กสว. เห็นชอบผลักดันมาตรการภาษีหนุนพัฒนานวัตกรรมภาคเอกชน พร้อมเสนอสภานโยบายฯ ต่อไป

คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เห็นชอบผลักดันมาตรการด้านภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมภาคเอกชน ในมาตรการการขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์มาตรการลดหย่อนภาษี 300% เพื่อการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม (ระยะที่ 2) ของภาคเอกชน ออกไปต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี โดย โดยจะนำวาระดังกล่าวเสนอต่อสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติเพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์ สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ครั้งที่ 1/2565 ผ่านการประชุมรูปแบบไฮบริด ทั้งจากห้องประชุม สกสว. และการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญของการหารือวันนี้คือ มาตรการด้านภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมภาคเอกชน

โอกาสนี้ รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า แนวโน้มการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ให้ภาคเอกชนโดยตรงเพื่อใช้ในการวิจัยพัฒนา และสร้างนวัตกรรมมีความชัดเจนมากขึ้นในประเทศไทย โดยเริ่มตั้งแต่มีการออกระเบียบสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมแก่ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม พ.ศ. 2563 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของภาคเอกชนมากขึ้น การพัฒนาหรือปรับปรุงมาตรการด้านภาษีที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นที่จะต้องดำเนินการพร้อมกันเพื่อนำไปสู่การได้เปรียบเชิงการแข่งขันที่ยั่งยืน โดยออกแบบมาตรการที่เหมะสม

Advertisment

โดยมาตรการด้านภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมภาคเอกชนที่มีอยู่ก่อนแล้วและสามารถส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชนได้เป็นอย่างดีคือ มาตรการลดหย่อนภาษี 300 % ดำเนินการโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นมาตรการที่ยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นจำนวน 3 เท่าของรายจ่ายในการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ได้จ่ายไปจริง ซึ่งโครงการและการคำนวณรายจ่ายจะต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองความเป็นโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือจะต้องได้รับการตรวจประเมินและรับรองระบบบริหารการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และได้รับการขึ้นทะเบียนใช้สิทธิยกเว้นภาษีโดย สวทช. อย่างไรก็ตามปัจจุบัน มาตรการลดหย่อนภาษี 3009 ดังกล่าวได้สิ้นสุดเมื่อปี พ.ศ. 2562 ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายเลขานุการ กสว. จึงได้ศึกษาผลสำเร็จโดยผู้เชี่ยวชาญที่จัดจ้าง และดำเนินงานร่วมกับ สวทช. ในการวิเคราะห์ถึงความคุ้มค่าของมาตรการดังกล่าว พบว่าในช่วงที่ใช้มาตรการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2545-2564 มีผลการดำเนินการอยู่ในระดับที่ดี สามารถกระตุ้นให้ภาคเอกชนมีความสนใจการลงทุนวิจัยมากขึ้น

ทั้งนี้เพื่อให้มาตรการภาษี 300% ยังคงเป็นกลไกที่สำคัญในการส่งเสริมการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการ ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางการค้าของภาคเอกชนและของประเทศ กสว. จึงมติเห็นชอบการเสนอขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์มาตรการลดหย่อนภาษี 300% เพื่อการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม (ระยะที่ 2) ออกไป ต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี โดยในกระบวนการต่อไปจะเสนอต่อสภานโยบายฯ เพื่อให้ความเห็นชอบ และดำเนินการในส่วนต่าง ๆ ต่อไป