ศักดิ์สยาม ฟื้นสายการเดินเรือแห่งชาติ ดึงเอกชนลงทุน “เฟอรี่-เรือคอนเทนเนอร์”

9 ธันวาคม 2564 “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ตรวจงานชุดใหญ่ไฟกะพริบ ณ ท่าเรือจุกเสม็ด จังหวัดชลบุรี

ไฮไลต์อยู่ที่การอัพเดตความคืบหน้าการรื้อฟื้นนโยบายจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติขึ้นมาใหม่ หลังจากรัฐบาลชุดก่อน ๆ ได้ยุตินโยบายในเรื่องนี้ไปแล้ว

จึงอาจกล่าวได้ว่าความพยายามในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติของประเทศไทยรอบนี้เป็นหนึ่งในสีสันการบริหารราชการแผ่นดินของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งได้โควตาเก้าอี้กระทรวงคมนาคมรวมอยู่ด้วย

ขนคน-ของต่อเนื่องหลายรูปแบบ

ทั้งนี้ แพ็กเกจนโยบายจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติดังกล่าว บรรจุอยู่ในแผนใหญ่ว่าด้วยพัฒนาการขนส่งสินค้าทางน้ำในประเทศ ลดต้นทุนโลจิสติกส์ แนวนโยบายจะมี 2 แนวทาง คือ 1.การเดินเรือภายในประเทศ (domestic marine line) 2.การเดินเรือในระดับ international

และเนื่องจากเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ จึงเน้นการชักชวนเอกชนร่วมลงทุนทั้งสายการเดินเรือแห่งชาติในประเทศและอินเตอร์เนชั่นแนล

โดยกระทรวงคมนาคมมีนโยบายมุ่งมั่นพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทั่วประเทศอย่างบูรณาการ ทั้ง “บก-ราง-น้ำ-อากาศ” รวมทั้งสร้างความสามารถการแข่งขันให้กับประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน

โจทย์หลักกระทรวงคมนาคมนอกจากการบริหารราชการเชิงรุกแล้ว เข็มทิศยังมุ่งเน้นการบูรณาการระหว่างรูปแบบการขนส่ง กำกับดูแลการพัฒนาระบบคมนาคมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้สามารถรองรับ “การขนส่งและการเดินทางต่อเนื่องหลายรูปแบบ” เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด ลดต้นทุนโลจิสติกส์ด้านการขนส่งสินค้าของประเทศ

โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (shift mode) จาก “ถนนสู่เรือ” ให้มากขึ้น ซึ่งได้มอบให้กรมเจ้าท่า (จท.) และการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เร่งพัฒนาโครงการสำคัญเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและดำเนินการตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกให้เป็นประตูการค้าเชื่อมโยงพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกและตะวันตกให้เชื่อมต่อและขนส่งสินค้าไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน

รวมทั้งเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากภาคตะวันออกสู่ภาคใต้

เฟอรี่ยิงตรง “สัตหีบ-สงขลา”

อัพเดตความคืบหน้าสายการเดินเรือแห่งชาติโฉมใหม่ “ศักดิ์สยาม” มอบหมายให้ 2 หน่วยงานหลักเป็นผู้รับผิดชอบ คือ “กรมเจ้าท่า-การท่าเรือแห่งประเทศไทย”

โดยมีผลศึกษาเบื้องต้นซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี 2563 สรุปสาระสำคัญเสนอให้มีการจัดตั้ง 2 แนวทาง ทั้งเส้นทางในประเทศ และการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศดังกล่าว

เริ่มต้นจากเส้นทาง “การเดินเรือภายในประเทศ-domestic marine line” เชื่อมโยงการเดินทางอ่าวไทยซึ่งเป็นการร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยกระทรวงคมนาคมจะสนับสนุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและท่าเทียบเรือ รวมทั้งการพิจารณาอนุญาตเกี่ยวกับสายการเดินเรือ

อัพเดตความคืบหน้าล่าสุด กรมเจ้าท่าได้ร่วมกับ “บริษัท ซีฮอร์ส เฟอร์รี่ จำกัด” นำเรือ Ro-Ro Ferry (Roll-on Roll-off) ชื่อเรือ The Blue Dolphin ทำการเดินเรือเฟอรี่ข้ามอ่าวเส้นทางระหว่างจังหวัดชลบุรี-สงขลา พิกัดคือเปิดให้บริการเส้นทาง “สัตหีบ-สงขลา”

domestic marine line เริ่มทดลองให้บริการเดินเรือเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ตามแผนจะเปิดให้บริการเป็นทางการในปี 2565 ระยะแรกให้บริการเส้นทางท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ (จุกเสม็ด)-ท่าเรือสวัสดิ์ จ.สงขลา ประเมินว่าเป็นตัวช่วยลดปริมาณรถในการขนส่งสินค้า 90,000 คันต่อปี

วิ่งเรือ 20 ชั่วโมง-สัปดาห์ละครั้ง

สำหรับเรือ The Blue Dolphin ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมเจ้าท่า มีอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานสากล มีตารางเดินเรือที่แน่นอนเชื่อมการเดินทางระหว่างภาคตะวันออก-ภาคใต้

สายการเดินเรือแห่งชาติเฟอรี่มีเรือขนาด 7,003 ตันกรอส ความยาว 136.6 เมตร กว้าง 21 เมตร กินน้ำลึก 5.7 เมตร มีพื้นที่รองรับการขนส่งยานพาหนะความยาว 916 เมตร รองรับรถยนต์ส่วนบุคคลและรถบรรทุกครั้งละ 100 คัน รองรับผู้โดยสาร 536 คน

สมรรถนะเรือเฟอรี่เดินเรือด้วยความเร็ว 20 นอต หรือ 36 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้ระยะเวลาเดินทาง 20 ชั่วโมง ให้บริการ 1 เที่ยวไป-กลับต่อสัปดาห์ ตารางเรือกำหนดในวันอังคาร-พุธ และตั้งเป้าขยายเปิดบริการในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์เพื่อรองรับการท่องเที่ยวอีกด้วย

แน่นอนว่าการเปิดให้บริการเดินเรือเฟอรี่เส้นทางสัตหีบ-สงขลาจะทำให้ประชาชนและผู้ใช้บริการมีทางเลือกในการเดินทาง การขนส่งสินค้า และการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น ช่วยลดปัญหาการจราจรทางบก ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ลดต้นทุนการบำรุงรักษาถนน

ที่สำคัญสนับสนุนการพัฒนาระบบขนส่งเชื่อมโยงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ EEC กับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (land bridge) ระหว่าง 2 จังหวัด “ชุมพร-ระนอง” ให้เป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกต่อไป

ดึงเอกชนผุดเรือตู้คอนเทนเนอร์

การจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติรอบใหม่ น้ำหนักการลงทุนก้อนมหึมาน่าจะเป็นเส้นทาง “การเดินเรือในระดับ international”

โดยผลศึกษาเบื้องต้นเสนอเส้นทางแบ่งเป็น “สายการเดินเรือฝั่งตะวันออก-east” ตั้งแต่กัมพูชา เวียดนาม เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น กับเส้นทางเดินเรือ “ฝั่งตะวันตก-west” ได้แก่ แอฟริกา และยุโรป หรือกลุ่ม BIMSTEC

สถานะปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษาพิจารณาบทเรียนและความสำเร็จของเส้นทางการเดินทาง รายละเอียดมากกว่านี้คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/65

คำถามหลัก คือ เม็ดเงินลงทุนจะควักมาจากกระเป๋าใบไหน ซึ่งแน่นอนว่าสูตรสำเร็จของการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติจะเกิดจาก 2 ประสานมาจากการร่วมลงทุนภาครัฐกับภาคเอกชน

คมนาคมยุคศักดิ์สยามวางไทม์ไลน์ในการจัด roadshow เปิดตัวนโยบายในงานแสดงสายการเดินเรือระดับโลก เพื่อแสดงให้เห็นถึงความคุ้มค่าในการเดินทาง ค่าใช้จ่าย และมาร่วมลงทุน

ในรอบทดสอบความสนใจภาคเอกชน กระทรวงคมนาคมระบุว่า ได้รับความสนใจ
จากหลายประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ตุรกี ฝรั่งเศส อังกฤษ

ในภาพกว้างเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศของสายการเดินเรือแห่งชาติของไทย เล็งผลเลิศไปยังการสร้างส่วนแบ่งการตลาดขนส่งตู้สินค้าหรือตู้คอนเทนเนอร์ที่มีสถิติปริมาณขนส่งสินค้าเข้า-ออกประเทศไทยปีละ 20 ล้านทีอียู หรือตู้ 20 ฟุต (TEU-twenty equivalent unit)

จึงถือเป็นความท้าทายที่จะดึงดูดให้ผู้ประกอบการจากทั่วโลกมาใช้เส้นทาง land bridge (ชุมพร-ระนอง) เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต