนนี้การออกแบบเบื้องต้นจะแล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย. 2564 นี้ แต่ กทม.ยังมีคำถามเรื่องรูปแบบการรับ-ส่งประชาชนอยู่ คาดว่าแบบที่จะเสร็จน่าจะตอบโจทย์ของ กทม.ได้ หาก กทม.ไม่มีข้อสงสัยอะไรอีก จะเสนอให้ คจร.(คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก) พิจารณาต่อไปภายในเดือน มิ.ย. 2564