สทบ. สนับสนุนโครงการปลูกหญ้าอาหารสัตว์ ปั๊มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์

สทบ. สนับสนุนโครงการปลูกหญ้าอาหารสัตว์ ปั๊มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์

สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ  สนับสนุนโครงการปลูกหญ้าอาหารสัตว์ ปั๊มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบเคลื่อนย้ายได้

สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ได้ริเริ่มโครงการนำร่องตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โดยการให้ความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ภายใต้การดำเนินโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ครอบคลุมความรู้ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการเกษตรและอาหาร (2) ด้านสุขภาพและการแพทย์ (3) ด้านพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ และ (4) ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ ในรูปแบบโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนที่จะเข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ โดยการนำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาพัฒนาต่อยอดจากผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร มีการนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าที่สุด ลดปริมาณของเสียให้น้อยลง มุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน

สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ผลักดันการดำเนินโครงการนำร่องตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โดยมีแนวคิดการดำเนินเพื่อพัฒนาสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อเยียวยา ฟื้นฟู รักษาระดับการจ้างงาน กระตุ้นการลงทุนและการบริโภคในระบบเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างความเข้มแข็งในระดับฐานรากอย่างยั่งยืน ตลอดจนเพิ่มศักยภาพและยกระดับการผลิต การค้า และการบริการในระดับชุมชน ส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่น โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ในทุกมิติ

ทั้งนี้ จึงได้ให้การสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ดำเนินการติดตั้งวัสดุ อุปกรณ์ เทคโนโลยี ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG “โครงการปลูกหญ้าอาหารสัตว์ ปั๊มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบเคลื่อนย้ายได้” เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานโครงการนำร่องตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ด้านเทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะ แบบกลางแจ้ง/ระบบเปิดตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในพื้นที่ 10 ไร่ เป็นโครงการที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่เลี้ยงสัตว์ โดยการเพาะเลี้ยงหญ้าด้วยระบบการบริหารจัดการฟาร์มอัตโนมัติ (Giant Sweet Grass Smart Farm) มาใช้ในการดูแลรักษาหญ้า ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก จนถึงอายุเก็บเกี่ยว เพื่อนำไปจำหน่ายหรือใช้ในการเลี้ยงสัตว์ ติดตั้ง “ระบบลากจูงสูบน้ำโซล่าร์เซลล์” ในพื้นที่ที่มีสระกักเก็บน้ำ โดยนำพลังงานไฟฟ้าระบบแสงอาทิตย์มาปั่นไฟ ควบคุมการดึงน้ำจากบ่อกักเก็บน้ำในพื้นที่ห่างไกลระบบไฟฟ้า เข้าสู่พื้นที่ปลูกหญ้า และสั่งจ่ายน้ำด้วยระบบควบคุมกึ่งอัตโนมัติ ส่งเสริมประสิทธิภาพการบริหารจัดการชุมชนด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด