วัคซีนป้องกันโควิด-19 มีกี่ชนิด

วัคซีนโควิด-19
สุขภาพดีกับรามาฯ
พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด

 

วัคซีนป้องกันโควิด-19 มีหลายชนิด ได้แก่

1.วัคซีนชนิดเชื้อเป็น แต่อ่อนฤทธิ์ (live-attenuated vaccine) เป็นการใช้เชื้อที่ปรับแต่งพันธุกรรมให้มีฤทธิ์อ่อนลง ที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันได้ แต่ไม่สามารถทำให้เกิดโควิด-19 ได้ เป็นวัคซีนที่มีการพัฒนาทั้งการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และให้วัคซีนผ่านทางจมูก เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อเนื้อเยื่อบุต่าง ๆ

2.วัคซีนชนิดเชื้อตาย (inactivated or killed vaccine) เป็นการผลิตโดยการเพาะเซลล์ไวรัสแล้วนำสารเคมีมาทำให้เชื้อตาย ภูมิคุ้มกันจะทำลายทั้งโปรตีนหนาม (spike protein) และส่วนอื่น ๆ ของไวรัส ส่วนมากมักฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ขณะนี้มีการพัฒนาในจีน อินเดีย และคาซัคสถาน เช่น วัคซีนซิโนแวก ซิโนฟาร์ม เป็นต้น ซึ่งเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย

3.วัคซีนแบบใช้พาหะของไวรัสอื่น (viral vector vaccine) เป็นการใช้ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคอื่น ๆ มาเป็นพาหะ (vector) โดยการนำสารพันธุกรรมที่ตัดต่อเอาเฉพาะส่วนที่จะถอดรหัสเป็นหนาม (spike) ของไวรัสซาร์โควี-สอง เข้าไปในเซลล์ของมนุษย์ เมื่อร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ทำให้ร่างกายสามารถใช้ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายจดจำเอาไว้จากวัคซีนมาทำลายไวรัสที่เข้ามาสู่ร่างกายได้ ได้แก่ วัคซีนจากสหราชอาณาจักร ชื่อ Oxford -AstraZeneca จากบริษัท Johnson and Johnson’s Janssen (JNJ-78436735) และจากรัสเซีย ชื่อ Gamaleya

4.วัคซีนที่ฉีดสารพันธุกรรม ได้แก่

4.1 ดีเอ็นเอวัคซีน (DNA vaccine) คือ วัคซีนที่มีสารพันธุกรรมหลักนิวเคลียสของเซลล์ (nucleus) สามารถผลิตได้ง่ายและได้ปริมาณมากโดยใช้แบคทีเรียบางชนิด เช่น อีคอไล (E.coli) แต่อาจมีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในผู้ที่ได้รับวัคซีนที่ไม่ค่อยสูงได้

4.2 เอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีน (mRNA vaccine)
ซึ่งย่อมาจากคำว่า messenger RNA เป็นอาร์เอ็นเอที่ได้จากการถอดรหัสของยีน (gene) สำหรับสังเคราะห์เป็นโปรตีนต่าง ๆ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางสำคัญในการเปลี่ยนถ่ายข้อมูลพันธุกรรม โดยตัวมันเองอยู่นอกนิวเคลียสของเซลล์ (nucleus) ทำให้วัคซีนไม่ได้มีผลกับดีเอ็นเอ ทำให้ผลิตได้ง่ายในห้องปฏิบัติการ ในขณะนี้มีการใช้วัคซีนชนิดนี้ในสหรัฐอเมริกา ชื่อ mRNA 1273 (Moderna COVID-19 vaccine) และ COVID-19 mRNA vaccines BNT162b2 (Pfizer-BioNTech COVID-19 vaccine)

5.วัคซีนที่ผลิตจากการตัดต่อโปรตีน (recombinant protein vaccine) เป็นการรวมโปรตีนที่ผลิตออกมาจากสารพันธุกรรมของไวรัส ซึ่งมีหลายแบบที่ขณะนี้กำลังพัฒนา ได้แก่ กลุ่มที่เน้นที่โปรตีนหนามเป็นหลัก (recombinant spike-protein vaccine) หรือใช้อนุพันธ์โครงสร้างที่เหมือนไวรัส (virus-like particle vaccine ; VLP vaccine)

สำหรับวัคซีนที่มีในประเทศไทยในขณะนี้คือ

1.ซิโนแวก (Sinovac) มีการศึกษาในประเทศบราซิลว่าประสิทธิภาพประมาณ 50.4% ซึ่งมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมอยู่ในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยในประเทศไทย

2.ออกซฟอร์ด แอสตร้าเซเนก้า (Oxford/AstraZeneca COVID-19 vaccine) หรือเรียกว่า AZD1222 มีประสิทธิภาพ 63.9% ต่อการติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการ โดยมีการศึกษาพบว่าการให้ระยะเวลาระหว่างเข็มแรกและเข็มที่สองห่างกัน 8-12 สัปดาห์จะยิ่งทำให้วัคซีนประสิทธิภาพดีขึ้น โดยความเสี่ยงในการหญิงตั้งครรภ์ยังไม่ทราบชัดเจน ให้พิจารณาว่าวัคซีนนั้นมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่ตั้งครรภ์อาจมีประโยชน์ในการป้องกันมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เป็นต้น

หมายเหตุ : อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล