“ลดต้นทุน-พอประมาณ-อยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน” เศรษฐกิจพอเพียงฉบับ “เอส พี เอ็ม อาหารสัตว์”

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” แนวปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ให้ปวงชนชาวไทยได้นำไปประยุกต์ใช้ทั้งในชีวิตประจำวันและการบริหารธุรกิจ

หนึ่งในบริษัท SMEs ที่มีการนำแนวคิดนี้มาใช้อย่างเป็นรูปธรรมและเห็นผลจริงก็คือ ฟาร์มหมูอันดับต้นๆ ใน จ.ราชบุรี ที่ขยายกิจการฟาร์มหมูมาสู่กิจการอาหารสัตว์ในนาม “บริษัท เอส พี เอ็ม อาหารสัตว์ จำกัด”

“ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” คุยกับ “สมชาย นิติกาญจนา” ประธานกรรมการ บริษัท เอส พี เอ็ม อาหารสัตว์ จำกัด โดย “สมชาย” เริ่มเล่าถึงธุรกิจของตนให้ฟังว่า กิจการของตนเริ่มจากฟาร์มหมู ซึ่งมีการยึดแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินธุรกิจตั้งแต่แรกเริ่ม

“อย่างที่พระองต์ตรัสในเรื่องของความพอประมาณ เราก็ทำธุรกิจไม่ให้โอเวอร์เกินไป คือรู้จักพอประมาณ พยายามลดต้นทุน และใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

ซึ่งเมื่อต้องการลดต้นทุน “สมชาย” จึงมีแนวคิดว่า การจะลดต้นทุนได้ อย่างแรกคือต้องทำอาหารสัตว์เอง เพื่อลดต้นทุนในการเลี้ยง

แต่แน่นอนว่าการทำฟาร์มหมูย่อมส่งให้เกิดมลภาวะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กลิ่นเหม็น, แมลงวัน, มีน้ำเสีย ทำให้ชุมชนรอบข้างอาจอยู่อย่างลำบาก และไม่เกิดความยั่งยืน “สมชาย” จึงมีแนวคิดว่าจะทำฟาร์มหมูอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหากับชุมชน เขาเริ่มแก้ปัญหาที่ “ขี้หมู” ที่ส่งกลิ่นเหม็นและทำให้มีแมลงวัน ด้วยการนำขี้หมูไปย่อยสลายในบ่อหมักจนได้แก๊สออกมา จากนั้นก็นำแก๊สที่ได้ไปใช้เป็นพลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้า

ขณะที่น้ำเสียจากฟาร์มจะนำไปเข้าระบบบำบัด เมื่อบำบัดแล้วก็จะนำมาใช้เป็นปุ๋ยสำหรับปลูกพืช ซึ่งมีพื้นที่สำหรับปลูกกล้วย อ้อย ผักสวนครัว และปาล์มน้ำมัน รวมถึงนำน้ำไปเลี้ยงไรแดง แล้วนำไรแดงไปขายให้คนเลี้ยงลูกปลา ส่วนน้ำสุดท้ายจากการบำบัดก็นำกลับมาล้างคอกใหม่ ทำให้ไม่สิ้นเปลืองน้ำ

“อย่างที่บอกว่าเรานำแก๊สที่ได้มาใช้ผลิตไฟฟ้าใช้ในฟาร์ม ซึ่งการผลิตไฟฟ้า ทำให้เครื่องปั่นไฟจะมีน้ำหล่อเย็น เรายังเอาไอเสียจากเครื่องยนต์ไปใช้ในระบบความร้อน สำหรับทำน้ำร้อนที่ใช้ในการปรับอุณหภูมิของน้ำหล่อเย็น จากนั้นปล่อยให้น้ำผสมที่ได้ไหลไปในระบบเข้าสู่เล้าลูกหมู เนื่องจากลูกหมูที่เกิดใหม่ๆ ต้องการความอบอุ่น ซึ่งปกติจะใช้ไฟฟ้าอบ เราก็ไม่ใช้ไฟฟ้า แต่ใช้น้ำจากตรงส่วนนี้แทน ซึ่งนอกจากจะทำให้เราประหยัดไฟฟ้าแล้ว ความปลอดภัยยังดีมากอีกด้วย เพราะการใช้ไฟฟ้าอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้เล้าหมูได้ นอกจากนี้ หากน้ำร้อนที่ได้ยังไม่พอ เราก็นำพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาแปลงเป็นไฟฟ้าช่วยต้มน้ำ ทำให้น้ำอุ่นแทน”

ในด้านการทำอาหารสัตว์ “สมชาย” ยังเล่าว่า บริษัทได้ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อไมโครอินโนเวท พัฒนาอาหารสัตว์ที่มีแบคทีเรียช่วยย่อยอาหารก่อนให้หมูกิน และปรากฏว่าเป็นอาหารหมูที่ขายดี ลูกค้ามีความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ และยังทำให้สามารถลดต้นทุนในด้านการกู้ยืมเงิน ที่ธนาคารมีความเชื่อมั่นสูง และให้ดอกเบี้ยต่ำแก่บริษัท

ผลจากการดำเนินงานดังกล่าวทำให้นอกจาก “เอส พี เอ็ม” จะขายหมูและอาหารสัตว์แล้ว แต่ยังสามารถขายขี้หมูตากแห้งซึ่งสามารถนำไปทำปุ๋ยได้, ขายผักสวนครัว, ขายพืชต่างๆ เช่น กล้วย อ้อย รวมไปถึงไรแดง, ขายปาล์มน้ำมัน, ขายไฟฟ้าที่เหลือจากการใช้ภายในฟาร์ม และที่มากกว่าคือการขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งถือว่าเป็นรายแรกของไทยที่ขายคาร์บอนเครดิตให้กับต่างประเทศ รวมไปถึงธนาคารโลกเองก็ยังมาซื้อคาร์บอนเครดิตของที่นี่ด้วย

บนกิจการฟาร์มหมูที่ขยายไปหลายสาขา รวมแล้วเป็นพื้นที่นับ 3-4 พันไร่ “สมชาย” บอกว่า พื้นที่สำหรับเป็นโรงเรือนของเขามีเพียง 30% เท่านั้น ส่วนอีก 70% เป็นพื้นที่แห่งการบำบัดของเสีย

“ทุกอย่างเราเริ่มทำตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัท ส่วนตัวผมจบวิศวกรรมศาสตร์ จึงได้นำวิชาทางวิศวะมาพัฒนาธุรกิจเกษตร และสามารถลดต้นทุนได้ จนทุกวันนี้เรียกได้ว่าไม่ว่าราคาหมูจะขึ้นหรือจะลงก็ไม่ส่งผลกระทบ เพราะธุรกิจของเราขยายตัวตลอด มีที่หลายพันไร่ มีหมูหลายแสนตัว ทำให้เราเติบโตอย่างมั่นคงได้ รวมถึงชุมชนที่อยู่กับเราก็มีความสุข เพราะเราไม่สร้างปัญหาให้เขา เขาเองก็มีงานทำ เนื่องนโยบายของเราจะรับคนงานจากคนในพื้นที่ก่อน เพราะอย่างน้อยก็เป็นการช่วยให้เขาได้ทำงานใกล้บ้าน ช่วยให้เขาได้อยู่สบาย” สมชายกล่าวทิ้งท้าย