ภาวะน้ำหนักเกิน กับความเสี่ยง COVID-19

สุขภาพดีกับรามาฯ
อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์

ทอล์กกันในทุกวงการ เรื่องความอ้วนหรือโรคอ้วน วันนี้เรามาเรียนรู้เชิงวิชาการกันค่ะ

“ภาวะน้ำหนักเกิน” คืออะไร คือภาวะที่มี “น้ำหนักตัว” เกินกว่ากำหนด เมื่อเทียบกับ “ความสูง” โดยใช้หลักคำนวณที่เรียกว่า ดัชนีมวลกาย (Body mass index ; BMI) เอาน้ำหนักปัจจุบัน (หน่วยเป็นกิโลกรัม) หารกับความสูง (หน่วยเป็นเมตร) แล้วยกกำลังสอง

ตัวอย่าง น้ำหนัก 65 กิโลกรัม ความสูง 165 เซนติเมตร (คิดเป็น 1.65 เมตร) จะคิดเป็น 65/ (1.65*1.65) = 23.9 สามารถใช้เครื่องมือคำนวณออนไลน์ได้จากหลายเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน

เช่น https://www.cdc.gov/healthyweight/assessing/bmi/adult_bmi/metric_bmi_calculator/bmi_calculator.html อย่าลืมเปลี่ยนหน่วยเป็นระบบเมทริกซ์ (matrix)

หลักสากล BMI ปกติ (normal) คือระหว่าง 18.5-24.9 หาก BMI น้อยกว่า 18.5 ถือว่าน้อยกว่าเกณฑ์ (underweight)

หาก BMI ระหว่าง 25-29.9 ถือว่าน้ำหนักเกิน (overweight) ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นภาวะน้ำหนักเกิน แต่หาก BMI ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป จึงถือว่าเป็นภาวะน้ำหนักเกิน (obesity)

แต่อย่าลืมว่าบางคนออกกำลังกายแล้ว คุมอาหารก็แล้ว ทำไมน้ำหนักไม่ลงสักที อาจเป็นเพราะน้ำหนักที่เปลี่ยนแปลงแทนที่จะลดลงกลับกลายเป็นมวลกล้ามเนื้อแทน

ฉะนั้น บางคนที่เล่นกล้ามอาจมี BMI ที่สูง แต่ความจริงแล้วไม่ได้มีภาวะน้ำหนักเกิน

นอกจากนี้ หลายงานวิจัยและการใช้ชีวิตประจำวันระบุว่า คนเอเชียซึ่งมีรูปร่างเล็กกว่าชาวตะวันตก ควรใช้เกณฑ์ภาวะน้ำหนักเกินที่ BMI ตั้งแต่ 23 เป็นต้นไป

ภาวะน้ำหนักเกินเสี่ยงกับโควิด-19 ที่ร้ายแรงได้ และอาจทำให้อัตราการนอนโรงพยาบาลสูงขึ้นถึง 3 เท่า เนื่องจากมีระดับภูมิคุ้มกันลดลง หรือทำงานได้ไม่เพียงพอ ทั้งยังลดความจุในปอด ทำให้การหายใจเข้าออกมีประสิทธิภาพที่ลดลง

การวิจัยพบว่า BMI ที่เพิ่มขึ้นทำให้อัตราการเสียชีวิต การใส่ท่อช่วยหายใจ การนอนในโรงพยาบาลจากโควิด-19 มีมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า 65 ปีในอเมริกา มีการศึกษาผู้ป่วยกว่า 900,000 รายที่นอนโรงพยาบาลด้วยอาการโควิด-19 โดยใช้โมเดลคณิตศาสตร์ พบว่าความอ้วนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญถึง 30% ของการนอนโรงพยาบาล

เราสามารถทำอย่างไรได้บ้าง

1.ปรับเปลี่ยนด้านโภชนาการ – ด้วยการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่มีแคลอรีต่ำ ไม่มีไขมันอิ่มตัว งดหวาน-มัน-เค็ม เน้นผัก-ผลไม้ อาหารที่อุดมด้วยโปรตีนปราศจากไขมันและธัญพืช ไม่ขัดสี การศึกษาพบว่าโภชนาการที่ดีจะเพิ่มภูมิคุ้มกัน และลดโรคหัวใจ เบาหวาน ไขมัน โลหิตสูง ซึ่งโรคเหล่านี้เสี่ยงต่อโควิด-19 เช่นกัน

2.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว เดินขึ้นลงบันไดแทนใช้ลิฟต์ วิ่ง ปั่นจักรยาน หรือทำงานบ้าน เพื่อใช้พลังงานออกไป น้ำหนักจะลดตาม แต่ละกิจกรรมจะลดปริมาณพลังงานมากน้อยต่างกัน และช่วยให้นอนหลับดีขึ้น ลดความเครียดด้วย

3.นอนให้เพียงพอ – การนอนน้อยเกินไป หรือนอนไม่หลับ อาจทำให้เกิดโรคเรื้อรัง และมีภาวะน้ำหนักเกิน จึงต้องจัดสถานที่นอนให้สบาย อุณหภูมิกำลังดี ลดหรือเลี่ยงสิ่งรบกวน ทั้งแสง เสียง งดเล่นโทรศัพท์มือถือก่อนนอน การวิจัยพบว่าการนอนไม่พอมีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะน้ำหนักเกิน

4.ปล่อยใจให้สบาย – มีการศึกษาพบว่าภาวะเครียด วิตกกังวล ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการกินการนอน รวมทั้งเกิดการใช้บุหรี่หรือแอลกอฮอล์มากขึ้น ยิ่งทำให้น้ำหนักเกิน ควรทำใจสบาย หาวิธีผ่อนคลายในแบบของตนเอง เช่น ทำสมาธิ พูดคุยระบายความเครียดกับคนที่ไว้ใจ ทำกิจกรรมที่ชอบ อ่านหนังสือ หรือไม่ทำอะไรเลยตอนนอนก็เป็นการผ่อนคลายที่ดี การรับข่าวสารมีความสำคัญ แต่อย่าใช้เวลามากเกินไป

สุดท้ายนี้หวังว่าทุกท่านจะปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19 หรือหากได้รับเชื้อแล้วสามารถควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ให้ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือความรุนแรงในการเป็นโรค

การควบคุมน้ำหนัก ดูแลสุขภาพ เป็นวิธีที่สามารถทำได้ง่าย หมั่นล้างมือให้ถูกวิธีด้วยน้ำสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล ทำความสะอาดร่างกายและพื้นผิวสัมผัสบ่อย งดไปสถานที่ชุมชน อยู่ห่างจากผู้อื่น 1.5-2 เมตร สวมหน้ากากอนามัยให้ถูกวิธี สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราปลอดจากการติดเชื้อโควิด-19 หรือหากได้รับเชื้อแล้วก็จะควบคุมให้ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนได้

หมายเหตุ : อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด อาจารย์สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล