ทีมโควิด กทม.แข่งกับเวลา #คนกรุงต้องรู้ เมื่อโรคระบาดพัฒนาเป็นโรคประจำถิ่น

21 ก.ค. 64 “กทม.-กรุงเทพมหานคร” จัดแถลงข่าวออนไลน์ อัพเดตการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่มหานครกรุงเทพ

โดยมีคีย์แมนผู้บริหารด่านหน้าในการทำสงครามโควิดประกอบด้วย “นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร” ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กับ “พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์” ผู้อำนวยการสำนักอนามัย เป็นผู้ถ่ายทอดการทำงานภาคสนาม ซึ่งต้องบอกว่าเป็นการทำงานแข่งกับเวลาจากการที่กรุงเทพฯมีผู้ติดเชื้ออันดับ 1 ของประเทศไทย

พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์

ระลอก 4 “คลัสเตอร์ครอบครัว”

“ผอ.สำนักอนามัย” เปิดประเด็นถึงสถานการณ์แพร่ระบาดในกรุงเทพฯค่อนข้างรุนแรง รัฐบาลก็ได้มีการประกาศการปิดสถานที่ต่าง ๆ เพื่อที่จะหยุดการเคลื่อนย้ายของคน เพราะโรคนี้เป็นโรคที่เคลื่อนไปกับคน ถ้าคนหยุดเคลื่อนที่ก็จะหยุดการแพร่เชื้อ

เมื่อประชาชนอยู่ในบ้านหรืออยู่ในชุมชนก็จะมีทีมปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุก หรือ CCRT-Comprehensive Covid-19 Response Team เข้าไปให้ความรู้ความเข้าใจว่าการอยู่บ้านแล้วไม่ได้หมายความว่าจะไม่ป้องกันตัว เพราะตอนนี้การแพร่เชื้อเข้าไปในครอบครัว หยุดทำงานแล้วกลับไปอยู่บ้านก็มีโอกาสติดเชื้อ

กิจกรรมหนึ่งที่ดำเนินการก็คือ การฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุที่เรียกว่า “608” โดย 60 ก็คืออายุเกิน 60 ปี, 8 คือ 7 กลุ่มโรคเสี่ยง บวกหญิงตั้งครรภ์ที่ต้องเร่งฉีดวัคซีน โดยใช้ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่งของ กทม. ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากจิตอาสา ประธานชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข

ล่าสุดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ส่งนักเรียนนักศึกษาที่เรียนจบแล้วมาร่วม 76 ทีม ทีมจากอาสาสมัครกาชาด, กรมควบคุมโรคส่งมาอีก 15 ทีม โดย กทม.จะขยายทีมและเร่งทำงานใน 2,016 ชุมชนให้เสร็จสิ้นภายใน 31 กรกฎาคม 2564 ปัจจุบันมีผู้สูงอายุมาฉีดวัคซีนแล้ว 17,000 กว่าคน ซึ่งสำนักอนามัยดำเนินการควบคู่กับการทำ HI-home isolation

“เพราะฉะนั้น อีกหน่อยเราจะต้องยอมรับว่าโควิดเป็นโรคที่เรียกว่าโรคประจำถิ่น เมื่อมีการฉีดวัคซีนมากเพียงพอแล้วโรคก็จะไม่รุนแรง การเจ็บป่วยก็จะไม่รุนแรงมากเหมือนกับไข้หวัดใหญ่ถ้าไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือมีความเสี่ยงก็อาจมีความรุนแรงได้ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องให้ความรู้กับประชาชนว่าเราจะต้องอยู่กับโรคนี้ต่อไป มันคงไม่หายไปจากเรา แต่เราจะทำให้ประชาชนมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น”

ขั้นตอนปฏิบัติ “ศูนย์เอราวัณ”

หนึ่งในปัญหาโลกแตกของคนกรุงเป็นเรื่องเตียงไม่พอ แต่ปัญหาใหญ่กว่านั้นที่ซ่อนอยู่ในระดับปฏิบัติเป็นกรณีเมื่อประชาชนแจ้งว่าติดเชื้อ มีการติดต่อ “ศูนย์เอราวัณ” ซึ่งเป็นผู้รับ-ส่งผู้ป่วยโควิดภายใต้กลไกสายด่วนศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน “1669” แต่ได้รับคำตอบว่า “ต้องใช้ผลตรวจยืนยัน” ซึ่งก็คือสวอบเทสต์ หรือ RP-PCR คนส่วนใหญ่ไม่มี คำถามคือต้องทำอย่างไร ?

“กรณีที่มีการตรวจโดยใช้ชุดตรวจ ATK-Antigen Test Kit แล้วไม่มีผลตรวจยืนยัน RP-PCR ซ้ำ ทางผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (พล.อ.อัศวิน ขวัญเมือง) สั่งการให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. 64 จะมีรถตรวจเคลื่อนที่โดย 6 กลุ่มเขตมีรถเหล่านี้ที่คอยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน”

โดยรถตรวจเคลื่อนที่จะตรวจซ้ำกรณีที่เป็น ATK และต้องการเข้า CI-community isolation ต้องการเข้าโรงพยาบาล หรือ hospital แล้วต้องใช้ RP-PCR ซ้ำ

“อย่างแรกเราขอให้ประชาชนทำ HI-home isolation ก่อน แต่ถ้าอาการเริ่มรุนแรงหรือต้องเข้าโรงพยาบาลและต้องการการตรวจซ้ำสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเขต”

ทั้งนี้ ศูนย์เอราวัณมี 2 บทบาทที่ทับซ้อนกันอยู่ งานปกติให้บริการในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 เฉลี่ยมีสายโทร.เข้ามาเกินวันละ 5,000 สายจากเคสฉุกเฉินทุกประเภท เช่น บาดเจ็บบนท้องถนน อุบัติเหตุ โรคหัวใจขาดเลือด เป็นต้น ล่าสุดเพิ่มงานเป็นศูนย์ขนส่งเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด

โดยศูนย์เอราวัณทำร่วมกับ สธ.ที่มีชื่อผู้ป่วยอยู่ในระบบของการคัดกรองเชิงรุกที่ กทม.ดำเนินการร่วมกับ “สปคม.-สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง” ร่วมกับแล็บเอกชน 6 จุด การเพิ่มศักยภาพศูนย์เอราวัณตอนนี้มีรถของศูนย์ 10 กว่าคัน ทางสำนักเทศกิจ กทม.ส่งมาเติมอีก 50 คัน รถทหารที่มาประจำศูนย์เอราวัณ 5 คัน ขนส่งผู้ป่วยโควิดสูงสุดวันละเกือบ 400 คน

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันติดปัญหาคอขวดจำนวน “เตียงเหลือง-เตียงแดง” ที่มีจำกัด ทำให้การขนส่งอาจไม่ได้มากเท่าที่ควร

เคลียร์ปมวัคซีน “ไทยร่วมใจ”

แคมเปญใหญ่ที่ กทม.ร่วมกับหอการค้าไทยจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล 25 แห่ง ภายใต้แคมเปญ “ไทยร่วมใจ” เริ่มวันที่ 7 มิ.ย. 64 แต่คิวนัดฉีดถูกเลื่อนตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. 64 คิวรอฉีดที่ตกค้างเหล่านี้แก้ไขปัญหาอย่างไร

คำอธิบายไทม์ไลน์ในเดือน พ.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมา ตามแผน กทม.จะได้รับวัคซีนจัดสรรเดือนละ 2.5 ล้านโดส รวมเป็น 5 ล้านโดส จึงวางเป้าฉีดเดือนละ 2.5 ล้านโดส แต่ฉีดในโรงพยาบาลทำได้เต็มที่วันละ 15,000-30,000 คน

ในขณะที่ภาพรวมพื้นที่กรุงเทพฯมีผู้ลงชื่อผ่านแอป “หมอพร้อม” ในเดือน มิ.ย.-ก.ค. 64 อยู่ที่ 900,000 คน เท่ากับต้องหาช่องทางให้ประชาชนลงทะเบียนฉีดวัคซีน 4 ล้านคน เป็นสาเหตุที่ กทม.ต้องช่วยกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้คนอายุ 18-59 ปีมาลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีน

“เป้าหมายตอนแรก กทม.ต้องฉีด 5 ล้านคนให้ได้ภายใน 2 เดือน แต่มีปัญหาวัคซีนซึ่งไม่มาตามนัด เราก็ต้องเลื่อนคิวออกไปโดยให้วัคซีนเหล่านี้ไปอยู่กับกลุ่มผู้ลงทะเบียนหมอพร้อม”

ขณะเดียวกัน ช่วงสัปดาห์กลางเดือน ก.ค. 64 ทาง สธ.อยากให้ช่วยเร่งฉีดผู้สูงอายุ ศูนย์ฉีดนอก รพ. 25 แห่งก็พร้อมที่จะช่วย มีการประกาศให้ผู้สูงอายุที่สามารถเดินทางมาที่ศูนย์ฉีด และรับนโยบายจาก “ศบค.-ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)” ให้ทำการฉีดประชาชนคู่ขนานไปด้วย

“ยืนยันในหลักการถ้าผู้สูงอายุลงทะเบียนมาฉีดได้ทันที เพราะตอนนี้สลอตสำหรับผู้สูงอายุยังค่อนข้างจะเหลือ และเป็นกลุ่มแรกที่เราต้องการให้ฉีดอยู่แล้ว ดังนั้น ผู้สูงอายุสามารถมาฉีดกับเราโดยลงทะเบียนที่เว็บไซต์ไทยร่วมใจ แอปเป๋าตัง หรือร้านสะดวกซื้อได้เลย”

วัคซีน “มา-ไม่มา” ตามนัด

โจทย์หลักการทำงานแข่งกับเวลาของ กทม.ต้นทางอยู่ที่ “วัคซีนจัดสรร” จาก สธ.คำอธิบาย คือ นโยบายฉีดวัคซีนที่วางไว้แต่แรก คือ ผู้สูงอายุ+กลุ่มเสี่ยง 7 โรค ให้ติดต่อรับวัคซีนในโรงพยาบาลในเดือน มิ.ย.ที่ยังไม่มีการแพร่ระบาดมาก กทม.ทำ 25 ศูนย์ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล ล่าสุดผู้ติดเชื้อใหม่เกินวันละ 10,000 คน ทาง สธ.จึงปรับเป้าเหมือนกันทั่วประเทศให้เน้นฉีดผู้สูงอายุ +7 โรคเสี่ยง+หญิงตั้งครรภ์เพื่อลดความรุนแรงของอัตราการเสียชีวิต

“เพราะฉะนั้น วัคซีนที่ได้รับมา กทม.เน้นการฉีดที่โรงพยาบาล 132 แห่ง ขณะเดียวกัน มีผู้สูงอายุกลุ่มหนึ่งไม่สามารถเดินทางมาฉีดวัคซีนได้ เราจึงได้ทำหน่วยเชิงรุกเข้าไปฉีดให้ถึงบ้าน”

ข้อมูล ณ 20 ก.ค. 64 วัคซีนที่เริ่มฉีด 7 มิ.ย. 64 กลุ่มผู้สูงอายุฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 637,000 คน สัดส่วน 46% กลุ่มโรคประจำตัว 460,000 คน สัดส่วน 60% โดย กทม.ประชุม 132 โรงพยาบาลทุกสัปดาห์เพื่อปรับกลยุทธ์และขอร้องให้ฉีดวัคซีนในวันหยุดด้วย

ในภาพรวมของกรุงเทพฯทุกกลุ่มอายุฉีดรวมกันแล้ว 50% และสิ้นเดือน ก.ค. 64 คาดว่าน่าจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ 70%

“ตัวเลขที่พูดถึงไม่ได้ฉีดใน 25 ศูนย์ฉีดอย่างเดียว มาจากหลาย ๆ ส่วน ทั้งการฉีดวัคซีนในโรงพยาบาล 126 แห่งที่เป็นระบบหมอพร้อม การฉีดที่สถานีกลางบางซื่อ การฉีดโดย ทปอ. และ ม.33 ซึ่งทั้งหมดนี้ กทม.ไม่ได้รับผิดชอบทั้งหมด แต่เป็นตัวเลขการฉีดคนในกรุงเทพฯ”

“กทม.จัดซื้อวัคซีนเองได้หรือไม่”

คำถามที่น่าสนใจ คือ กทม.เป็นเขตการปกครองพิเศษ สามารถซื้อวัคซีนนอกเหนือจากการจัดสรรของ สธ.ได้หรือไม่

“ที่ผ่านมาเราก็มีบางส่วนที่เราจัดวัคซีนซิโนฟาร์มในการฉีดผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุ ตอนนี้เราก็มีการติดต่อตลอด แต่บางส่วน เช่น โมเดอร์น่า ที่มีการแถลงโดยสภากาชาดไทย ตรงนั้นก็เขียนชัดเจนว่าจะให้คนต่างจังหวัดก่อน ซึ่งกรุงเทพมหานครไม่สามารถซื้อได้ตรงนั้น แต่ตรงอื่นเราก็พยายามที่จะหาเรื่อย ๆ เพราะเราคิดว่าเราจะต้องหาวิธีการซื้อวัคซีนให้ได้มากที่สุด ถ้าเราได้รับวัคซีนอะไรเพิ่มเติมมาแล้วก็จะมีการแจ้งกับประชาชน”

ATK-ขยะติดเชื้อทิ้งลงถังแดง

กรณีผู้ป่วยที่กักตัวอยู่บ้าน หรือ HI ในกรุงเทพฯ มีหน่วยงานหลายสังกัดที่มาร่วมดำเนินการ ทั้งโรงพยาบาล คลินิกอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่งของสำนักอนามัย อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล เจ้าภาพใหญ่ HI คือ “สปสช.-สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ซึ่งมีงบประมาณทั้งค่าอาหาร ค่าอุปกรณ์ ค่ายาให้ด้วย

ข้อมูลเฉพาะสำนักอนามัย กทม.มีผู้ป่วยอยู่ระหว่างการทำ HI 850 คน จำหน่ายออกไปแล้ว 700 คน สัปดาห์ปลาย ก.ค.นี้น่าจะมีข้อสรุปเรื่องของระบบการรายงานภาพรวมของ กทม.

“การดูแลผู้ป่วย HI ในระยะยาว ตอนนี้เห็นข้อมูลผู้ป่วยสูงขึ้นทุกวัน ในอนาคตก็จะต้องมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างแน่นอน มีการมารวมพลังของทุกภาคส่วน ล่าสุดประชุมกับสภากาชาดไทยมีแพทย์อาสาเข้ามาร่วมดูแลผู้ป่วย HI กับสำนักอนามัยด้วย โดย สวทช.ทำแอป AMED Telehealth ในการติดต่อสื่อสารดูแลคนไข้”

การทำงานแข่งกับเวลาสำคัญอีกเรื่อง คือ “ขยะติดเชื้อ” โดยเฉพาะจากการใช้ชุดตรวจ ATK สำนักอนามัยประสานกับสำนักสิ่งแวดล้อมกำหนดวิธีการและแจกถุง ซึ่งจะแจ้งว่ามีขยะติดเชื้ออยู่จุดไหนบ้าง จากนั้นทางสำนักงานเขตจัดเก็บและรวบรวมส่งให้หน่วยรับกำจัดขยะติดเชื้อไปดำเนินการต่อไป ซึ่งรวมทุกโรงพยาบาลไม่ใช่เฉพาะสังกัด กทม.

นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร

เร่งรัดเพิ่มเตียง “เหลือง-แดง”

ด้าน “ผอ.สำนักการแพทย์” ระบุว่า งานรับผิดชอบหลักมีการเพิ่มศักยภาพเพิ่มจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยรหัส “แดง-เหลือง-เขียว” เข้าไปในโรงพยาบาลหลัก โดยเฉพาะโรงพยาบาลราชพิพัฒน์และโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน

ซึ่ง กทม.ได้ปรับสภาพโรงพยาบาลสนามราชพิพัฒน์ 2 ที่ศูนย์การเรียนรู้ที่ทวีวัฒนา 5 ไร่ จากเดิมเป็น รพ.สีเขียวล้วน 200 เตียง ปรับเป็น รพ.สีเหลือง 150 เตียง และเพิ่ม Modular ICU 4 ยูนิต โดย 1 ยูนิตมี 10 เตียง ปัจจุบันทำเสร็จแล้ว 2 ยูนิต ที่เหลือจะเสร็จในสิ้นเดือน ก.ค.นี้

“Modular ICU 40 เตียง จะรับผู้ป่วยสีแดงหรือผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจ ส่วนสีเหลืองได้ทั้งหมด 150 เตียง เป็นเรื่องของการเพิ่มศักยภาพในเคสสีแดงและสีเหลืองในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์”

ส่วน รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน ได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลเอกชนมาช่วยเปิดเตียง ICU อีก 16 เตียง ปรับเตียงสีเขียว 70 เตียงยกระดับเป็นเตียงสีเหลืองทั้งหมด เบ็ดเสร็จมีเตียงสีเหลือง 140 เตียง สำหรับรองรับการส่งต่อจาก HI

ขณะที่ศูนย์พักคอยเพื่อรอส่งต่อโรงพยาบาล หรือ CI โครงสร้างแบ่ง 6 กลุ่มเขต คลุม 50 เขตทั่งกรุงตามนโยบายจัดตั้ง “ศูนย์พักคอย 1 ศูนย์ 1 เขต” และยกระดับเป็นโรงพยาบาลสนาม

รวมถึงโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์มีการเพิ่ม “เตียงเหลือง-แดง” ใน “รพ.กลาง-รพ.ตากสิน-รพ.เจริญกรุงประชารักษ์” นอกเหนือจาก hospital 8,000 กว่าเตียงที่ร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยทางกรมการแพทย์ สธ.มีการปรับเกณฑ์ hospital ให้สามารถดูแลผู้ป่วยสีเหลืองได้จำนวนหนึ่ง

“ปัจจุบันคลัสเตอร์ใน กทม.มีทั้งหมด 105 คลัสเตอร์ ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ที่พบผู้ป่วยในรอบ 14 วัน หรือ active cluster และเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 64 เรายังไม่เจอคลัสเตอร์ใหม่”

คู่มือผู้ป่วยเขียว-เหลือง-แดง

ทั้งนี้ สำหรับการรักษาตัวอยู่ที่บ้าน หรือ HI มีทีมบุคลากรสาธารณสุขติดต่อและนำส่งยาพร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ มีการตรวจติดตามทุกวันอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง แสดงถึงว่าผู้ป่วยไม่ใช่อยู่อย่างโดดเดี่ยว กรณีไม่สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ ขั้นตอนต่อไปคือหน่วยบริการสายด่วน 1669 ศูนย์เอราวัณ, สายด่วน 1668 หรือ 1330 จะนำตัวผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษา เริ่มตั้งแต่อาการเล็กน้อย คือ “สีเขียว-เหลืองอ่อน” ไม่มีภาวะที่เป็นข้อห้าม เช่น อายุมาก มีโรคเสี่ยง น้ำหนักตัวเกิน หรือตั้งครรภ์ วิธีการจะนำผู้ป่วยไปอยู่ที่ hospital เป็นลำดับแรก

แต่ถ้ามีอาการหนักเป็นเคส “สีเหลือง” กล่าวคือ มีไข้สูง เหนื่อยหอบ และเคส “สีแดง” ที่มีค่าออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 96% รวมทั้งเอกซเรย์ปอดแล้วมีปอดอักเสบ จะนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาที่โรงพยาบาล

ถ้าผู้ป่วยยังตกค้างและมีอาการอยู่ระดับกลาง ๆ แล้วไม่สามารถอยู่บ้านได้ แหล่งพึ่งสุดท้ายก็คือ CI-community isolation ซึ่ง กทม.เร่งจัดตั้ง 1 ศูนย์ 1 เขต นอกจากนี้ มี CI ที่ภาคเอกชนและชุมชนร่วมมือกับสถานพยาบาลบางแห่งจัดตั้งอีกจำนวนหนึ่ง

สเต็ปอัพสุดท้ายเมื่อพักที่ CI 2-3 วัน ถ้าอาการดีขึ้นจะนำคนไข้ส่งไป hospital แต่ถ้าอาการแย่ลงจะเข้าสู่ระบบโรงพยาบาลสนามต่อไป