สกสว. เปิดฟลอร์ ถกประเด็น จับตาอุตสาหกรรมเครื่องมือและผลิตภัณฑ์การแพทย์ของไทยที่กำลังเติบโต

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดเวทีเสวนาเผยแพร่ความรู้ ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็น การจัดลำดับความสำคัญของงานวิจัยและพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมเครื่องมือและผลิตภัณฑ์การแพทย์สำหรับวินิจฉัยภายนอกร่างกาย (IVD) พร้อมเผยแนวทางการวิเคราะห์ตลาดและแนวทางการพัฒนาและลงทุนในการวิจัยด้านนี้

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดงานประชุมวิชาการในหัวข้อ “Setting priority for R&D in diagnostic technology: lessons from the global in-vitro diagnostic (IVD) industry” เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูลด้านการจัดลำดับความสำคัญของงานวิจัยและพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมเครื่องมือและผลิตภัณฑ์การแพทย์สำหรับวินิจฉัยภายนอกร่างกาย (In-Vitro Diagnostic หรือ IVD) โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานสำคัญในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ระบบ ววน.) เข้าร่วมรับฟังข้อมูลและองค์ความรู้สำคัญ อาทิ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) และหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) ต่างๆ รับฟังข้อมูลและองค์ความรู้สำคัญไปเพื่อเชื่อมต่อการพัฒนางานทั้งในมิติของแผนวิจัย การสนับสนุนทุนวิจัย และการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมเครื่องมือและผลิตภัณฑ์การแพทย์สำหรับวินิจฉัยภายนอกร่างกาย (IVD) ที่สำคัญในประเทศไทย

โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า ความท้าทายที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ทั้งในปัจจุบันและอนาคตเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ณ วันนี้ การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ยังคงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุดปัญหาหนึ่งของประเทศไทย รวมถึงการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) ของประชาชนในเร็ววัน ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อการดูแลสุขภาพในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาบริการสาธารณสุขของประเทศไทยในปัจจุบันและอนาคตเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดในการรักษาชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้นการมีอุปกรณ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ดี จึงเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับหลายๆ ประเทศที่ได้ตระหนักในเรื่องนี้และสามารถเชื่อมร้อยเครือข่ายการทำงานร่วมกันได้

โดยในแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (แผนด้าน ววน.) ปี พ.ศ. 2566 – 2570 ได้ออกแบบแผนวิจัยที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย พัฒนา และผลิตเครื่องมือและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และที่ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการดูแลสุขภาพระดับสากลให้ได้ภายในปี 2579 โดยจัดทำแผนงานสำคัญตามจุดมุ่งเน้นของนโยบาย (Flagship) แผนงานวิจัยที่ตั้งเป้าให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาและผลิตเครื่องมือแพทย์ได้ด้วยตัวเองเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ในส่วนของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ถือเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย โดยในปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยมีการส่งออกเครื่องมือแพทย์ของไทยมีมูลค่ารวม ประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี  จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองในมิติของเศรษฐกิจและการลงทุนในงานวิจัยและพัฒนาด้านนี้

ด้าน Dr. Mathias Egermark วิทยากรจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore : NUS ) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ที่มีประสบการณ์การทำงานด้านเครื่องมือแพทย์สำหรับการวินิจฉัยโรค (In-viintro diagnostic) ในบริษัทเอกชนระดับโลก อาทิเช่น Roche Diagnostics ฯลฯ ได้กล่าวให้ข้อมูลว่า ตนได้ทำการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล ทั้งในมุมของการวิเคราะห์ตลาด โครงสร้างตลาด ผู้ประกอบการ และส่วนแบ่งทางการตลาด พฤติกรรมตลาด รวมถึงกลยุทธ์ในการแข่งขัน การตอบความต้องการของลูกค้า ตลอดจนรวมถึงการต้องศึกษาวิเคราะห์ประสิทธิภาพต้นทุนเพื่อที่จะคาดการณ์ได้ว่าเราควรจะลงทุนในการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์แต่ละประเภทอย่างไร โดยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความสมดุลในการวางแผนงาน กล่าวคือ แต่ละโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์มีต้นทุนในการลงทุนที่ก็ต่างกัน อย่างไรก็ดีในช่วงการเสวนาวันนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนจากหลายภาคส่วน ในประเด็นสำคัญ อาทิ ช่องว่างระหว่างการทำงานด้านเครื่องมือแพทย์นี้ในประเทศไทย คือ การที่ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมด้านการแพทย์บางอย่าง ไม่ได้รับผลักดันและจัดจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากงบประมาณที่มีอย่างจำกัด ทำให้สนับสนุนการผลิตได้เพียงการพัฒนาต้นแบบ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีหน่วยงาน หรือผู้เล่นหลัก (Key Player) ทำหน้าที่ในการจัดลำดับความสำคัญ เชื่อมร้อยการดำเนินงาน และผลักดันให้สินค้านวัตกรรมเครื่องแพทย์ของไทย พัฒนาไปสู่การสร้างมาตรฐานและคุณภาพ ในการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ที่สอดคล้องกับแนวโน้มทางการตลาดที่กำลังเติบโต