ในหลวง พระราชินี เสด็จฯโครงการหลวงทรงเปิดศูนย์วิจัยชนกาธิเบศรดำริ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง “ชนกาธิเบศรดำริ” จ. เชียงใหม่ ทรงติดตามการขยายพันธุ์ต้นเอเดลไวส์ 

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 18.42 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง “ชนกาธิเบศรดำริ” ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร  ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ คณะข้าราชการ และประชาชน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ 

 

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเข้าอาคารศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ ชั้น 1 ทอดพระเนตรกิจกรรมการดำเนินงานของอาคารต่าง ๆ ผ่านระบบถ่ายทอดสัญญาณภาพ และทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวงที่เริ่มจากจุดเล็กๆ สู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ โดยมีผลสำเร็จจากงานวิจัย ระหว่างปีพุทธศักราช 2560-2565 มีองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนทางเทคโนโลยีพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ 50 ชนิด 126 พันธุ์ ขยายผลสู่เกษตรกรในพื้นที่ 23 ศูนย์ สร้างรายได้กว่า 168 ล้านบาท 

และมีพันธุ์พืชที่ขึ้นทะเบียน 18 ชนิด 40 พันธุ์ ดังนี้ ผัก ไม้ผล ไม้ดอก พืชไร่ และพืชเครื่องดื่ม มีการจดทะเบียนสิทธิบัตร 6 รายการ ผลิตภัณฑ์ใหม่ 15 ชนิด โดยมีผลสำเร็จของงานวิจัยที่เป็นผลงานเด่น อาทิ กุหลาบ ดอกใหญ่ มีสีสันสะดุดตาปักแจกันได้นาน สตรอว์เบอร์รี่ซึ่งมี 10 พันธุ์พระราชทานและสายพันธุ์ล่าสุดพระราชทาน 89 ลักษณะเด่นคือมีสารอนุมูลอิสระ “แอโทไซยานิน” สูงกว่าพันธุ์ทั่วไป 1-2 เท่า จึงมีผลใหญ่ผิวสีแดงเข้ม

คีนัวเป็นพืชใหม่ของประเทศไทยที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง การดำเนินงานวิจัยและพัฒนาชีวพันธุ์เพื่อใช้ทดแทนสารเคมีทางการเกษตรสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ผลิตผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมปัจจุบันมีชีวพันธุ์ที่ส่งเสริมเกษตรกรรวม 13 ชนิด และเครื่องต้นแบบตรวจวิเคราะห์สารเคมีตกค้างในผลผลิต ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่จากงานวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจหาสารเคมีตกค้างได้อย่างแม่นยำและสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้ปฏิบัติงานมีแผนขยายผลไปใช้ในศูนย์พัฒนาโครงการหลวงต่อไป

นอกจากนี้ ทอดพระเนตรพืชพระราชทาน จากสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ที่พระราชทานต้นเอเดลไวส์ ให้แก่โครงการหลวง นำมาขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ขณะนี้สามารถเจริญเติบโตได้ในประเทศไทย ที่สถานีดอยอินนท์ อ่างข่าง จนเจริญเติบโตและออกดอกได้มากกว่า 4,450 ต้น และอยู่ระหว่างการวิจัย นำดอกมาสกัดเป็นผลิตภัณฑ์ครีมบำรุงผิว 

และเจนเทียน พันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับพระราชทานมาพร้อมเอเดลไวส์ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาและขยายพันธุ์เนื้อเยื่อ รวมทั้งพัฒนาเทคนิคการย้ายปลูกที่เหมาะสม และพืชพระราชทาน จาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ได้พระราชทานพืช 18 ชนิด 44 พันธุ์ แบ่งเป็นกลุ่มไม้ผล 4 ชนิด กลุ่มพืชสมุนไพร 4 ชนิด กลุ่มไม้ดอกเขตหนาว 1 ชนิด และกลุ่มพืชผัก 9 ชนิด ได้ทดสอบการปลูกใน สถานีของโครงการหลวง 5 แห่ง ซึ่งบางพืชสามารถนำไปขยายผลได้เลยทันที

ทั้งนี้ ผลสำเร็จจากงานวิจัยนวัตกรรมและเทคโนทางเทคโนโลยีพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ ไม่ได้นำมาซึ่งคุณค่าทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่ยังนำมามาสู่การการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและสังคม 

โดยได้น้อมนำพระราชดำริใน สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ พระบรมรมราชชนนีพันปีหลวง มาสู่การพัฒนาหัตถกรรมโครงการหลวง ได้วิจัยความก้าวหน้าและพัฒนากัญชงให้มีต้นทุนต่ำด้วย การลดขั้นตอนการทำเส้นใย จึงทำให้ราคาจับต้องได้ เมื่อได้เส้นใยก็นำมาทอเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆโดยผสมกับเส้นใยธรรมชาติ อื่นๆ ย้อมด้วยสีธรรมชาติ โดยใช้กี่ 4 แบบตามแต่ละชุมชน

ด้านภาคสังคมมีโครงการวัคซีนวัยรุ่นเพราะบางพื้นที่อยู่ติดกับแนวชายแดนมีความเสี่ยงกับเยาวชนในเรื่องยาเสพติด ดังนั้นจึงเน้นสร้างความเข้าใจให้กับเยาวชนในพื้นที่ให้ห่างไกลจากยาเสพติดด้วยการสร้างผู้นำเยาวชนต้นแบบจำนวน150 คนเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนรุ่นน้องให้ห่างไกลจากยาเสพติด ให้การสนับสนุนอาชีพเพื่อไม่หันกลับไปทำความผิดซ้ำ 

ด้านสิ่งแวดล้อม โครงการสวมหมวกให้ดอย เป็นกลยุทธ์สร้างแรงจูงใจให้แก่เกษตรกรมีความหวงแหนป่าถ้าทำลายป่าก็ทำลายชีวิต ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ปลูกป่า3 อย่างประโยชน์4 อย่าง มาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อสร้างให้ชาวบ้านเกิดความรักและหวงแหนป่าไม้ จัดทำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์ 

นอกจากนี้ยังใช้ดาร์ต้าเซ็นเตอร์อันเป็นจับพิกัดแปรงของเกษตร เพื่อติดตามการรอดตายของต้นไม้ ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ผ่านภาพถ่ายดาวเทียม รวมถึงเตรียมความพร้อมสู่การประเมินคาร์บอนเครดิต เพื่อคำนวณการลดการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ 

ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยัง ห้องอเนกประสงค์ ทรงรับฟังการถวายรายงานเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์อาคารศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ  ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง “ชนกาธิเบศรดำริ” อันเป็นศูนย์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น และพระราชทานนามศูนย์วิจัย ฯ ว่า “ชนกาธิเบศรดำริ” มีความหมายว่า เป็นศูนย์รวมการวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง สืบสาน รักษา และต่อยอด ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ที่สร้างประโยชน์ทั้งแก่ประชาชนบนพื้นที่สูง ประชาชนในพื้นที่โดยรอบ และประชาชนโดยรวมของประเทศ ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่ 21.9ไร่ ประกอบด้วย อาคารทำการ 7หลัง ได้แก่ 1.อาคารอำนวยการ  2.อาคารปฏิบัติการ1 3.อาคารปฏิบัติการ 2,4.อาคารอารักขาพืช,5อาคารเมล็ดพันธุ์และแปรรูปสมุนไพร ,6อาคารเทคโนโลยีชีวภาพทางด้านพืช และ7 อาคารดาต้า เซ็นเตอร์ (DATA CENTER)  

ศูนย์วิจัย ฯ แห่งนี้ เริ่มก่อสร้างเมื่อต้นปี 2563 แล้วเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 การดำเนินงานภายใต้ศูนย์วิจัย ฯ ชนกาธิเบศรดำริ มีความครบถ้วนทั้งด้านการศึกษา  ค้นคว้า  การวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช อย่างครบวงจร การวิจัยและแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า การบริหารจัดการหลังการเก็บเกี่ยว รวมทั้งยังมุ่งสู่การเป็นสถานที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ จากประสบการณ์ที่สั่งสมมามากกว่า 53 ปี พร้อมทั้งเผยแพร่พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร  ในการพัฒนาพื้นที่สูง เพื่อประโยชน์ต่อทั้งชาวเขา ชาวเรา และชาวโลก ให้เป็นที่ประจักษ์สืบไป

นอกจากนี้ เสด็จพระราชดำเนินไปยังห้องอเนกประสงค์ ทรงรับฟังการถวายรายงานเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์อาคารต่าง ๆ ภายในพื้นที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ โอกาสนี้ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ เจ้าหน้าที่โครงการหลวงเลอตอ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ชาวบ้านและเกษตรกรชาวไทยภูเขาเผ่าปกาเกอญอซึ่งได้รับประโยชน์ จากโครงการ ฯ ร่วมเฝ้าทูลละอองธุลี พระ บาท สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผ่านสื่ออเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ ทรงโบกพระหัตถ์แย้มพระสรวลทักทายชาวบ้านและเกษตรกรชาวไทยภูเขาเผ่าปกาเกอญอซึ่งได้รับประโยชน์ จากโครงการ สร้างความปลื้มปิติอย่างหาที่สุดมิได้