LPN ผ่าตัดองค์กรรับปี 65-69 โยก “สุรวุฒิ” นั่งเอ็มดีนิติบุคคล แตก BU บ้านเกิน 10 ล้าน

โอภาส ศรีพยัคฆ์

LPN ปรับโครงสร้างองค์กร เดินหน้าขับเคลื่อนตามแผน “Turnaround” ปี 2565-2569 พร้อมเปิดตัว 16 โครงการใหม่ในปี 2565 มูลค่ารวม 11,000 ล้านบาท ตั้งเป้ายอดขายแตะ 13,000 ล้านบาท

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวล ลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2565 ว่าจากการวางแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (2564-2566) ในการขับเคลื่อนองค์กรให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืนที่เริ่มตั้งแต่ปี 2564 แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด ทำให้บริษัทต้องปรับตัวเพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยการปรับโครงสร้างภายใน และปรับแผนยุทธศาสตร์จาก 3 ปี เป็น 5 ปี (2565-2569)

“การปรับยุทธศาสตร์ครั้งนี้มีเป้าหมายสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 16,000 ล้านบาทในปี 2569 หลังจากที่เราสามารถก้าวข้ามผ่านความเสี่ยงทางธุรกิจที่เกิดขึ้นในปี 2564 สามารถรักษาความสามารถในการสร้างรายได้และกำไรไว้ได้ในอัตราที่เหมาะสม” นายโอภาส กล่าว

โดยปี 2565 เป็นปีของการเปลี่ยนแปลง (Year of Business Transformation) ที่สำคัญ 5 ประเด็น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจ (Corporate Transformation), การบริหารจัดการ (Management Transformation), การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพัฒนาโครงการ (Project Development Transformation), การปรับปรุงระบบเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation), และการสร้างแบรนด์ (Brand Transformation)

เรื่องแรก “Corporate Transformation-การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจ”

ปี 2565 บริษัทแยกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กับธุรกิจบริการออกจากกันเพื่อให้มีความชัดเจนในการบริหารจัดการ และเพื่อประโยชน์ในการขยายธุรกิจในอนาคต โดย LPN-บริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) มุ่งพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งอาคารชุดพักอาศัยและบ้านพักอาศัย รายได้หลักมาจากการขายที่อยู่อาศัย ในขณะที่ธุรกิจบริการ บริหารจัดการโครงการ ดำเนินการโดย LPP-บริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด มีนายสุรวุฒิ สุขเจริญสิน เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่

โดย LPN ยังคงถือหุ้นใน LPP 100% ขณะที่ LPP สามารถบริหารงานได้อย่างอิสระ สามารถขยายขอบเขตรับงานบริหารนิติบุคคลได้ทั้งในเครือ LPN และโครงการทั่วไป สร้างโอกาสในธุรกิจบริการ โดยกลุ่มบริษัท LPN ตั้งเป้าการเติบโตต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี

เรื่องที่ 2 “Management Transformation-การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหาร”

บริษัทปรับโครงสร้างการบริหารในส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จากโครงสร้างการทำงานตามหน้าที่ (Functional Organization) สู่การบริหารงานในรูปแบบของหน่วยธุรกิจ (Business Unit) เป็นการปรับโครงสร้างต่อเนื่องจากปี 2564 แบ่งเป็น 3 หน่วยธุรกิจ ประกอบด้วย 1.BU พัฒนาคอนโดมิเนียม 2.BU พัฒนาบ้านแนวราบราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท 3.BU พัฒนาบ้านแนวราบเกิน 10 ล้านบาท

การปรับโครงสร้างการบริหารดังกล่าวเริ่มมีการทำงานอย่างชัดเจนในปี 2565 เพื่อให้แต่ละหน่วยธุรกิจรับผิดชอบมีความคล่องตัวในการทำงาน ทั้งเรื่องการออกแบบและการพัฒนาโครงการ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อในแต่ละกลุ่ม (Segment) ได้อย่างรวดเร็วและตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้มากขึ้น

เรื่องที่ 3 “Project Development Transformation-การเปลี่ยนแปลงการพัฒนาโครงการ”

แผนพัฒนาโครงการปี 2565 เน้นตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว (Uniqueness) โดยพัฒนาโครงการที่มีขนาดเล็กลง ออกแบบภายใต้แนวคิด “LPN Design” เพื่อให้ได้ที่อยู่อาศัยภายใต้แนวคิด “น่าอยู่” (Livable Home) เหมาะกับคนรุ่นใหม่ และคนทุกวัยในครอบครัว

โดยนำมาใช้ในการเปิดตัวโครงการในปี 2565 ที่วางแผนเปิดตัวใหม่ 16 โครงการ มูลค่ารวม 11,000 ล้านบาท แบ่งเป็นคอนโดฯ 5 โครงการมูลค่า 7,000 ล้านบาท กระจายหลากหลายทำเล, บ้านแนวราบราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท 10 โครงการ มูลค่า 3,300 ล้านบาท และบ้านแนวราบราคาเกิน 10 ล้านบาท 1 โครงการ มูลค่า 700 ล้านบาท มีงบซื้อที่ดิน 4,000 ล้านบาท รองรับการเพื่อพัฒนาโครงการในปี 2565-2566

ทั้งนี้ แผนระยะกลางปี 2565-2569 ตั้งเป้าพัฒนาไม่น้อยกว่า 70 โครงการ มูลค่ารวม 50,000 ล้านบาท ยอดขายรวมสะสม 5 ปีไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท มีเป้ายอดขายในปี 2565 จำนวน 13,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46 % เมื่อเทียบกับยอดขาย 8,900 ล้านบาทในปี 2564

เรื่องที่ 4 “Digital Transformation-การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี”

จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562-ปัจจุบัน บริษัทนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ลดขั้นตอนการทำงานและลดค่าใช้จ่าย เพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และรวบรวมฐานข้อมูลลูกค้า และปี 2565 บริษัทต่อยอดนำดิจิทัลมาช่วยสนับสนุนด้านการตลาดและการขาย เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในการเข้าเยี่ยมชมโครงการแบบไร้สัมผัสผ่าน 3-D Virtual 360 องศา รวมถึงนำข้อมูลความต้องการลูกค้า (Big Data) วิเคราะห์และพัฒนาโครงการ

เรื่องที่ 5 “Brand Transformation-การปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์”

ปี 2565 บริษัท ให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้แบรนด์ของ LPN ในฐานะผู้พัฒนาที่อยู่อาศัยภายใต้แนวคิด “น่าอยู่” (Livable Home) ในกลุ่มคนรุ่นใหม่อายุ 25-35 ปี (Gen Y) หรือวัยเริ่มต้นทำงาน (First Jobber) สร้างธุรกิจเอง (Entrepreneur) รวมถึงกลุ่ม Startups

“การปรับเปลี่ยนใน 5 ด้านสำคัญเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการขับเคลื่อนองค์กรของ LPN ในปัจจุบันและอนาคต ทำให้การบริหารงานมีความคล่องตัว และสามารถรักษาอัตราการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องโดยตั้งเป้าหมายการเติบโตไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี ถึงแม้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะเผชิญหน้ากับความเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ในอนาคต”

คาดตลาดอสังหฯ ปี 2565 ฟื้นตัว 5-15%

ในขณะที่แนวโน้มอสังหาฯ ในปี 2565 มองว่าผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในปี 2564 ปีนี้ตลาดอสังหาฯ จะฟื้นตัวหลังจากที่มีอัตราการเปิดตัวโครงการใหม่ติดลบต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562-2564 เนื่องจากจำนวนสินค้าคงเหลือในระบบลดลง ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ เร่งเปิดตัวโครงการใหม่เพื่อทดแทนกับสินค้าที่มีจำนวนลดลง ในขณะที่มาตรการรัฐทั้งการลดค่าจดจำนองและโอนเหลือ 0.01% รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนคลายหลักเกณฑ์ Loan-to-Value-LTV ชั่วคราว หรือมาตรการ LTV 100% และอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ยังต่ำ เป็นปัจจัยกระตุ้นตลาดอสังหาฯ มีแนวโน้มเติบโต 5-15% เมื่อเทียบกับปี 2564

อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยเสี่ยงต้องระมัดระวัง อาทิ หนี้ครัวเรือนสูงแตะระดับ 90% กระทบกับกำลังซื้อ และความสามารถในการกู้ ปัญหายอดปฏิเสธสินเชื่อระดับสูง และสถานการณ์โอมิครอน กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจซึ่งเป็นปัจจัยที่ยากจะคาดการณ์ได้