หน้าฝนควรระวัง วิธีรับมือ ‘โดนตะขาบกัด’

สุขภาพดีกับรามาฯ
รศ.พญ.สาทริยา ตระกูลศรีชัย

ตะขาบเป็นสัตว์ขาปล้องประเภทหนึ่ง พบในเขตร้อนชื้น อาศัยบนบก ขนาดตัวมีความยาวได้มากถึง 38 เซนติเมตร โดยที่แต่ละปล้องมีขา 1 คู่ ทำให้มีขาจำนวนมากอาจจะถือเป็น 100 ขาได้เลย และตะขาบจะมีเขี้ยวพิษ 1 คู่ เพราะฉะนั้น เวลาที่กัดคนก็จะสามารถปล่อยพิษตรงเขี้ยวพิษนี้ได้ โดยสารที่อยู่ในพิษของตะขาบเป็นสารทั้งชนิดที่เป็นเอนไซม์และไม่ใช่เอนไซม์

อาการหลังโดนตะขาบกัด

1.ปวดเล็กน้อยจนถึงปวดมาก

2.มีอาการคันบวมที่แผล

3.แผลของผู้ป่วยบางรายอันตรายถึงขั้นเนื้อตาย

อาการแพ้พิษของตะขาบ

1.บวมที่ใบหน้า หนังตา และริมฝีปาก

2.ผื่นขึ้นทั่วร่างกาย

3.หายใจติดขัด

4.อาการหน้ามืด

5.เสียชีวิต

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

1.ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น สงสัยว่าแพ้พิษตะขาบ บวม มีตุ่มขึ้นทั่วร่างกาย หายใจติดขัด หายใจลำบาก ความดันโลหิตต่ำ หรือว่ามีหน้ามืด ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือ โทร.เบอร์ 1669

2.ถ้าโดนกัดแล้วมีอาการไม่รุนแรง ให้ทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำสบู่อ่อน ไม่แนะนำให้กรีดหรือนำสมุนไพรพอกบริเวณที่โดนกัด หากปวดมากให้กินยาแก้ปวด

3.ประคบเย็นหรือกินยาแก้ปวดเพื่อทุเลาอาการปวด หากมีอาการผิดปกติให้พบแพทย์ทันที

หมายเหตุ : รศ.พญ.สาทริยา ตระกูลศรีชัย ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉินและศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล