จากพระปณิธาน สู่การสร้างความยั่งยืนให้ชุมชน

จากพระปณิธาน สู่การสร้างความยั่งยืนให้ชุมชน

จากพระปณิธาน สู่การสร้างความยั่งยืนให้ชุมชนของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ กับพระกรณียกิจ ยกระดับผ้าไทยไปสู่สากล

“ความยั่งยืน ถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำรงชีวิตของมนุษย์ในโลกยุคปัจจุบัน และความยั่งยืนนี้เองจะไม่สามารถตั้งอยู่ได้ หากปราศจากซึ่งความสม่ำเสมอและศรัทธาเชื่อมั่น” ข้อความตอนหนึ่งในพระนิพนธ์คำนำของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในหนังสือ Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2023 ที่สะท้อนให้เห็นถึงพระปณิธานของพระองค์ในการมุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน โดยเฉพาะการนำงานหัตถศิลป์ผ้าทอพื้นเมืองจากภูมิปัญญาท้องถิ่นในภูมิภาคต่างๆ ของไทย มาพัฒนาเพิ่มมูลค่า เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับผู้คนในท้องถิ่น และสามารถต่อยอดไปอวดสายตาชาวโลกได้อย่างภาคภูมิ

  • จากศิลปาชีพสู่การพัฒนาผ้าทอพื้นเมืองให้มีมาตราฐานสากลและเพิ่มกลไกการตลาด

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาได้ตามเสด็จ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการทรงงานด้านการส่งเสริมผ้าไทยและหัตถศิลป์ในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทำให้ทรงซึบซับและสนพระทัยงานผ้าไทยมาอย่างยาวนาน ทรงนำประสบการณ์ ทั้งจากการทรงงาน และทรงศึกษาผ้าทอพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมพื้นบ้านในแต่ละภาค แล้วทรงนำแนวคิด มาพัฒนาสร้างสรรค์ต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทย ผสมผสานกับพระปรีชาสามารถด้านการออกแบบ จึงทรงนำมาประยุกต์ปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสมให้สอดคล้องกับยุคสมัยได้อย่างลงตัว โดยยังคงไว้ซึ่งลวดลายของผืนผ้าที่เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นในแต่ละภาคนั้นๆ เพื่อชูความแตกต่างและโดดเด่น และพระองค์ยังทรงให้ความสำคัญเรื่องขององค์ความรู้และทัศนคติแก่กลุ่มชุมชนต่างๆ โดยเสด็จไปทรงเยี่ยมและจัดการอบรม ทรงให้แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งลวดลาย เทคนิคการทอ การใช้สี เพื่อตอบสนองกับความต้องการของตลาด จนกระทั่งปัจจุบัน ผ้าไทยมีโทนสีอันเป็นที่นิยมในระดับสากล และมีคุณค่าด้วยการใช้สีจากธรรมชาติที่ปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้สวมใส่ อีกทั้งยังเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งสนับสนุนแนวคิด Sustainable Fashion ได้อย่างชัดเจน

Advertisment

  • ทรงพลิกฟื้นผ้าไทย คืนชีวิตให้ช่างทอผ้า สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

“ในช่วงที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้เดินทางไปหลายจังหวัดในภาคใต้ ได้เห็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอประจำถิ่นลวดลายต่างๆ โดยเฉพาะผ้าบาติกที่มีความสวยงามมาก จึงอยากเห็นผ้าบาติกของไทยมีความร่วมสมัย เป็นสากลมากขึ้นแต่ยังคงอัตลักษณ์ของภูมิภาค ส่วนผ้าขาวม้า ที่เป็นผ้าสามัญประจำบ้าน ประจำท้องถิ่นที่คนไทยรู้จักกันมานาน และยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบันควรส่งเสริมให้ก้าวไกลสู่สากลได้อย่างเต็มภาคภูมิ”  ส่วนหนึ่งของพระนิพนธ์คำนำ ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในหนังสือ “Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2023 ที่ทรงรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหารด้วยพระองค์เอง สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและตั้งพระทัยในการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาให้ความสำคัญ สวมใส่ผ้าไทยมากขึ้น โดยทรงศึกษาค้นคว้าผ้าลวดลายโบราณจากทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อให้ได้ลายพระราชทานอันเป็นเอกลักษณ์ อาทิ “ลายขอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ลายผ้าพระราชทานรูปตัว S ที่ทรงประทานอนุญาตแบบลายมัดหมี่ให้กับกลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม  ทุกเทคนิค สามารถนำไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้าได้ หรือลาย “ป่าแดนใต้” ผ้าบาติกพระราชทานที่สื่อถึงวิถีชีวิตและธรรมชาติของภาคใต้ที่มีเอกลักษณ์ และ “ลายดอกรักราชกัญญา” ผ้าลายพระราชทานประเภทมัดหมี่ ที่สื่อถึงความรักและกำลังใจ เป็นต้น ซึ่งแต่ละลายที่กลุ่มผลิตผ้าในแต่ละท้องถิ่นทั่วประเทศ ได้นำไปผลิตและจำหน่ายต่างได้รับกระแสตอบรับที่ดีขึ้น และสามารถสร้างรายได้จุนเจือครอบครัว โดยทรงมุ่งหวังให้ชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น สามารถพึ่งพาตนเองได้ และนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างยั่งยืน ซึ่งในปัจจุบันปรากฎผลอย่างเป็นรูปธรรมในหลากหลายชุมชนที่ได้ทรงเข้าไปส่งเสริม

  • ทรงต่อยอดจากอัตลักษณ์ท้องถิ่น สู่รันเวย์

จากหนังสือ Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2023 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี  นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงหยิบยกความยั่งยืน มาเป็นประเด็นในการนำเสนอและถ่ายทอดเรื่องราวของผ้าไทย ผ่านแนวคิด Moving Culture หรือวัฒนธรรมอันเคลื่อนคล้อย โดยพระองค์ทรงเชื่อว่า วัฒนธรรมที่ไม่หยุดอยู่กับที่หากไหลเอื่อยดุจดังสายน้ำยามปรับเอนวิถีไปตามแนวโค้งแห่งชีวิต จะสามารถหล่อเลี้ยงสังคมยุคใหม่ได้ไม่ต่างกับลำธารหล่อเลี้ยงชุมชน นำมาซึ่งการต่อยอดนำอัตลักษณ์ลวดลายผ้าทอพื้นถิ่นของไทยมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับยุคสมัย ซึ่งสอดคล้องกับพระปณิธานของพระองค์ในการที่จะยกระดับผ้าไทยไปสู่สากล ด้วยการนำความโดดเด่นของผ้าบาติกและผ้าขาวม้า มาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ พร้อมกับนำเทคนิคสำคัญประจำฤดูกาลนี้มาปรับใช้ ได้แก่ มัดหมี่, ขิด, จก, ยกดอก มาใช้ในการสร้างสรรค์ให้ผ้าท้องถิ่นโดดเด่นและแตกต่างมากขึ้นกว่าเดิม และเพื่อสานต่อพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า สิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรี่ยม และ ดิ เอ็มควอเทียร์ จึงได้ร่วมกับร่วมกับ 5 ดีไซเนอร์ชั้นนำของไทย ได้แก่ ศิริชัย ทหรานนท์ จากแบรนด์ THEATRE, พลพัฒน์ อัศวะประภา จากแบรนด์ ASAVA, ภูววิศ กฤตพลนารา จาก  แบรนด์ ISSUE, วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข จากแบรนด์ WISHARAWISH และ ธนาวุฒิ ธนสารวิมล จากแบรนด์ T AND T ในการร่วมกับออกแบบผลงานคอลเลคชั่นพิเศษจากแนวคิด วัฒนธรรมอันเคลื่อนคล้อย มาถ่ายทอดเรื่องราวของผ้าไทยในรูปแบบที่แปลกใหม่แต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของลวดลายที่ไม่มีใครเหมือน และพร้อมนำเสนอผ่านสายตาของคนไทยและคนทั่วโลกในรูปแบบนิทรรศการและการแสดงแฟชั่นโชว์ครั้งสำคัญ ในงาน EMPORIUM  EMQUARTIER  SENSE OF THAI 2023 (เอ็มโพเรี่ยม  เอ็มควอเทียร์  เซ้นส์ ออฟ ไทย) สืบสานใจ หัตถศิลป์ไทยสู่สากล ซึ่งศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรี่ยมและ ดิ เอ็มควอเทียร์ ได้ร่วมกับ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ ธนาคารออมสิน จัดขึ้นเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 91 พรรษา และชื่นชมในพระกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า สิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการส่งเสริมและพัฒนางานผ้าไทย และหัตถศิลป์ไทยจาก 4 ภูมิภาคของไทยและคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ในระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 – 14 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์

Advertisment