เรื่องควรรู้ เมื่อผู้ป่วยมะเร็งต้องเข้าโรงพยาบาลในสถานการณ์โควิด

สุขภาพดีกับรามาฯ อ.นพ.ประวัฒน์ จันทฤทธิ์

สืบเนื่องจากบทความฉบับที่แล้วที่ให้ข้อมูลว่า หากผู้ป่วยมะเร็งต้องมารับการรักษาในโรงพยาบาล จะสามารถทำได้หรือไม่ ฉบับนี้มาติดตามกันต่อว่า หากต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 สามารถทำได้หรือไม่ ต้องป้องกันและระวังตัวอย่างไร

ถาม : ถ้าผู้ป่วยมะเร็งจำเป็นต้องมาโรงพยาบาล ควรป้องกันและระวังตัวอย่างไร

ตอบ : ล้างมือด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที หรือล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ 70% ทุกครั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังใช้บริการห้องน้ำ หลังสัมผัสผู้อื่นหรือสิ่งของรอบตัว ควรระมัดระวังไม่ใช้มือที่ไม่สะอาดสัมผัสดวงตา จมูก และปากของตนเอง พยายามอยู่ห่างจากบุคคลอื่นอย่างน้อย 2 เมตร สวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี โดยหน้ากากต้องครอบคลุมจมูกและปากตลอดเวลา รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หรือเตรียมอาหารมารับประทานเอง หลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยการขนส่งสาธารณะที่มีคนหนาแน่น

เมื่อเดินทางกลับถึงบ้าน ควรอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย เปลี่ยนเสื้อผ้า จากนั้นสังเกตตนเองว่ามีอาการของระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ ไข้ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยตามตัว ไม่สามารถรับรสอาหารหรือรับกลิ่นได้ปกติ หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ต้องรีบกลับมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุโดยเร็ว

ถาม : ญาติของผู้ป่วยมะเร็งควรปฏิบัติตัวอย่างไร

ตอบ : ญาติผู้ป่วยมะเร็งควรถือข้อปฏิบัติป้องกันตนเองเช่นเดียวกับผู้ป่วยมะเร็ง หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในสถานที่ที่มีความแออัด คนพลุกพล่าน อากาศไม่ถ่ายเท ถ้าหากเดินทางไปสถานที่เสี่ยงควรแยกตัวออกห่างผู้ป่วยมะเร็งอย่างน้อย 14 วัน

ถาม : ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษาหรือเสร็จสิ้นการรักษาแล้ว ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่

ตอบ : การศึกษาทางคลินิกเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีน ที่ผ่านมานั้นดำเนินการในผู้ที่มีสุขภาพดี ทำให้มีข้อจำกัดถึงการอนุมานผลดังกล่าวกับผู้ป่วยมะเร็ง สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรับยาเคมีบำบัด การฉายแสง การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด อาจจะมีการตอบสนองต่อการกระตุ้น การสร้างภูมิคุ้มกันจากวัคซีนน้อยกว่าคนปกติ เนื่องจากภูมิคุ้มกันตนเองมีความอ่อนแอไม่สามารถทำงานได้ แพทย์อาจจะพิจารณาให้วัคซีนเมื่อผ่านพ้นการรักษาดังกล่าวไปแล้ว

สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัดครบเสร็จสิ้นแล้ว สามารถได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ ถ้าไม่เคยมีประวัติการแพ้อย่างรุนแรงต่อส่วนประกอบของวัคซีนจำพวกตัวทำละลายหรือสารเพิ่มความคงตัวของวัคซีน (โพลิเอทิลีน ไกลคอล และโพลิซอร์เบต) หรือส่วนประกอบอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการเกิดโรคยังคงต้องติดตามกันต่อไป ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อเฉกเช่นเดียวกับก่อนได้รับวัคซีน

ถาม : ญาติผู้ป่วยมะเร็ง สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่

ตอบ : โดยทั่วไปวัคซีนบางชนิดที่ทำจากเชื้อโรคที่ยังมีชีวิตอยู่จะห้ามฉีดให้แก่ผู้ดูแลหรือญาติผู้ป่วยมะเร็ง เพราะเชื้อดังกล่าวสามารถส่งต่อสู้ผู้ป่วยมะเร็งได้ แต่วัคซีนป้องกันโควิด-19 นี้ผลิตจากสารพันธุกรรมของไวรัสหรือเชื้อไวรัสที่ตายแล้ว จึงสามารถฉีดแก่ผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งได้อย่างปลอดภัย

สำหรับญาติผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับวัคซีนแล้วยังจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยและปฏิบัติตามข้อปฏิบัติเพื่อป้องกันการรับเชื้อไวรัสต่อไป ถึงแม้ว่าเชื้อไวรัสจะไม่สามารถทำอันตรายญาติผู้ป่วยที่รับวัคซีนและมีภูมิคุ้มกันแล้ว แต่เชื้อไวรัสสามารถอยู่ในระบบทางเดินหายใจของญาติผู้ป่วยโดยไม่ก่อโรค ซึ่งมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อดังกล่าวสู่ผู้ป่วยมะเร็งได้

หมายเหตุ : อ.นพ.ประวัฒน์ จันทฤทธิ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล