อนาคตสายการบินแห่งชาติ ใต้เงาคิด “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

เหมือนจะคืบ แต่สุดท้ายก็ย่ำอยู่กับที่สำหรับภารกิจปลุกชีพ บมจ.การบินไทย สายการบินแห่งชาติอายุ 61 ปีของคนไทย

ล่าสุด คณะเจ้าหนี้ 13,133 ราย มูลหนี้ปรับโครงสร้าง 410,140.78 ล้านบาท ขอไม่โหวตแผนฟื้นฟูตามที่กำหนดเงื่อนเวลาไว้ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่าเจ้าหนี้กว่า 20 ราย ได้รับเอกสารแก้ไขแผน 15 ฉบับกะทันหัน จึงเสนอขอให้เลื่อนโหวตแผนออกไปเป็นวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 แทน เท่ากับซื้อเวลาไปอีก 1 สัปดาห์

1 ปีไร้สถานภาพรัฐวิสาหกิจ

ประเด็นที่กลายเป็นโจทย์หลักพลิกขั้วในท่วงทำนองสูงสุดคืนสู่สามัญ จากความตั้งใจแรกที่ต้องการพลิกวิกฤตโควิดให้เป็นโอกาสแก้ปัญหาการบินไทย ด้วยการเซตซีโร่หรือล้างไพ่แนวทางแก้ปัญหาหนี้สินล้นตัว ขั้นตอนแรกสุดที่มีการขับเคลื่อนออกมาก็คือ ให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนถือหุ้นต่ำกว่า 50% เพื่อให้การบินไทย “พ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ” เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563

ไม่น่าเชื่อว่าการบินไทยไร้สถานภาพรัฐวิสาหกิจเกือบ 1 ขวบปี โดยจะครบกำหนด 1 ปี ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2564

ปัจจุบันเหมือนหนังคนละม้วน เมื่อมีข้อเสนอแบบทวนเข็มนาฬิกา เสนอให้การบินไทยกลับไปมี “สถานภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ” อีกครั้ง

ทั้งนี้ทั้งนั้น ในระหว่างทางที่การบินไทยไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ แต่เป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ความสัมพันธ์กับกระทรวงคมนาคมดูเหมือนจะถูกตัดขาดลงโดยนิตินัย แต่ทุกครั้งที่จะมีการเปลี่ยนสัญญาณชีพการบินไทย ไม่ว่าจะเดินซ้ายหรือขวา รัฐบาลก็ยังคงมีการสอบถามข้อคิดเห็นจากกระทรวงคมนาคม ในฐานะกระทรวงที่เคยกำกับดูแลการบินไทยมาก่อน

และในระหว่างทางที่กินเวลาเกือบ 1 ปี กระทรวงคมนาคมในยุค “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” มีความพยายามที่จะผ่าทางตันนโยบายสายการบินแห่งชาติ ด้วยการจัดทำ “แผนสำรอง” ขึ้นมาหนึ่งชุด ส่วนจะได้นำมาใช้หรือเก็บเข้ากรุก็ไม่เป็นไร

ความน่าสนใจอยู่ที่แผนสำรองดังกล่าวเป็นข้อเสนอนำไปสู่การจัดตั้งสายการบินแห่งชาติบริษัทที่ 2 ขึ้นมา เรียกชื่อเล่นในแผนยุทธศาสตร์นี้ว่า “บริษัท Reborn”

ดังนั้น เมื่อมีแผนสำรองดังกล่าว จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ไม่ยากว่า comment ในการดึงการบินไทยกลับมาสู่สถานะรัฐวิสาหกิจประเภท 3 (รัฐวิสาหกิจประเภทหารายได้) รมว.คมนาคมย่อมคัดค้านเป็นธรรมดา

Reborn การบินแห่งชาติ

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางกระทรวงได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบทางเลือกที่เป็นไปได้ เพื่อเป็นชุดข้อมูลเสนอต่อรัฐบาลประกอบการพิจารณาแก้ปัญหาสายการบินแห่งชาติ โดยยอมรับว่า 1 ในทางออกที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ การตั้งองค์กรที่จะเป็นสายการบินแห่งชาติขึ้นมาใหม่ในอนาคต

โดยเป็นข้อเสนอคู่ขนานไปกับรัฐบาลเปิดให้การบินไทยคงสถานะบริษัทเอกชนและดำเนินการตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อไป

วิเคราะห์ตามแนวทางนี้ เท่ากับเป็นนโยบายเซตซีโร่สุดขั้วแก้ปัญหาภาระหนี้สินของการบินไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติของไทย …ในเมื่อของเดิมเกินจะเยียวยา ก็ขอไปเกิดใหม่ก็แล้วกัน

เปิดแผน “งาน-เงิน-คน”

เปเปอร์การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง บริษัท Reborn สายการบินแห่งชาติบริษัทใหม่ ณ เดือนเมษายน 2564 มีความพยายามพูดถึงข้อดีนานาประการผ่าน “แผนงาน-แผนเงิน-แผนคน” ดังนี้

1.ข้อดีที่สุดของบริษัทตั้งใหม่ คือ ไม่มีภาระหนี้สิน ในทางปฏิบัติรัฐบาลก็ไม่ต้องนำภาษีประชาชนมาซัพพอร์ต 2.เสนอให้เริ่มต้นจัดตั้งจากการเป็นบริษัทขนาดเล็ก จากนั้นค่อยขยับขยายเป็นองค์กรขนาดใหญ่ในภายหลัง

3.การเริ่มต้นด้วยไซซ์องค์กรขนาดเล็กทำให้ภาระลงทุนไม่สูงมาก ประเมินทุนประเดิมไว้ที่ 50,000 ล้านบาท แผนเงินที่น่าสนใจปูทางเผื่ออนาคตในเรื่องของการลงทุน 4.เปิดกว้างทุกรูปแบบการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นรัฐลงทุนเอง 100%, มีผู้ร่วมลงทุนรายอื่น ๆ รวมทั้งผู้ร่วมลงทุนเอกชน ฯลฯ

จบจากแผนเงินมาดูแผนงาน 5.เสนอโครงสร้างองค์กรมี 5 หน่วยธุรกิจ (BU-business unit) แต่ละหน่วยมีความสามารถในการหารายได้และทำกำไรได้ด้วยตัวเอง ประกอบด้วย Airline-ธุรกิจการบิน, AirCargo-ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ, Ground Service-ธุรกิจบริการภาคพื้นดิน, MRO-ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน และ Catering-บริการอาหารและเครื่องดื่ม

หนึ่งในจุดตายของการบินไทยคือแบกฝูงบินจนเกินกำลัง ข้อเสนอแผนงานจึงออกมาเป็น 6.การบริหารจัดการฝูงบินเปลี่ยนจากซื้อเป็นเช่าตามความเป็นจริง

จบยุทธศาสตร์สายการบิน Reborn ด้วยแผนคน 7.เปลี่ยนวิกฤตโควิดให้เป็นโอกาสในการคัดสรรบุคลากรทางการบิน โดยข้อเสนอมีความมั่นใจว่าสายการบินแห่งชาติบริษัทใหม่จะมีโอกาสในการ recruit พนักงานการบิน โดยเฉพาะกัปตันที่มีใบอนุญาตการบิน นั่นหมายความว่าสามารถปฏิบัติงานได้ทุกเมื่อ และทันที

บริษัทตั้งใหม่จบใน 6 เดือน

ทั้งนี้ หากแนวคิดดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล กระบวนการเสนอตั้งสายการบินแห่งชาติใหม่ คาดว่าใช้เวลาจัดตั้งไม่เกิน 5-6 เดือน โดยมี 5 ขั้นตอนปฏิบัติตามระบบราชการ เริ่มที่เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใช้เวลา 1 เดือน, เสนอรายชื่อกรรมการบริษัทให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เห็นชอบ ใช้เวลา 45 วัน

กรรมการบริษัทร่วมพิจารณาหนังสือบริคณห์สนธิ ใช้เวลา 1 เดือน, เสนอหนังสือบริคณห์สนธิให้ สคร. พิจารณาใช้เวลาอีก 45 วัน และดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท

งานที่เหลือที่ทำควบคู่กันไปคือการขอใบอนุญาตจัดตั้งสายการบินใหม่ (AOL/AOC) ดำเนินการโดยกระทรวงคมนาคม และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ใช้เวลา 5-6 เดือนเช่นกัน

ทั้งหมดนี้เลยจุดที่กระทรวงคมนาคมจะถามหรือตอบว่า “อยากทำ หรือไม่อยากทำ” สายการบินแห่งชาติบริษัทที่ 2

คำตอบแบบกลาง ๆ ของ “รมว.ศักดิ์สยาม” ที่ตอบคำถาม “ประชาชาติธุรกิจ” จึงมีเพียงสั้น ๆ ว่า “แค่เสนอแนวทางในกรณีที่การบินไทยฟื้นฟูไม่สำเร็จ”

และอนาคตสายการบินแห่งชาติใหม่ต้อง wait & see เพราะ “19 พฤษภาคมคือการประชุมเจ้าหนี้ รอการบินไทยดำเนินการก่อน”