คมนาคมอัพเดตน้ำท่วม-ทางสัญจรไม่ได้ ถนนหนักสุด 43 แห่ง รางรถไฟ 2 จุด

ภาพ : กระทรวงคมนาคม

กระทรวงคมนาคมอัพเดตสถานการณ์น้ำท่วม-ทางสัญจรไม่ได้ ถนนหนักสุด 43 แห่ง รางรถไฟ 2 จุด

วันที่ 7 ตุลาคม 2564 กระทรวงคมนาคม โดยศูนย์ Command Center ภัยพิบัติกระทรวงคมนาคม สรุปรายงานอุทกภัยในเส้นทางคมนาคม ข้อมูล ณ วันที่ 7 ตุลาคม 2564 รายละเอียดดังนี้

1.มีโครงข่ายคมนาคมได้รับผลกระทบ รวม 75 เส้นทาง จำนวน 97 แห่ง สามารถสัญจรผ่านได้ 52 แห่ง สัญจรผ่านไม่ได้ 45 แห่ง แบ่งเป็นทางถนน 43 แห่ง และทางราง 2 แห่ง

2.ถนนทางหลวงและทางหลวงชนบท ได้รับผลกระทบ รวม 73 เส้นทาง จำนวน 94 แห่ง สามารถสัญจรผ่านได้ 52 แห่ง สัญจรผ่านไม่ได้ 42 แห่ง

3.มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย ทั้งหมด 17 จังหวัด โดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) จังหวัดอ่างทอง 2) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 3) จังหวัดขอนแก่น 4) จังหวัดชัยภูมิ และ 5) จังหวัดกาญจนบุรี

4.การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีเส้นทางเดินรถที่ได้รับผลกระทบผ่านไม่ได้ 2 แห่ง ได้แก่

– ระหว่าง สถานีบำเหน็จณรงค์ – สถานีจัตุรัส กม.ที่ 296/5 – 297/7 จังหวัดชัยภูมิ
– ระหว่าง สถานีบำเหน็จณรงค์ – สถานีจัตุรัส กม.ที่ 308/5 – 310/2 จังหวัดชัยภูมิ

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท. ปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินรถ ดังนี้

1) หยุดเดินรถเส้นทางแก่งคอย-ชุมทางบัวใหญ่ จำนวน 2 ขบวน, กรุงเทพฯ-พิษณุโลก จำนวน 2 ขบวน และกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จำนวน 1 ขบวน

2) เปลี่ยนเส้นทางการเดินรถกรุงเทพฯ-หนองคาย จำนวน 2 ขบวน มาใช้เส้นทางแก่งคอย-ปากช่อง-นครราชสีมา-ชุมทางบัวใหญ่-หนองคาย

5.บริษัท ขนส่ง จำกัด ปรับเส้นทางเดินรถที่มีเส้นทางผ่านจังหวัดพิจิตร ได้แก่ สาย 47 กรุงเทพฯ-ทุ่งช้าง, สาย 957 กรุงเทพฯ-แม่สาย และสาย 962 กรุงเทพฯ-ป่าแดด-เชียงของ เปลี่ยนมาใช้เส้นทาง ทล.117 นครสวรรค์-พิษณุโลก แทน

6.กรมเจ้าท่า ตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย จัดชุดถุงยังชีพ อาหาร และน้ำดื่มแจกจ่ายให้กับประชาชนพร้อมลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย

7.กรมทางหลวงชนบทนำเครื่องจักรเข้าซ่อมแซมถนนที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งจัดรถรับ-ส่ง และมอบสิ่งของจำเป็นให้แก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย

นอกจากนี้ กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ได้ติดตั้งป้าย/อุปกรณ์ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนในการสัญจรในพื้นที่เกิดประสบเหตุอุทกภัย ในส่วนของท่าเรือและท่าอากาศยานยังไม่มีรายงานการได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมเพิ่มการเฝ้าระวังน้ำหลากและดินถล่ม ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง รวมทั้งติดตามสถานการณ์อุทกภัยทุกพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเร่งช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการเดินทางและประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ซึ่งสามารถสอบถามเส้นทาง ข้อมูลเพิ่มเติมหรือแจ้งเหตุอุทกภัย ได้ที่

– ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยคมนาคม โทร. 1356
– สายด่วนกรมทางหลวง โทร. 1586
– สายด่วนกรมทางหลวงชนบท โทร. 1146
– สายด่วนบริษัท ขนส่ง จำกัด โทร. 1490 เรียก บขส.
– สายด่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690
– สายด่วนกรมเจ้าท่า โทร. 1199