ประชุม TCAC ประสบความสำเร็จ มีผู้เข้าร่วมทะลุเป้ากว่า 3 พันคน “วราวุธ” ชี้ให้ทั่วโลกเห็นบทบาทไทยต่อการแก้ปัญหาโลกร้อน

รมว.ทส. “วราวุธ” เผย การประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย หรือ TCAC ครั้งแรกของไทย ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย   

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เปิดเผยถึงการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย หรือ TCAC ครั้งแรกของประเทศไทย ว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน องค์กรต่างๆ กว่า 500 แห่ง เพื่อการบรรลุเป้าหมายของประเทศ และประโยชน์สูงสุดของประชาชนจากกิจกรรมจัดนิทรรศการกว่า 30 บูธ และมีผู้สนใจเข้าร่วมงานทั้ง 2 วันมากกว่า 3,000 คน ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะนำผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมไปประกาศต่อที่ประชุม COP27 ซึ่งหวังว่าการจัดประชุม TCAC จะสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมไทย ให้เห็นความสำคัญของการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นในปัจจุบัน และส่งต่อโลกที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกหลานของเราในอนาคต

ไม่เพียงแต่ความกระตือรือร้นในส่วนของภาครัฐ แต่การประชุม TCAC ครั้งนี้ ยังได้รับการตอบรับเป้าหมายของประเทศจากผู้บริหารระดับ CEO ของภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ที่ได้เห็นความสำคัญ และกำหนดให้มีการตั้งเป้าหมาย Net – zero ขึ้นในระดับองค์กร  ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่า (Added Value) ให้กับธุรกิจอย่างยั่งยืน ที่จะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวและยั่งยืนต่อไป

ด้านความร่วมมือจากต่างประเทศนั้น รมว.ทส. กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณ เอกอัครราชทูต และอุปทูต จาก 50 กว่าประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครือรัฐออสเตรเลีย สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ญี่ปุ่น สมาพันธรัฐสวิส และสหรัฐอเมริกา ที่พร้อมยืนเคียงข้างประเทศไทยในฐานะพันธมิตร รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศกว่า 20 องค์กร ที่สนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมาย เช่น ด้านพลังงานทดแทน พลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า การจัดประชุมในครั้งนี้ จึงเป็นเสมือนการส่งข้อความเตือนไปยังทุกประเทศทั่วโลกในการสนับสนุนประเทศไทยในทุกแง่มุม เพื่อให้การดำเนินงานของประเทศไทยบรรลุเป้าหมายตามที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ในที่สุด

ด้านความชัดเจนของการดำเนินงานนั้น ทส. จะมีการส่งร่างยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย (Thailand’s Long-Term Low Greenhous Gas Emission development Strategy) รวมถึง NDC ฉบับปรับปรุง ให้กับ UNFCCC ภายในปลายปีนี้ ก่อนที่ ทางทส. จะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปประชุม COP 27 ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ที่ประเทศอียิปต์ และสำหรับการขับเคลื่อนในระดับจังหวัดและท้องถิ่น ทาง ทส. พร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินงานของแต่ละจังหวัด และการขยายผลไปสู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ  ซึ่งขณะนี้ได้เห็นความชัดเจนของการนำนโยบายไปสร้างให้เกิดความร่วมมือกับประชาชนทั่วประเทศที่จะนำไปสู่แนวทางและกำหนดเป้าหมายการลด GHG ระดับจังหวัดในหลายจังหวัดแล้ว