ถึงเวลาเกษตรกรไทย ใช้ DeepTech – Agricultural เสียที

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ทำการเกษตรมาอย่างยาวนาน แต่ด้วยความไม่แน่นอนของดิน ฟ้า อากาศ ส่งผลให้เกษตรกรไทยเสียโอกาสที่จะได้ผลผลิตแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย รวมถึงได้รับผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่าจากแรงงานที่ลงทุน ยังส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยติดกับดักอยู่กับการทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม

การเกิดขึ้นของนวัตกรรมเชิงลึก หรือ DeepTech สำหรับอุตสาหกรรมการเกษตร จะเข้ามาช่วยให้การทำเกษตรของไทยมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ฝ่าวิกฤตการเกษตรไทย ด้วย DeepTech startup ecosystem หัวข้อเสวนาในงาน STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2021 โดยวิทยากรทั้ง 4 ท่านจะชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยีทางการเกษตรจะช่วยให้การทำเกษตรกรรมยุคใหม่สามารถก้าวข้ามอุปสรรคทางการเกษตรไปได้ แต่ทำไมเกษตรกรไทยถึงยังไม่สนใจ Deep Tech เท่าที่ควร

ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร มีภารกิจสนับสนุนการวิจัยภาคการเกษตร ซึ่งโครงการที่สนใจ คือ โครงการที่สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือเรื่องที่ตอบโจทย์เร่งด่วนของประเทศ อย่าง การให้ทุนสำหรับผลิตแอปพลิเคชันเพื่อรองรับการจัดการทุเรียนทั้งระบบ หรือการผลิตเครื่องวัดความสุกแก่ของทุเรียน สิ่งเหล่านี้เป็นการใช้ดีพเทคเข้ามาช่วยทำให้เกิดความแม่นยำ สำหรับสิ่งที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของภาคเกษตรไทย คือ อยากให้สตาร์ทอัพเกษตรไทยแปรรูปสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น และปรับเปลี่ยนระบบผลิตสินค้าเกษตรของไทย

อีกหนึ่งมุมมองที่น่าสนใจของ คุณธนารักษ์ พงษ์เภตรา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานนวัตกรรม (องค์การมหาชน) กรรมการผู้จัดการบริษัท ทักษิณปาล์ม (2521) จำกัด ชี้ให้เห็นว่า การทำเกษตรในไทยมีความท้าทายอย่างมาก เพราะเกษตรกรไทยเคยชินกับการที่รัฐให้การสนับสนุนอย่างไม่สิ้นสุด จึงมักเกิดคำถามที่ว่านวัตกรรมหรือสิ่งที่นำเข้ามาช่วยเขาใครจะเป็นคนจ่าย หากให้เกษตรกรเป็นคนจ่าย…เขาไม่จ่าย อย่างการสร้างแอปพลิชันให้ใช้เขาจะมองว่าใช้ได้จริงหรือเปล่า ดังนั้น สตาร์ทอัพเมืองไทยจึงต้องทำร่วมกับองค์กรกรก่อน เพื่อให้องค์กรไปดูแลลูกไร่ของเขาเอง

สำหรับแนวทางในการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรไทยเพื่อเพิ่มผลผลิตนั้น ที่ผ่านมาปัญหาของเกษตรไทยเมื่อต้องการเพิ่มผลผลิตจะใช้การขยายพื้นที่ แทนที่จะใช้พื้นที่เดิมแต่เพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น เพื่อสร้างให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ทำให้เกษตรกรไทยไม่พัฒนา แนวแก้ไขปัญหา คือ รัฐบาลไม่ต้องลงมือทำเอง แต่ให้สตาร์ทอัพหรือภาคเอกชนเข้ามาทำแทน ซึ่งค่าใช้จ่ายถูกกว่าและเห็นผลกว่า

ในด้านของนักลงทุนนั้น คุณแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด ให้เหตุผลที่สนใจกับการลงทุนด้านการเกษตร เพราะเชื่อว่า DeepTech ด้านการเกษตร วันหนึ่งจะเป็นยูนิคอร์นได้ อย่างกองทุนที่เคยลงทุนเป็นสตาร์ทอัพที่นำ AI มาพยากรณ์อากาศ ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าพื้นที่นี้วันไหนจะมีฝนหรือไม่มีซึ่งมีความแม่นยำมาก และสามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ 6 เดือน ทำให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตได้สูงกว่า 50% ต่างจากที่กรมอุตนิยมวิทยารายงานเป็นการรายงานสภาพอากาศโดยรวม

นอกจากนี้ อยากสนับสนุนภาคการเกษตรของไทยอย่างจริงจัง เพราะประเทศไทยเติบโตได้ด้วยเกษตรกรรม โดยได้เปิดกองทุนใหม่เพื่อหาพันธมิตรมาร่วมลงทุนกับ Thai Tech Strartup ตั้งแต่ระดับ Series A เป็นต้นไป และเปิดกองทุนด้านการเกษตรอีก 3-4 กอง สิ่งที่อยากให้เกษตรกรไทยได้รับจากการเกิด DeepTech ด้านการเกษตร คือ การที่เกษตรกรได้มีโอกาสใช้เทคโนโลยีให้ได้มากที่สุด ซึ่งอาจต้องให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ช่วย เช่น ชาวสวนที่ใช้แอปพลิเคชันจะได้รับดอกเบี้ยพิเศษเหมือนเป็นการบังคับ แต่สิ่งที่ได้ คือ ชาวสวนได้ผลผลิตดี ก็จะมีเงินมาชำระธกส. ธนาคารก็สามารถนำเงินเหล่านี้ไปปล่อยเพิ่มได้

ตบท้ายด้วยมุมมองจาก ดร.ประกายดอย ดิษยบุตร ผู้ร่วมก่อตั้ง Hyperm Corporation Co.,Ltd. ผู้ผลิตน้ำเชื้อวัวนมแช่แช็ง กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยคัดน้ำเชื้อวัวนมทำให้น้ำเชื้อของ Hyperm สามารถติดลูกได้ถึง 70% ในขณะที่การทำแบบเดิมใช้น้ำเชื้อ 3-10 หลอดแต่ติดได้เพียง 30% เท่านั้น สำหรับปัญหาของเกษตรกรไทยมองไปในทิศทางเดียวกับ คุณธนารักษ์ พงษ์เภตรา ว่า เกษตรกรมองว่าสิ่งที่จะให้เขาใช้ใครเป็นคนจ่าย ถ้าให้เขาจ่ายเขาไม่เอา นอกจากนี้ การเข้ามาของ DeepTech เพื่อการเกษตรจะต้องไม่ไปเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เขาทำอยู่เดิม แต่ต้องทำให้เขาได้ผลที่ดีขึ้น ลดเวลาการทำงานให้กับเขา ส่วนปัญหาของสตาร์ทอัพด้านการเกษตร คือ บางครั้งปิดโครงการไปแล้วแต่เกษตรกรยังอยากจะให้เพิ่มเติม หรือมีปัญหาที่ต่อเนื่อง พอไปขออนุมัติโครงการใหม่ ผู้รับผิดชอบมองว่าเป็นโครงการเดิม ดังนั้น อยากให้การทำงานวิจัยตรงนี้เป็นการทำแบบต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาตามลำดับต่อไป

เมื่อถึงเวลาที่เกษตรกรไทยต้องใช้ DeepTech เพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรดีขึ้น การเปิดใจยอมรับเทคโนโลยี จะช่วยให้เกษตรกรปรับตัวเป็นเกษตรกรสมัยใหม่ และสร้างรายได้เพิ่มจากในอดีต ที่สำคัญไม่ต้องง้อฝนฟ้าอากาศอีกต่อไป ติดตามชมเสวนาออนไลน์จากหลากหลายผู้เชี่ยวชาญ ในงาน STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2021” ภายใต้แนวคิด “DEEP TECH RISING …The Next Frontier of Innovation” การยกระดับเทคโนโลยีเชิงลึก…นวัตกรรมด่านหน้าแห่งอนาคตที่จะมาขับเคลื่อนประเทศ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 กันยายนนี้ ผ่านเว็บไซต์ https://site.nia.or.th