ชง ครม. เคาะกฎหมายกรมราง มิ.ย. นี้ “สถาบันราง” มาแน่ปลายปี

“ศักดิ์สยาม” สกรีน “กรมราง” เร่งคลอด พ.ร.บ. กรมราง คาด มิ.ย. เสนอ ครม. บังคับใช้สิ้นปี ด้านสถาบันรางรอสำนักเลขา ครม. ประกาศราชกิจจาฯ คาด ต.ค. มีผล พร้อมสั่งการบ้าน 3 ข้อเตรียมพร้อมรองรับกฎหมายใหม่

เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมเรื่อง การติดตาม ความก้าวหน้าการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขนส่งทางราง พ.ศ. …. และการจัดตั้งสถาบันวิจัยเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) เพื่อเร่งรัดการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ….

ชง ครม. มิ.ย. บังคับใช้ปลายปี

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติหลักการต่อไป โดยคาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ และจะประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ภายในสิ้นปีนี้

สถาบันรางรอลงราชกิจจาฯ

ส่วนร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง คาดว่าร่าง พ.ร.ฎ. จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาและดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบในช่วงระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคมปีนี้

สั่งการบ้าน 3 ข้อ

ซึ่งนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้รับทราบการดำเนินการของกรมการขนส่งทางราง และได้สั่งการเพิ่มเติม ดังนี้

1. มอบหมายให้กรมการขนส่งทางรางเตรียมความพร้อมกฎหมายลำดับรอง ประเภทร่างกฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศต่าง ๆ ที่จะต้องใช้ดำเนินการตาม พ.ร.บ. การขนส่งทางราง คู่ขนานเพื่อมิให้มีความล่าช้า

ในการบังคับใช้กฎหมายตามที่กำหนดไว้ รวมถึงให้จัดทำข้อมูลในมิติต่างๆ เช่น เรื่องราคาค่าโดยสาร ความปลอดภัย มาตรฐานการประกอบการกิจการ มาตรฐานผู้ประจำหน้าที่ เป็นต้น โดยจำแนกตามประเภทของกฎหมายลำดับรองว่ามีกี่ฉบับ โดยจะมีการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานต่อไป

2. มอบหมายให้พิจารณาเรื่องบุคลากรที่จะมาช่วยดำเนินงานวิจัยในสถาบันวิจัยฯโดยให้มีการบูรณาการร่วมกับมหาวิทยาลัยท้องถิ่นที่มีโครงการพัฒนาเทคโนยีระบบรางด้วย

3. มอบหมายให้ ขร. พิจารณาที่มาของทุนสถาบันฯ เพิ่มเติม และพิจารณาขอความร่วมมือจากประเทศที่ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือ เช่น ประเทศเยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศส เป็นต้น โดยขอให้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยในการจัดตั้งสถาบันฯ เนื่องจากมีประสบการณ์ที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งจะทำให้การจัดตั้งสถาบันได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขนส่งทางราง พ.ศ. …. และการจัดตั้งสถาบันวิจัยเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) มีสาระสำคัญเกี่ยวกับภารกิจของกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ในการกำกับดูแลเสนอแนะนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนการพัฒนาด้านการขนส่งทางราง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางให้มีโครงข่ายที่สมบูรณ์ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ เชื่อมต่อกับการขนส่งระบบอื่น และประเทศเพื่อนบ้าน การกำกับดูแลมาตรฐานด้านความปลอดภัย การบำรุงทาง และการประกอบกิจการ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัยในการเดินทาง

โดย ขร. ได้นำร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวกลับมาพิจารณาทบทวนปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์และนโยบายของกระทรวงคมนาคม ปี พ.ศ. 2560 – พ.ศ. 2564 และให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มเติมร่างบทบัญญัติ เช่น

การจัดสรรความจุ ตารางเวลาเดินรถและเส้นทาง, การสอบสวนอุบัติเหตุ และการจดทะเบียนรถขนส่งทางราง เป็นต้น และได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 และบทบัญญัติแห่งพ.ร.บ. หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย 2562 เรียบร้อยแล้ว

ขณะที่จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดำเนินการในการประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ จัดทำยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีระบบรางของประเทศ วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง ร่วมมือกับองค์กรทั้งในและต่างประเทศในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง พัฒนาบุคลากรด้านระบบราง และจัดทำฐานข้อมูลด้านเทคโนโลยีระบบราง โดยมีเป้าหมายเร่งด่วน คือ การวิจัยชิ้นส่วนในระบบรางเพื่อให้สามารถผลิตรถไฟในประเทศ (Local Content) ได้ตามนโยบาย Thai First

รวมทั้งการวิจัยเพื่อสร้างรถไฟ EV มาใช้ในประเทศไทย พร้อมกับการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน