เที่ยวเวียดนามสวยงามเกินต้าน กับ ทริป MIC INTER TRIP#03 เวียดนามกลาง

เที่ยวเวียดนาม

หลังจากที่ศูนย์ข้อมูลมติชน และ มติชนอคาเดมี จัดทริปพิเศษที่ ลาวใต้ เมื่อกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา และมีประเด็นที่อ.สมฤทธิ์ ลือชัย เล่าถึงปราสาทวัดพูและเมืองเศรษฐปุระ ที่เกี่ยวข้องกับ “จาม” ซึ่งเป็นรัฐสำคัญที่ตั้งอยู่ตามชายฝั่งทะเล อยู่แถวตอนกลางของประเทศเวียดนาม

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนของรัฐจามปา ว่าสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์  รวมถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับเวียด จึงจัดทริป MIC INTER TRIP#03 เวียดนามกลาง เว้-ฮอยอัน-ดานัง-หมี่ชิน-บานาฮิลล์ นำเที่ยวโดย อ. สมฤทธิ์ ลือชัย

แต่ก่อนที่จะไปสัมผัสกับสถานที่จริง ทางศูนย์ข้อมูลและมติชนอคาเดมี ขอนำข้อมูลประวัติศาสตร์สำคัญแบบย่อๆ ของจามปา และความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับเวียด

จามเป็นใคร? มาจากไหน? เมื่อไร?

จามเป็นชื่อทางวัฒนธรรม (คล้ายกับคำว่าแขก, ขอม, สยาม) หมายถึงประชากรของรัฐจามปาในเวียดนาม นับเป็นทายาทของบรรพชนชื่อ “ซาหวิ่น” กลุ่มคนดั้งเดิมในเวียดนาม ซึ่งประกอบด้วยคนนับถือศาสนาผีมีหลายชาติพันธุ์ที่พูดภาษากลางคือ ภาษามลายู (ในตระกูลภาษาชวา–มลายู) และชำนาญเดินเรือทะเลสมุทร

เริ่มรับวัฒนธรรมอินเดียราวเรือน พ.ศ. 1000 สมัยแรก นับถือศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์–ฮินดู ปะปนศาสนาผี แล้วแผ่ขยายอิทธิพลไปทางลุ่มน้ำโขงบริเวณจัมปาสัก (ในลาว) ถึงอีสาน (ในไทย) สมัยหลัง เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม (ซึ่งรับผ่านทางจีน)

เข้าถึงอ่าวไทย

บรรพชนจาม (“ซาหวิ่น”) เข้าถึงอ่าวไทยทางบ้านเมืองลุ่มน้ำท่าจีน–แม่กลองราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือราว พ.ศ. 500 นอกจากนั้นยังมีส่วนสำคัญในการกระจายการค้าระหว่างภาคพื้นทวีปกับกลุ่มเกาะของอุษาคเนย์ ดังพบหลักฐานสำคัญเป็นวัตถุในศาสนาผี 2 อย่าง ได้แก่ (1.) ลิงลิงโอ และ (2.) กลองทอง (มโหระทึก)

ครั้นหลัง พ.ศ. 1000 เริ่มแรกการค้าโลก (นักโบราณคดีไทยเรียกสมัยทวารวดี) มีรัฐจามปาในเวียดนาม เป็น “คนกลาง” (ร่วมกับ “ศรีวิชัย”) เดินเรือทะเลสมุทรค้าขายทั่วภูมิภาคอุษาคเนย์ แล้วแลกเปลี่ยนกับรัฐบริเวณอ่าวไทยซึ่งมีชื่อในเอกสารจีน ได้แก่ (1.) หลั่งยะสิว หรือหลั่งเกียฉู่ บริเวณลุ่มน้ำท่าจีน–แม่กลอง และ (2.) โถโลโปตี หรือทวารวดี บริเวณลุ่มน้ำป่าสัก–ลพบุรี

รัฐจามปามีส่วนสำคัญผลักดันกำเนิดรัฐกัมพูชา จึงมีความทรงจำเรื่องนางนาค–พระทอง โดยเชื่อว่าพระทองคือจามหรือวัฒนธรรมจามหลังรับวัฒนธรรมอินเดีย

(คัดบางส่วนมาจากเรื่อง “จาม” จาก “จามปา” พูดภาษามลายู ดูแลกองเรือรบรัฐอยุธยา ชำนาญการค้าทางทะเลสมุทร เขียนโดยสุจิตต์ วงษ์เทศ เผยแพร่ในมติชนออนไลน์เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564)

ปราสาทหมี่เซิน กลุ่มศาสนสถานขนาดใหญ่ที่จังหวัดก๋วงนัม

ชมงานช่างชิ้นเอก

พิพิธภัณฑ์ประติมากรรมจาม

พิพิธภัณฑ์ประติมากรรมจาม ตั้งอยู่ที่เมืองดานัง เพื่อจัดแสดงประติมากรรมในศิลปะจามโดยเฉพาะ ที่มาของการก่อตั้งสืบเนื่องจากการสำรวจโบราณสถานจามของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ (Ecole Francaise d’ Extrime Orient) ในแหล่งโบราณคดีจามได้ค้นพบประดิมากรรมจำนวนมาก ในท้ายที่สุดราวพุทธศตวรรษที่ 25 ได้นำประติมากรรมจามจำนวน 90 ชิ้นมาจัดไว้ที่สวนใกล้กับแม่น้ำฮ่าน (Han River) ซึ่งเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน

ประติมากรรมจาม ที่พิพิธภัณฑ์ประติมากรรมจาม เมืองดานัง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2458 จึงมีการสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ขึ้นโดยสถาปนิกชาวตะวันตก ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ประติมากรรมในศิลปะจามที่สำคัญที่สุดแหล่งหนึ่ง

ตัวอย่างประติมากรรมสมัยหมีเชิน E1 ชิ้นสำคัญ เช่น หน้าบันรูปพระวิษณุจากปราสาทหมีเซิน E1,พระพิฆเณศจากปราสาทหมีเซิน E5, ฐานรองรับศิวลึงค์จากปราสาทหมีเซิน E 1, ส่วนงานศิลปกรรมสมัยดงเดืองคือ พระพุทธรูปจากปราสาทดงเดือง, ทวารบาลจากปราสาทดงเดือง, ตาราสำริดที่ใหญ่สุดในศิลปะจาม

ประติมากรรมจาม ที่พิพิธภัณฑ์ประติมากรรมจาม เมืองดานัง

นอกจากนี้มีงานประติมากรรมสมัยหมีเซิน A1 ด้วย อาทิฐานประดับนางรำและนักดนตรีจากตราเกียว ส่วนประติมากรรมสมัยบิ่งดิงที่น่าสนใจ เช่น ฐานศิวลึงค์ประดับถันสตรี การประดับประติมากรรมรูปถันสตรีโดยรอบฐานศิวลึงค์เป็นลักษณะที่ไม่เคยพบมาก่อนในศิลปะใด สำหรับในศิลปะจามนั้นปรากฏในศิลปะหมีเซิน A 1 เป็นครั้งแรก และนิยมอย่างมากในสมัยบิ่งดิง มีผู้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับที่มาของการประดับดังกล่าวไว้ต่างกัน บางกลุ่มเชื่อว่าอาจมาจากพวกชนเผ่าที่อยู่ตามเทือกเขาอันนัม บางท่านเชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับตำนานบรรพบุรุษของกษัตริย์อินทรปุระซึ่งมีนามว่า อุโรหะ หรือ อุระ คำดังกล่าวแปลว่าพระถัน

(คัดบางส่วนมาจาก ศิลปะเวียดและจาม เขียนโดย ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช สนพ.มติชน, สิงหาคม 2557)

การเมืองและความสัมพันธ์

สยาม-เวียดนาม

คนไทยเรียกอาณาจักรเวียดว่า “ญวน” โดยความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองดินแดนนั้นมีทั้งระหว่างระดับราชสำนักและระดับชาวบ้าน

ความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักปรากฎหลักฐานชัดในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22-23 ความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นไปในลักษณะขัดแย้ง เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต้องการมีอำนาจเหนือลาวและเขมร ซึ่งการสงครามระหว่างสองอาณาจักรต่างผลัดกันแพ้และชนะจนกระทั่งอาณาจักรเวียดตกเป็นเมืองขึ้นฝรั่งเศส การต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจของทั้งสองฝ่ายจึงสิ้นสุดลง

นอกจากความสัมพันธ์ในลักษณะสงครามแล้ว เชื้อพระวงศ์บางพระองค์ของราชสำนักเวียดเข้ามาพึ่งบรมโพธิสมภารของราชสำนักสยาม คนแรกคือ องเชียงชุน อนุชากษัตริย์เมืองเว้ ได้เข้ามาขอพึ่งบรมโพธิสมภารพระเจ้ากรุงธนบุรี และต่อมาคือ องเชียงสือ(เหงียน ฟุก อั้ง) ซึ่งเป็นพระนัดดาขององเชียงชุน ได้หนีกบฎเต็ยเซินมาพึ่งพิงราชสำนักของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ใน พ.ศ. 2325 ต่อมา องเชียงสือยกกองทัพกลับไปรบกับพวกกบฎที่เวียดนาม และท้ายสุดสถาปนาราชวงศ์เหงียนในพ.ศ. 2345 และสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์พระนามว่าพระเจ้าเยียลอง (คนไทยเรียกพระเจ้ายาลอง)

จากหลักฐานเอกสาร พบว่าชาวเวียดหรือชาวญวน อพยพเข้ามาในดินแดนไทยราวสมัยอยุธยา มูลเหตุการอพยพมี 2 ประการคือ 1. หนีภัยทางการเมืองและศาสนา 2. ถูกกวาดต้อนเป็นเชลยศึกสงคราม กรณีแรก อาทิชาวเวียดที่หนีภัยกบฏเต็ยเซินและชาวเวียดเข้ารีตที่ลี้ภัยเนื่องจากนโยบายต่อต้านคริสต์ศาสนาของกษัตริย์เวียด ส่วนตัวอย่างกรณีที่ 2 เช่น การกวาดต้อนชาวเวียดในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ทรงนำกองทัพไปโจมตีบันทายมาศใน พ.ศ. 2314 เป็นต้น

พระราชวังเว้

อาจระบุไม่ได้แน่ชัดว่า การอพยพเข้ามาของชาวญวนเริ่มตั้งแต่เมื่อใด แต่ปรากฎหลักฐานว่าใน พ.ศ. 2091สมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองมหานาคขึ้น และกล่าวว่าคลองนี้ผ่านวัดขุนญวน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในช่วงเวลาดังกล่าวน่าจะมีชาวเวียดเข้ามาตั้งหลักแหล่งแล้ว การตั้งชุมชนคงคล้ายกับในบันทึกของ เดอ ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาสยามในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ซึ่งบันทึกเกี่ยวกับชุมชนชาวต่างชาติในสยามว่าตั้งเป็นชุมชนนอกตัวเมือง โดยชาวสยามเรียกว่า “บ้าน” แต่ชาวโปรตุเกสเรียกว่า “แคมบ์” (ค่าย) ทั้งนี้แต่ละชาติก็ต้องเลือกหัวหน้าของตนขึ้นมาด้วย เพื่อเป็นตัวกลางระหว่างชุมชนและราชสำนักสยาม

สมัยต่อมามีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชาวเวียดในดินแดนไทยเช่นกัน ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อองเชียงชุนเดินทางมายังสยามนั้น ได้พาไพร่พลมาด้วย พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงพระราชทานที่นอกฝั่งพระนครด้านทิศตะวันออกให้ บริเวณนั้นปัจจุบันคือ พาหุรัดจึงมีชื่อเรียกว่า “บ้านญวนพาหุรัด”* แต่ในปลายรัชกาล เนื่องด้วยพระเจ้ากรุงธนบุรีพิโรธองเชียงชุน จึงรับสั่งให้ประหารชีวิตและขับไล่พวกญวนให้ออกไปอยู่นอกพระนคร

ในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พวกญวนที่ถูกขับไล่ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กลับมาตั้งบ้านเรือนในที่เดิมได้และบางส่วนให้ไปอยู่ที่ตำบาลบางโพ และเมื่อองเชียงสือได้นำผู้คนเข้ามาพึ่งบรมโพธิสมภาร ก็โปรดเกล้าๆ ให้ตั้งบ้านเรือนที่ใต้บ้านต้นสำโรง ตำบลคอกกระบือ ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งปัจจุบันคือที่ตั้งสถานทูตโปรตุเกส และต่อมาได้โปรดเกล้าๆ ให้ไปตั้งบ้านเรือนที่สามเสนด้วย แต่ญวนสามเสนจะต่างจากกลุ่มอื่นคือเป็นญวนที่นับถือคริสต์ศาสนา หลังจากสมัยรัชกาลที่ 1 แล้ว ชาว

เวียดนามยังมือพยพเข้ามาอย่างต่อเนื่องด้วยปัญหาการเมืองและศาสนาภายในอาณาจักรของตนเอง

(คัดบางส่วนมาจาก ศิลปะเวียดและจาม เขียนโดย ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช สนพ.มติชน, สิงหาคม 2557)

สนใจร่วมทริป MIC INTER TRIP#03 เวียดนามกลาง

เว้-ฮอยอัน-ดานัง-หมี่ชิน-บานาฮิลล์

วิทยากร สมฤทธิ์ ลือชัย

ฟังเรื่องราว ประวัติศาสตร์ของ “รัฐจามปา” พร้อมชมงานช่างชิ้นเอกในวัฒนธรรมจาม และประวัติศาสตร์นอกตำราว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับเวียด

26-29  พฤษภาคม 2566  ราคา 38,900 บาท

สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณหญิง โทร. 092-246-4140

สำรองที่นั่ง Add LINE คลิก หรือ LINE ID : MatichonMIC

หรือ  Facebook MatichonMIC